วิตามินเค

วิตามิน K ตั้งตามคำศัพท์ Koagulation ในภาษาเยอรมัน ซึ่งแปลว่า การแข็งตัวของเลือด เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญในขบวนการนี้ วิตามินเคเป็นชื่อรวมของกลุ่มสารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของ 2-methyl-1,4-naphthoquinone ประกอบด้วย

  • Phylloquinone หรือ phytonadione (vitamin K1) พบมากในผักใบเขียวและสาหร่าย ร้อยละ 75-90 ของวิตามินเคที่เราได้รับในชีวิตประจำวันเป็น vitamin K1
  • กลุ่ม Menaquinones (vitamin K2) มาจากแบคทีเรียในเนื้อสัตว์ อาหารหมักดอง และแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ของเราเอง กลุ่มนี้มีหลายตัว ต่างกันที่ความยาวของสายคาร์บอน ใช้ตัวย่อว่า MK-n โดยมีตั้งแต่ MK-2 ถึง MK-14 ตัวที่พบมากคือ MK-4 และ MK-7
  • Menadione (vitamin K3) ได้จากการสังเคราะห์ให้เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ ไม่มีการใช้ในคนแล้วเพราะไปรบกวนการทำงานของกลูตาไธโอน แต่ยังใช้ผสมในอาหารสัตว์
  • Menadiol (vitamin K4) ได้จากการสังเคราะห์ให้เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้เช่นกัน เมื่อเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามิน K3 ไม่มีการใช้ในคนแล้วเพราะมีรายงานการเกิดพิษต่อตับ เม็ดเลือดแดงแตก และภาวะเหลือง (kernicterus) ในทารก
  • 2-methyl-4-amino-1-naphthol hydrochloride (vitamin K55) ได้จากการสังเคราะห์ให้เป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ไขมัน และแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและเชื้อราอย่างอ่อน ๆ ด้วย ปัจจุบันใช้ร่วมกับ sulfur dioxide ในอุตสาหกรรมไวน์ เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อรา

หน่วยวัดปริมาณวิตามินเค

วิตามินเคที่มีบทบาทในคนคือ K1 และ K2 ปัจจุบันเชื่อว่าทั้งสองตัวออกฤทธิ์คล้ายกัน ยังไม่มีการศึกษาชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) ของวิตามินเคแต่ละตัวอย่างละเอียด ดังนั้นหน่วยวัดปริมาณวิตามินเคจึงเป็นไมโครกรัม (mcg) ของวิตามินเคทั้งหมด และใช้ทั้งในอาหารและยา วิตามินเครูปยาจะเป็นของเหลว ใช้หยดเข้าหลอดเลือดดำกรณีที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน หรือจะใช้รับประทานกรณีที่ไม่สามารถหาเส้นได้

บทบาทของวิตามินเค

วิตามิน K สามารถละลายในไขมันได้ดี เมื่อถูกดูดซึมเข้าร่างกายสุดท้ายจะไปเก็บสะสมไว้ที่ตับ ในขบวนการแข็งตัวของเลือดที่ซับซ้อน ตับเป็นแหล่งสร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือดแทบทุกตัว ยกเว้น factor VIII (ดูรูปข้างล่างประกอบ)

ทั้งวิตามิน K1 และ K2 ช่วยเติมหมู่คาร์บอกซิล (carboxyl) ให้แก่กรดอะมิโนกลูตาเมท (Glu) ไปเป็น gamma-carboxyglutamate (Gla) บนปลายที่มีหมู่อะมิโนของปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่ต้องพึ่งวิตามินเค (vitamin K-dependent coagulation factors) ซึ่งได้แก่ factors II, VII, IX, X, proteins C, S, และ Z   Gla จะทำให้ปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนโครงสร้างให้สามารถจับกับแคลเซียมซึ่งรวมอยู่กับ phospholipid บนผิวของเกล็ดเลือดได้ จึงส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ปฏิกิริยาการเติมหมู่ carboxyl ให้แก่ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดนี้ถูกเร่งโดยเอนไซม์ carboxylase วิตามินเคที่ให้หมู่ carboxyl ไปแล้วจะหมดฤทธิ์ กลายเป็น vitamin K oxide (epoxide) ซึ่งจะถูกเอนไซม์ vit K epoxide reductase (VKOR) เปลี่ยนกลับมาเป็นวิตามินเคที่ใช้งานได้ดังเดิม

ยา warfarin ยับยั้งเอนไซม์ VKOR ทำให้วิตามินเคไม่สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่เมื่อเรารับประทานผักก็จะได้วิตามินเคใหม่กลับเข้ามาอีก จึงไม่เกิดเลือดออกผิดปกติ แพทย์จะปรับขนาดยา warfarin โดยดูค่าการแข็งตัวของเลือด (INR) ไม่ให้สูงเกินไปจนเลือดไม่แข็งตัวเลย

