การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ (Preconception screening)

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ หมายถึง การตรวจสุขภาพทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก่อนที่จะเริ่มสร้างครอบครัว โดยเน้นตรวจโรคพันธุกรรมและโรคติดต่อที่ทั้งคู่อาจมีแฝงอยู่ และอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ นอกจากนั้นยังอาจรวมถึงการตรวจสุขภาพทั่วไปตามวัยของแต่ละคน การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จะประกอบด้วย

ฝ่ายชาย

  1. ซักประวัติ สิ่งที่หมออาจซักถาม หรือถ้ามีก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ได้แก่
  2. ตรวจร่างกายทั่วไป เป็นการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต วัดชีพจร ตรวจหายใจและเสียงเต้นของหัวใจ ตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายโดยรวม บางแห่งอาจให้ตรวจฟันกับทันตแพทย์ด้วย
  3. ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
  4. การตรวจพิเศษอื่น ๆ จะทำเมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจข้างต้น คนที่เคยแต่งงานแล้วมีบุตรยากอาจต้องตรวจความสมบูรณ์ของน้ำเชื้ออสุจิด้วย
  5. การตรวจน้ำเชื้ออสุจิให้งดการหลั่งอสุจิ 2-7 วันก่อนเข้ารับการตรวจ

ฝ่ายหญิง

  1. ซักประวัติ สิ่งที่หมออาจซักถามจะคล้ายกัน หรือถ้ามีก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเลย ได้แก่
  2. ตรวจร่างกายทั่วไป เป็นการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต วัดชีพจร ตรวจอาการแสดงของไทรอยด์เป็นพิษ ตรวจการหายใจและเสียงเต้นของหัวใจ ตรวจเต้านม ตรวจหน้าท้อง ตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายโดยรวม บางแห่งอาจให้ตรวจฟันกับทันตแพทย์ด้วย เพราะสภาพฟันที่ไม่ดีอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และกลายเป็นปัญหาแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์
  3. ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
  4. ตรวจภายใน เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามดลูก รังไข่ และช่องคลอดปกติดีหรือไม่ หากประวัติและการตรวจภายในสงสัยเนื้องอก พังผืด หรือถุงน้ำ ก็จะได้ส่งตรวจอัลตราซาวด์ต่อไป การตรวจภายในก่อนมีบุตรนี้ แพทย์มักจะทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกไปด้วย
  5. การตรวจพิเศษอื่น ๆ จะทำเมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจข้างต้น คนที่เคยแต่งงานแล้วมีบุตรยาก สูติแพทย์อาจทำอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือส่องกล้องตรวจในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น

วัยที่เหมาะจะให้กำเนิดบุตร

สำหรับคุณแม่ ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งครรภ์คือ 20-34 ปี แม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ร่างกายจะยังไม่แข็งแรงสมบูรณ์มากพอ ระยะนี้ร่างกายที่กำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโตต้องมาหยุดโตเพราะมีครรภ์ อาหารที่ได้รับเข้าไปก็ยังต้องแบ่งให้ลูกในท้องอีก การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีโอกาสจะเป็น "ท้องไม่พร้อม" แท้ง คลอดก่อนกำหนด คลอดยาก มีปัญหาโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ และเกิดครรภ์เป็นพิษได้สูงกว่าช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกัน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในวัย 35 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น เช่น เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด คลอดยาก อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดหรือผ่าตัดคลอด นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสพิการและปัญญาอ่อนเพิ่มขึ้นเมื่อคุณแม่มีอายุเกิน 35-40 ปี

สำหรับคุณพ่อ แต่เดิมเราเข้าใจว่าอายุของคุณพ่อไม่มีผลต่อการให้กำเนิดลูก แต่ปัจจุบันพบว่าคุณพ่อที่อายุมากก็อาจสร้างอสุจิที่มีโครโมโซมผิดปกติได้ โดยโรคที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณพ่อที่มีอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป เช่น โรค Achondroplasia (ลูกมีความผิดปกติของกระดูก ลำตัวสั้นและแขนขาสั้นแบบคนแคระ), โรค Duchann Muscular Dystrophy (ลูกมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงและแขนขาลีบ), โรค Marfan Syndrome (ลูกแขนขายาวผิดปกติ และมักมีความผิดปกติของสายตาร่วมด้วย) ฯลฯ

แม้ผลตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จะสมบูรณ์ดีทั้งคุณพ่อและคุณแม่ แพทย์แนะนำให้คุณแม่รับประทานกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัม/วัน เป็นเวลา 3 เดือนก่อนมีครรภ์ เพื่อช่วยสร้างเซลล์สมองของลูกน้อย และแนะนำให้คุณพ่อเลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ ก่อนที่ลูกน้อยจะลืมตามาเห็นและเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อ

