วิตามินซี (Ascorbic acid, Asc)
วิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิค เมื่อละลายน้ำจะเรียกว่า "แอสคอร์เบต" (ascorbate) หากเอากรดแอสคอร์บิก 5 กรัมละลายในน้ำเปล่า 100 ml จะได้สารละลายที่มี pH 2.4 [16] จัดเป็นกรดค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับกรดไฮโดรคลอริกของกระเพาะ (pH 1.0)
มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่กี่ชนิดที่ร่างกายไม่สร้างวิตามินซีเอง [11] จึงต้องได้รับจากภายนอกเท่านั้น โชดดีที่อาหารหลากหลายอุดมไปด้วยวิตามินซี
หลักฐานทางการแพทย์ปัจจุบันจะยืนยันว่าวิตามินซีแบบเม็ดยาไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหวัด [12] หลักฐานที่บอกว่าวิตามินซีช่วยลดระยะเวลาป่วยเมื่อติดหวัดแล้ว คือต้องรับประทานในขนาดสูงถึง 800 mg เป็นประจำทุกวัน ซึ่งมีหลักฐานว่าวิตามินซีขนาด ≥1,000 mg/วัน เพิ่มการเกิดนิ่วที่ไต 2 เท่า [13]
วิตามินซีดูดซึมโดยอาศัยตัวพา sodium vitamin C cotransporter (SVCT) พาผ่าน sodium-potassium ATPase การดูดซึมของวิตามินซีจะดีมากเมื่อรับประทานครั้งละน้อย ๆ พบว่าวิตามินซีในขนาดต่ำกว่า 200 mg ดูดซึมได้เกิน 100%, ขนาด 500 mg ดูดซึมได้ 73%, และขนาด 1250 mg ดูดซึมได้เพียง 49% ที่เหลือจะถูกขับออกที่ไต
วิตามินซีเป็นวิตามินละลายน้ำที่สะสมในร่างกายได้ (เหมือนวิตามิน B12) แหล่งสะสมวิตามินซีอยู่ที่เม็ดเลือดขาว (ไม่มีในรูป) ต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต เลนส์ตา ตับ สมอง ตับอ่อน ม้าม ไต ปอด ระดับวิตามินซีในเลือดค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับระดับในอวัยวะเหล่านี้ วิตามินซีในร่างกายยังสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้
หน่วยวัดปริมาณวิตามินซี
หน่วยวัดปริมาณวิตามินซี ใช้เป็นมิลลิกรัม (mg) ร่างกายต้องการวันละ 60-90 มิลลิกรัม
บทบาทของวิตามินซี
วิตามินซีมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพมาก โดยสามารถสลายอนุมูลอิสระที่ละลายในน้ำ และยังฟื้นฟูสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่น เช่น วิตามินอี ซึ่งทำลายอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน
วิตามินซีเป็นตัวจักรสำคัญในขบวนการสร้างคอลลาเจน คาร์นิทีน และแคทีโคลามีน คอลลาเจนจำเป็นสำหรับการสมานผิวหนัง ผนังหลอดเลือด กระดูกอ่อน และกระดูก คาร์นิทีนเป็นตัวพากรดไขมันเข้าไมโตคอนเดรียเพื่อเผาเป็นพลังงาน แคทีโคลามีนเป็นทั้งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทของระบบซิมพาเธทิก ช่วยควบคุมความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และเพิ่มกลูโคสในเลือดให้เพียงพอต่อการทำกิจกรรมที่เร่งรีบ
วิตามินซียังช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก กระตุ้นเม็ดเลือดขาว และควบคุมการแสดงออกของยีนในระบบภูมิคุ้มกัน
แหล่งของวิตามินซีในธรรมชาติ
กระทรวงสาธารณสุขไทยแนะนำให้รับประทานวิตามินซีวันละ 60 mg แต่ต่างประเทศแนะนำให้รับประทานวันละ 75-90 mg ผู้ที่ต้องการวิตามินซีมากขึ้นได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่ (เพราะบุหรี่เพิ่มการทำลายของอนุมูลอิสระ) หญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร
อาหารที่มีวิตามินซีสูงได้แก่ ผักและผลไม้สดแทบทุกชนิด ใบโหระพา พริกหวาน เผือก มันเทศ มะเขือเทศ มะนาว ฯลฯ ร่างกายจำกัดการดูดซึมวิตามินซีไม่ให้เข้าร่างกายมากเกินไป ดังนั้นการรับประทานวิตามินซีแบบเม็ดในขนาดสูงไม่ได้รับประกันว่าเราจะได้วิตามินซีเข้าร่างกายตามปริมาณที่ระบุต่อเม็ด วิตามินซีส่วนเกินจะถูกส่งไปที่ไตในรูป oxalate เพื่อขับทิ้ง oxalate จับกับแคลเซียมได้ง่าย กลายเป็นหินปูน calcium oxalate หรือนิ่วติดที่ไตนั่นเอง
วิตามินซีถูกทำลายได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน แสง ออกซิเจน เอนไซม์และแร่ธาตุจากอาหารอื่น พบว่าผลไม้ที่ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 6 วัน จะสูญเสียวิตามินซีไป 80% การหุงต้มผักหรือผลไม้จะทำลายวิตามินซีไปภายใน 15 นาที การปรุงแต่ง และเก็บรักษาอาหาร (รวมทั้งการผลิตให้แห้งในรูปเม็ดยา) ก็จะทำให้ฤทธิ์ของวิตามินซีลดลงหรือหมดไปตามกาลเวลา นี่เองที่ทำให้การบริโภคพุทราเพียง 1 ส่วน ยังได้วิตามินซีมากกว่าการรับประทานวิตามินซีแบบเม็ดที่ผลิตมาแล้ว 3 เดือน
นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถสะสมวิตามินซีไว้ใช้ได้นาน 4-6 เดือน ดังนั้นแม้เราไม่ได้จากอาหารในบางวันก็ไม่เป็นอะไร
ภาวะขาดวิตามินซี
พบว่าต้องรับประทานวิตามินซีน้อยกว่า 10 mg/วัน เป็นเวลาหลายสัปดาห์จึงจะแสดงอาการ [6] อาการของการขาดวิตามินซีจะค่อย ๆ เกิดอย่างช้า ๆ โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า ปวดเนื้อปวดตัว ซีดลง เหงือกยุ่ย ฟันคลอน หลอดเลือดฝอยเปราะ มีเลือดออกง่ายโดยเฉพาะเลือดกำเดาและเลือดออกตามไรฟัน มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ผิวหยาบ ผมหยิก แผลหายช้า เรียกว่าเป็นโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ปัจจุบันพบน้อยลงมาก
ภาวะขาดวิตามินซีในเด็กที่ยังไม่โตเต็มที่จะเห็นความผิดปกติของกระดูกในเอกซเรย์ด้วย โดยจะพบลักษณะ thin cortex, ground-glass appearance of cortex, white line of Fraenkel at metaphysis, compressed epiphysis, healing of subperiosteal hemorrhages มักพบที่ปลายของกระดูกท่อนยาว เช่นบริเวณเข่า
การวินิจฉัยอาศัยอาการข้างต้น + ประวัติเสี่ยง (ไม่กินผักผลไม้ สูบบุหรี่) การตรวจแล็บไม่จำเป็น หากทำได้อาจส่งตรวจ
- ระดับกรดแอสคอร์บิกในซีรั่มหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ค่าที่ > 0.6 mg/dL ตัดภาวะขาดวิตามินซีออกไปได้เลย ค่าที่ < 0.2 mg/dL (< 11 mcmol/L) ถือว่าขาด
- ระดับกรดแอสคอร์บิกในเม็ดเลือดขาว ค่าที่ > 15 mg/dL ตัดภาวะขาดวิตามินซีออกไปได้เลย ค่าที่ < 8 mg/dL ถือว่าขาด
การรักษาจะให้วิตามินซีรับประทานขนาด 100 mg วันละ 3 เวลา x 2 สัปดาห์ หากใช่อาการจะหายไปอย่างรวดเร็วใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นควรหันมาบริโภควิตามินซีในผักผลไม้แทน
พิษของวิตามินซี
ไม่พบพิษของวิตามินซีจากอาหารเลย แต่พบในผู้ที่รับประทานวิตามินซีแบบเม็ดเสริมในขนาดที่สูงกว่า 1000 mg/วัน โดยจะมีอาการปวดท้อง แสบท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย บางรายก่อให้เกิดนิ่วที่ไต
บรรณานุกรม
- "Vitamin C (ascorbic acid)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Vitamin C." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (6 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Vitamin C." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (6 กุมภาพันธ์ 2563).
- "vitamin C." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (7 มีนาคม 2563).
- "Vitamin C." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (7 มีนาคม 2563).
- "9.3 Vitamin C." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (7 มีนาคม 2563).
- Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin C." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (7 มีนาคม 2563).
- Stipanuk MH. 2006. "Biochemical, physiological, & molecular aspects of human nutrition." แหล่งที่มา St. Louis, MO: Saunders Elsevier.
- Hemilä H, Chalker E. 2013. "Vitamin C for preventing and treating the common cold
(Review)
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cochrane Database Syst Rev. 2013, Issue 1
. (21 พฤศจิกายน 2562).
- Laura D. K. Thomas, et al. 2013. "Ascorbic Acid Supplements and Kidney Stone Incidence Among Men: A Prospective Study." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา JAMA Intern Med. 2013;173(5):386-388. (26 พฤศจิกายน 2562).
- Larry E. Johnson. 2019. "Vitamin C Deficiency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (8 มีนาคม 2563).
- Lynne Goebel. 2017. "Scurvy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (8 มีนาคม 2563).
- "What is the pH of ascorbic acid?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Quora. (10 มีนาคม 2563).