การตรวจสุขภาพเด็กวัยมัธยม (Teen Check-up)

เด็กวัยมัธยมได้แก่วัย 12-18 ปี จัดเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีพลังมากมายแต่ขาดประสบการณ์ เป็นวัยที่ต้องเลือกเส้นทางการศึกษา การคบเพื่อนต่างเพศ และการแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมต่าง ๆ การตรวจสุขภาพในวัยนี้จะเป็นการประเมินปัญหาทางจิตใจ สังคม และพฤติกรรม ไปพร้อม ๆ กับการประเมินพัฒนาการทางเพศ วัยนี้เด็กผู้หญิงจะมีรอบเดือน เต้านม สะโพก หยุดสูง และมีขนขึ้นที่รักแร้และอวัยวะเพศ ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มมีเสียงแตก อวัยวะเพศแข็งตัวตอนเช้า มีหนวดเครา ขนขึ้นที่รักแร้และอวัยวะเพศ อายุ 16-18 ปีจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการสร้างอสุจิ การนัดตรวจสุขภาพจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ วัย 12-13 ปี, 14-15ปี, และ 16-18 ปี โดยทุกช่วงจะประเมินคล้ายกัน ดังนี้

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความสูง ประเมินน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง คำนวณ ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) และวัดความดันโลหิต
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ ดูร่องรอย สิว รอยสัก รอยเจาะ ร่องรอยการบาดเจ็บ หรือถูกทำร้าย รอยดำด้านหลังคอในกรณีอ้วน ประเมินพัฒนาการทางเพศ ประเมินการคดงอของกระดูกสันหลังโดยใช้วิธี forward bending test ตรวจสายตาโดยใช้ Snellen chart ถ้าการมองเห็นตั้งแต่ 20/50 ขึ้นไป อย่างน้อยหนึ่งข้าง จะส่งพบจักษุแพทย์ ตรวจการได้ยินด้วยเครื่องมือพิเศษกรณีที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติการได้ยินบกพร่องมาก่อน ตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์
  3. ประเมินสุขภาพจิตและพฤติกรรม ได้แก่
  4. ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองภาวะซีดในวัยรุ่นตอนต้นทุกคน และในรายที่มีความเสี่ยงต่อภาวะซีด เช่น วัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือนมามาก หรือในวัยรุ่นที่ขาดอาหาร หรือทานมังสวิรัติ หากค่าฮีโมโกลบิน (Hb) < 12 g% ในวัยรุ่นหญิง และ <13 g% ในวัยรุ่นชาย ควรได้รับการประเมินเพิ่มเติมและรักษา
  5. ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ ตรวจไขมันในเลือด เบาหวาน การทำงานของตับ ไต ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว ตรวจการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ถูกล่วงละเมิด หรือมีข้อบ่งชี้

    เอกซเรย์ปอดดูวัณโรค หากมีความเสี่ยงหรือมีข้อบ่งชี้

  6. รับวัคซีน

การเลี้ยงดูที่เหมาะสมและการสร้างวินัยที่ดี

พ่อแม่ควรทำความเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ใจเย็น รับฟังเขาอย่างเข้าใจความรู้สึก เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่ปรึกษา และชี้แนะอย่างเหมาะสม ปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ

สนับสนุนเรื่องเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีประสบการณ์ ปรับกฎเกณฑ์ กติกาในบ้านให้เหมาะสม โดยให้เด็กมีส่วนร่วม มอบงานที่เหมาะสมให้รับผิดชอบ ส่งเสริมให้เป็นตัวของตัวเอง แต่พร้อมขัดขวางถ้าวัยรุ่นทำพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่เหมาะสม แนะนำวิธีจัดการกับความเครียด ช่วยให้วัยรุ่นมองเห็นคุณค่าตนเอง มองเห็นข้อดีของตนเอง รู้สึกพอใจในตนเอง และชื่นชมตัวเองได้

ฝึกวิธีคิดเชิงบวก มองเห็นข้อดีในเรื่องร้าย คิดและเข้าใจในมุมคนอื่น (empathic understanding) ฝึกความเข้มแข็งทางใจ ความมุ่งมั่น ใช้การพัฒนาตนเองเป็นเป้าหมาย สามารถอดทนทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จ ฝึกทักษะการจัดการปัญหา เรียนรู้ปัญหาและประสบการณ์ที่ผิดพลาด

แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง รับประทานอาหารให้ได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน วัยรุ่นชายและหญิงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับพลังงาน 1,600-2,400 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะเตี้ย แต่ไม่กินจนรู้สึกง่วงหลังกิน เพื่อป้องกันภาวะอ้วน แนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน หรือมีกิจกรรมที่ออกแรงอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ใช้เวลากับทีวี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน หากเป็นไปได้ควรแปรงฟันหลังทานขนมหวานทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟัน พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ในรายที่ต้องใส่เครื่องมือจัดฟันต้องทำโดยทันตแพทย์เท่านั้น หลังทำต้องรักษาอนามัยช่องปากอย่างเคร่งครัด

ทบทวนและวางแผนการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง ทำร้าย หรือถูกล่วงละเมิด ฝึกการปฏิเสธและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ที่เสี่ยงสูง ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา ผู้ใหญ่ควรแนะนำเรื่องการเป็นสมาชิกบนโลกออนไลน์ที่ดี ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว และใช้สื่อโซเชียลอย่างเหมาะสมรู้เท่าทันสื่อ หากถูกกลั่นแกล้งในโลกออน์ไลน์ ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง สามารถเก็บหลักฐานได้ และรายงานต่อเจ้าของเว็บไซต์ ปรึกษาผู้ใหญ่ และแจ้งความได้

ในการมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน สนับสนุนการไม่มีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะแต่งงาน ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง สอนทักษะปฏิเสธหากยังไม่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยใช้ ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

งด หรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสารเสพติดทุกชนิด และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนใช้สารเหล่านี้ กรณีที่ใช้อยู่แนะนำให้ลดการใช้ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดยา

ส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎจราจร สวมหมวกนิรภัย หรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่

บรรณานุกรม

  1. กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).
  2. สปสช. กระทรวงสาธารณสุข 2562. "คู่มือ เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual)" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. (23 กรกฎาคม 2566).