โรคที่ควรทราบก่อนมีบุตร

  1. ภาวะ Rh incompatibility
  2. เหตุผลที่ต้องตรวจหมู่เลือด Rh ทั้งชายและหญิงเพราะคนไทยส่วนใหญ่มีหมู่เลือด Rh+ แต่บางคนอาจมีหมู่เลือด Rh- ซึ่งเป็นหมู่เลือดหายาก ถ้าหญิงมีหมู่เลือด Rh- และชายมีหมู่เลือด Rh+ แล้วลูกในครรภ์บังเอิญมีหมู่เลือด Rh+ เหมือนคุณพ่อ เม็ดเลือดแดงของลูกมีโอกาสเข้าไปสู่กระแสเลือดของแม่ได้ในระหว่างที่มีการหลุดลอกของตัวรก คุณแม่จะสร้างภูมิมาต่อต้านแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงของลูก ลูกคนแรกจะปลอดภัย แต่ในท้องถัด ๆ ไป ถ้าลูกในครรภ์มีหมู่เลือด Rh+ เหมือนคุณพ่ออีก จะส่งผลให้ภูมิที่คุณแม่สร้างขึ้นจากลูกคนแรกไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกในครรภ์ ทำให้ลูกมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ซีด ถ้ารุนแรงอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้ กรณีนี้คุณแม่จะได้ฉีด Rh immune globulin (RhoGAM) ในช่วงตั้งครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์, ภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอด, หลังตกเลือดทุกครั้งขณะตั้งครรภ์, และหลังการเจาะน้ำคร่ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสร้าง Rh antibody

    ในทางตรงกันข้าม ถ้าหญิงมีหมู่เลือด Rh+ และชายมีหมู่เลือด Rh- แล้วลูกในครรภ์บังเอิญมีหมู่เลือด Rh- เหมือนคุณพ่อ เลือดลูกที่มี Rh antibody อาจเข้ากระแสเลือดแม่ได้เล็กน้อย ซึ่งไม่มีอันตรายต่อคุณแม่

  3. โอกาสถ่ายทอดพันธุกรรมธาลัสซีเมีย
  4. หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตรวจพบโรคธาลัสซีเมีย (คู่แรก) ลูกที่เกิดมาจะมีเป็นพาหะของธาลัสซีเมียทั้งหมด หากฝ่ายหนึ่งตรวจพบโรคธาลัสซีเมียขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตรวจพบว่าเป็นพาหะ (คู่ที่สอง) ลูกที่เกิดมาจะไม่มีใครปกติเลย จะเป็นโรคธาลัสซีเมียครึ่งหนึ่งและเป็นพาหะครึ่งหนึ่ง

       

    หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตรวจพบว่าเป็นพาหะ (คู่ที่สาม) ลูกที่เกิดมาครึ่งหนึ่งจะปกติ อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นพาหะ หากทั้งสองฝ่ายเป็นพาหะ (คู่ที่สี่) ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย 25% ปกติ 25% และเป็นพาหะ 50%

  5. ปัญหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  6. หากตรวจพบว่าเคยได้รับเชื้อซิฟิลิสหรือเอดส์มาก่อน ก็ควรรับการรักษาและหาวิธีป้องกันการติดต่อสู่คู่สมรส หากพบว่าฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี และอีกฝ่ายถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันก็ควรจะได้ฉีดวัคซีน หากพบว่ามีเริมเรื้อรังที่ริมฝีปากหรือที่อวัยวะเพศก็ควรได้รับการรักษาด้วยยากินจนครบโด๊สก่อนตั้งครรภ์

  7. โรคทางเมตาบอลิกแอบแฝง
  8. โรคทางเมตาบอลิกได้แก่ โรคอ้วน โรคก่อนเบาหวาน (Pre-diabetes) โรคความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน การจะเริ่มสร้างครอบครัวก็ควรที่จะมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ก่อนที่อีกชีวิตหนึ่งจะเกิดมาและเห็นเราเป็นตัวอย่าง

    รูปร่างที่เหมาะสมคือผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม / (ส่วนสูงเป็นเมตร) 2 ) อยู่ระหว่าง 18.5-22.9 kg/m2 หากฝ่ายหญิงมีน้ำหนักเกินตั้งแต่ก่อนท้อง โอกาสที่จะกลับมามีดัชนีมวลกายพอเหมาะหลังคลอดเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้นจึงควรปรับพฤติกรรมตั้งแต่ก่อนมีครรภ์

    หากได้ตรวจน้ำตาลในเลือดและพบว่าเริ่มมีน้ำตาลขึ้น ให้ระวังว่าจะเกิดภาวะเบาหวานในขณะมีครรภ์ เพราะในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายจะหลั่งอินซูลินน้อยลง ประกอบกับมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ หากเป็นเช่นนี้จะต้องรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 เข็ม เพื่อป้องกันทารกตัวใหญ่จนคลอดไม่ได้ และเด็กเกิดภาวะน้ำตาลต่ำใน 1-3 วันแรกของชีวิต ดังนั้นว่าที่คุณแม่จึงควรฝึกปรับพฤติกรรมการกิน จนน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติก่อนที่จะมีครรภ์ รวมไปจนถึงตลอดการตั้งครรภ์และหลังคลอด

    โรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ยังหนุ่มก็เป็นโรคที่พบได้เป็นประจำเช่นกัน ว่าที่คุณพ่อที่เริ่มมีความดันสูงก็ควรปรับพฤติกรรมหรือเริ่มรับประทานยารักษาตามที่แพทย์เห็นสมควร

บรรณานุกรม

  1. ผศ.พญ.อภิรดี จิรัฐิติกาลโชติ. "การตรวจคัดกรองก่อนสมรสและก่อนตั้งครรภ์." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. (19 มิถุนายน 2564).
  2. กระทรวงสาธารณสุข. 2559. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับหญิงมีครรภ์." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพ กันยายน ๒๕๕๙. (19 มิถุนายน 2564).
  3. พญ. วรุณสิริ หงส์ลดารมย์. 2012. "Preconceptional Evaluation and Counseling." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ภาควิชาสูตินรีเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (19 มิถุนายน 2564).