แผนตรวจสุขภาพวัย 19-34 ปี (Young Adult Check-up)

โรคของวัยหนุ่มสาวมักเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น โลหิตจาง โรคไทรอยด์ โรคเครียด โรคซึมเศร้า น้ำหนักเกิน น้ำตาลเกิน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น การตรวจสุขภาพในวัยนี้จึงเน้นตรวจนับเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของตับ ไต ระดับไขมันในเลือด และประเมินโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดในอนาคตของตนเองได้ ที่นี่

แนวทางการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ของไทย ปี 2560 ไม่แนะนำให้คัดกรองผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปีทุกคน แต่แนะนำให้ตรวจคัดกรอง ในผู้ที่มีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • อ้วน (รอบเอวเกิน 30 นิ้วในหญิง, เกิน 35 นิ้วในชาย หรือมีน้ำหนักเกินส่วนสูง - 90 ทั้งหญิงและชาย)
  • มีพ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เป็นโรคเบาหวาน
  • มีโรคความดันโลหิตสูง
  • มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เคยตรวจพบระดับไตรกลีเซอไรด์ > 250 mg% หรือ HDL < 35 mg%
  • มีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดลูกน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
  • เคยตรวจพบว่ามีน้ำตาลในเลือดเกิน
  • มีกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่

แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานในแผนกตรวจสุขภาพของโรคพยาบาลศิริราชมานาน เห็นว่าเด็กไทยส่วนใหญ่อ้วนจ้ำม่ำตั้งแต่เล็ก และคงรูปร่างนี้มาถึงวัยที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่โดยไม่รู้สึกตัวว่าอ้วน อีกทั้งปริมาณน้ำตาลที่คนไทยบริโภคเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า การตรวจสุขภาพในวัยนี้หากไม่ตรวจเบาหวานก็เหมือนยังตรวจสุขภาพไม่ครบถ้วน แต่ถ้าได้ตรวจแล้วปกติ ก็สามารถเว้นการตรวจน้ำตาลไปอีก 2-3 ปี และหากมีน้ำตาลเกินแล้วก็จะได้รับคำแนะนำในการบริโภคอาหาร ได้นัดติดตามอยู่เสมอ เป็นการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดตั้งแต่เนิ่น ๆ

หญิงที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 3 ปีขึ้นไป หรือเคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ชายที่นิยมดื่มเบียร์ควรตรวจกรดยูริกในเลือดเพื่อดูความเสี่ยงของโรคเกาท์ด้วย

รายการตรวจสุขภาพที่แนะนำในวัย 19-34 ปี

สำหรับหญิง (ไม่มีครรภ์)

  • รายการพื้นฐาน
    1. ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินภาวะอ้วน
    2. วัดความดันโลหิต
    3. นับชีพจร
    4. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    5. ตรวจปัสสาวะทั่วไป ขณะไม่มีรอบเดือน (UA)
    6. ตรวจการทำงานของไต (Creatinine)
    7. ตรวจความสมบูรณ์ของเซลล์ตับ (ALT)
    8. ตรวจไขมันในเลือด 4 ตัว (Lipid profile) ได้แก่ Cholesterol, Triglyceride, HDL, และ LDL
    9. ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FBS)
    10. ประเมินโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดในอีกสิบปี
  • รายการเพิ่มเติมตามความเสี่ยง
    1. ตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c) - ถ้าเคยมีน้ำตาลเกินหรือมีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน
    2. ตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และภูมิคุ้มกัน (HBsAg, anti-HBs) - ถ้าไม่เคยตรวจ และมีคนในบ้านติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
    3. ตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (anti-HCV) - ถ้าไม่เคยตรวจ และมีคนในบ้านติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
    4. ตรวจไทรอยด์เป็นพิษ (TSH, FT3) - ถ้าคอโต หรือมีอาการมือสั่น ใจเต้นเร็ว น้ำหนักลด
    5. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) - ถ้ารู้สึกใจเต้นผิดปกติ
    6. เอกซเรย์ทรวงอก - ถ้าไอเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์ สูบบุหรี่ หรือทำงานกับฝุ่น/สารเคมี
    7. ตรวจพยาธิในอุจจาระ - ถ้าชอบทานของสุกๆ ดิบๆ, ผักสด, น้ำแข็งตามร้านอาหาร
    8. ตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (PV & PAP) - ถ้ามีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 3 ปีขึ้นไป หรือเคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

สำหรับชาย

  • รายการพื้นฐาน
    1. ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินภาวะอ้วน
    2. วัดความดันโลหิต
    3. นับชีพจร
    4. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    5. ตรวจปัสสาวะทั่วไป (UA)
    6. ตรวจการทำงานของไต (Creatinine)
    7. ตรวจความสมบูรณ์ของเซลล์ตับ (AST, ALT)
    8. ตรวจไขมันในเลือด 4 ตัว (Lipid profile) ได้แก่ Cholesterol, Triglyceride, HDL, และ LDL
    9. ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FBS)
    10. ประเมินโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดในอีกสิบปี
  • รายการเพิ่มเติมตามความเสี่ยง
    1. ตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c) - ถ้าเคยมีน้ำตาลเกินหรือมีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน
    2. ตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และภูมิคุ้มกัน (HBsAg, anti-HBs) - ถ้าไม่เคยตรวจ และมีคนในบ้านติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
    3. ตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (anti-HCV) - ถ้าไม่เคยตรวจ และมีคนในบ้านติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
    4. ตรวจไทรอยด์เป็นพิษ (TSH, FT3) - ถ้าคอโต หรือมีอาการมือสั่น ใจเต้นเร็ว น้ำหนักลด
    5. ตรวจกรดยูริกในเลือด (Uric acid) - ถ้าดื่มเบียร์เป็นประจำ หรือมีปวดบวมข้อนิ้วโป้งของเท้า หรือข้อเท้าเป็นพัก ๆ
    6. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) - ถ้ารู้สึกใจเต้นผิดปกติ
    7. เอกซเรย์ทรวงอก - ถ้าไอเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์ สูบบุหรี่ หรือทำงานกับฝุ่น/สารเคมี
    8. ตรวจพยาธิในอุจจาระ - ถ้าชอบทานของสุกๆ ดิบ, ผักสด, น้ำแข็งตามร้านอาหาร

ท่านสามารถแปลผลตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ ที่นี่

บรรณานุกรม

  1. กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).