วิตามินเคยังช่วยสนับสนุนการสร้างโปรตีน osteocalcin และ matrix Gla ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการบำรุงรักษาเนื้อกระดูกและผนังหลอดเลือด

แหล่งของวิตามินเคในธรรมชาติ

อาหารที่มีวิตามิน K มาก ได้แก่ ผักสดทุกชนิด อาหารหมักดอง เช่น นัตโตะ (ถั่วหมักของญี่ปุ่น) เต้าเจี้ยว ถั่วเน่า (ถั่วเหลืองหมักแห้งของภาคเหนือ) มิโซะ (ข้าวหมักของญี่ปุ่น) ส่วนในเนื้อสัตว์มีปริมาณวิตามินเคไม่มากเท่าในพืช แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของคนเราก็สามารถผลิตวิตามินเคให้เราได้

วิตามินเคในอาหารค่อนข้างคงทน ไม่สลายไปด้วยความร้อนจากการปรุงอาหาร แต่วิตามินเคในน้ำมันพืชมักจะลดลงเมื่อเราตั้งทิ้งไว้ให้โดนแสง ดังนั้นเราจึงควรเก็บน้ำมันไว้ในที่มืด

อาหารที่ใช้กระบวนการ hydrogenation เพื่อให้ไขมันเหลวกลายเป็นไขมันที่ข้น เหนียวหนืดขึ้น (เช่น การทำมาร์การีน การทำโดนัท คุกกี้ แคร็กเกอร์ รวมทั้งของทอดที่ทิ้งไว้จนเย็น) จะสูญเสียวิตามินเคไป ทางการแพทย์ก็แนะนำให้เลี่ยงอาหารประเภทนี้

ปริมาณวิตามินเคที่ต้องการต่อวันในแต่ละช่วงวัยไม่เท่ากัน แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยแนะนำให้รับประทานวันละ 80 ไมโครกรัม จากรูปจะเห็นว่า เพียงเรารับประทานผักใบเขียว 1 ส่วนต่อวันก็จะได้วิตามินเคอย่างล้นหลาม แถมวิตามินเคยังสามารถรีไซเคิลมาใช้ใหม่ได้ โอกาสที่ร่างกายจะขาดวิตามินเคจึงมีน้อยมาก

ภาวะขาดวิตามินเค

ภาวะขาดวิตามิน K มักพบในเด็กแรกคลอดที่ยังไม่มีแบคทีเรียในลำไส้เพียงพอ (จึงต้องฉีดวิตามินเคให้เด็กแรกเกิดทุกคน) กับพบในโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันไม่ได้ ซึ่งจะขาดวิตามิน A และ E ด้วย นอกจากนี้เราควรทราบด้วยว่า วิตามิน A และ E ในเม็ดยา (ซึ่งมักมีปริมาณสูง) จะแข่งขันกับวิตามินเคในการดูดซึมเข้าร่างกาย จึงอาจทำให้ขาดวิตามินเคทั้งที่รับประทานผักเป็นจำนวนมาก การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน ๆ ก็จะทำให้เราสูญเสียแบคทีเรียในลำไส้ที่จะช่วยสร้างวิตามินเคไป ยาที่ลดการดูดซึมไขมัน เช่น Bile acid sequestrants, Orlistat ก็จะลดการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันทั้งหมด

การขาดวิตามิน K จะมีอาการเลือดออกง่าย กระดูกไม่แข็งแรง เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแข็งเร็วกว่าคนปกติ

พิษของวิตามินเค

ยังไม่เคยมีรายงานพิษของวิตามิน K จากอาหาร ผู้ถือมังสวิรัติจึงสบายใจได้ ที่มีรายงานคือพิษของ menadione (vitamin K3) และ Menadiol (vitamin K4) ที่ทำให้เกิด hemolytic anemia, hyperbilirubinemia, jaundice, และ kernicterus ในทารกแรกเกิด ทั้งสองตัวจึงถูกห้ามใช้ในคนอีก

บรรณานุกรม

  1. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (2 กุมภาพันธ์ 2563).
  6. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (2 กุมภาพันธ์ 2563).
  7. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (17 กุมภาพันธ์ 2563).
  8. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (17 กุมภาพันธ์ 2563).
  9. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา jsmu.edu. (17 กุมภาพันธ์ 2563).
  10. "Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา VIVO Pathophysiology (17 กุมภาพันธ์ 2563).
  11. Martin J. Shearer and Paul Newman. "Recent trends in the metabolism and cell biology of vitamin K with special reference to vitamin K cycling and MK-4 biosynthesis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J of Lipid Research. (17 กุมภาพันธ์ 2563).
  12. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin K." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).