โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome, AIDS)

โรคเอดส์เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเรื้อรังที่เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวในร่างกายของมนุษย์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเสื่อมลง เป็นผลทำให้เกิดโรคติดเชื้ออื่น ๆ หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการมักจะรุนแรง เรื้อรัง และเสียชีวิตในที่สุด

โรคเอดส์ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับเลือด น้ำลาย น้ำกาม และน้ำนมของผู้ที่มีเชื้ออยู่ในตัว เช่น การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ การรับเลือดของผู้ที่มีเชื้อ การคลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ และการดื่มนมของมารดาที่ติดเชื้อ ปัจจุบันยังไม่ทราบวิธีการรักษาโรคเอดส์ให้หายขาด มีเพียงการให้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไปแล้วเพื่อชะลอการดำเนินโรคเท่านั้น

สาเหตุของโรค

เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์คือเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV) เป็นไวรัสที่เติบโตช้า มีระยะแฝงตัวนาน เชื้อเอชไอวีจะทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดซีดีโฟร์ (CD4 T lymphocyte) และโมโนไซต์ (Monocyte) โดยเฉพาะ ทำให้ร่างกายขาดภูมิคุ้มกันชนิด cellular immunity เชื้อเอชไอวีเพิ่มจำนวนโดยสร้างสายดีเอ็นเอแทรกเข้าไปในสายดีเอ็นเอของผู้ติดเชื้ออย่างถาวร ทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์ใหม่มีการติดเชื้อไปด้วย

อาการของโรค

ภายหลังการรับเชื้อเอชไอวี บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย บางรายอาจมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่ว ๆ ไป เช่น มีไข้ ผื่นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ อาการมักกินเวลาสั้น ๆ และหายไปได้เอง หลังจากนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ เลยจนกว่าระดับซีดีโฟร์ในเลือดต่ำกว่า 200-500 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิลิตร

อัตราเฉลี่ยของประเทศไทยตั้งแต่รับเชื้อจนเริ่มป่วยใช้เวลา 7-10 ปี ในช่วงที่เรามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายแต่ไม่ป่วยเพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันที่ยังใช้การได้อยู่ เราจะเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่าเป็น "ผู้ติดเชื้อ" เท่านั้น ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนไม่สามารถควบคุมเชื้อโรคบางอย่างได้ (เช่น วัณโรค เชื้อรา หนอนพยาธิ โปรโตซัว) ก็จะทำให้เราป่วยด้วยเชื้อโรคนั้น ๆ เรียกว่าเริ่มมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็น "ผู้ป่วยเอดส์" โรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากภาวะภูมิบกพร่องเรียกว่า "โรคฉวยโอกาส"

อาการที่เกิดขึ้นกับ "ผู้ป่วยเอดส์" จะมี 2 ลักษณะคือ อาการที่เกิดจากการดำเนินของโรคเอดส์ และอาการที่เกิดจาก "โรคฉวยโอกาส"

กลุ่มอาการที่เกิดจากการดำเนินของโรคเอดส์ ได้แก่

  • การที่ผิวหนังหยาบและมีสีคล้ำขึ้น, มีอาการคันตามผิวหนังได้ง่าย, มีรอยโรคที่ผิวหนัง เช่น เรื้อนกวาง ผื่นแดงตามส่วนที่มันบนใบหน้า (seborrheic dermatitis) มะเร็งของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง (Kaposi's sarcoma)
  • ไขมันใต้ผิวหนังอ่อนตัวลง, กล้ามเนื้อลีบบางลงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อทรวงอก เมื่อคลำดูจะรู้สึกถึงกระดูกและอวัยวะภายในช่องท้องโดยไม่ต้องออกแรงกด
  • เส้นผมเล็ก บาง และมีสีจางลง
  • อุจจาระเหลวเละเป็นพัก ๆ
  • น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลียง่าย ออกแรงหนักไม่ได้เหมือนเดิม
  • ความจำ ความร่าเริง การตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลง

กลุ่มอาการที่เกิดจาก "โรคฉวยโอกาส" ได้แก่

  • อาการไข้เรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อคลำดูที่คอ รักแรั ขาหนีบ มักมีต่อมน้ำเหลืองโตด้วย
  • อาการเจ็บคอ เมื่ออ้าปากจะพบฝ้าขาวติดที่คอหอย เพดานปาก โคนลิ้น
  • อาการของโรคฉวยโอกาสที่ผิวหนัง เช่น เริม งูสวัด หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก และตุ่มหนองของเชื้อราเพนิซิลเลียม (ลักษณะคล้ายสิวขึ้นติด ๆ กันจำนวนมาก มักพบบริเวณใบหน้า)
  • อาการของโรคฉวยโอกาสที่ระบบหายใจ เช่น อาการหอบเหนื่อยง่าย ต้องหยุดพักเพื่อหายใจ บางครั้งเป็นมากจนเกิดอาการเขียว บางรายมีอาการไอเรื้อรัง
  • อาการของโรคฉวยโอกาสที่ระบบประสาท มีได้หลายแบบ เช่น ปวดศีรษะ อัมพาต ชัก พูดไม่ชัด เดินเซ เห็นภาพซ้อน ส่วนใหญ่จะมีไข้ร่วมด้วย

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคเอดส์ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนคือ

  1. การตรวจว่ามีเชื้อเอชไอวีในร่างกายหรือไม่ ซึ่งทำได้โดยการ
    • ตรวจเลือดหา HIV antibody ซึ่งทำได้ง่าย ราคาไม่แพง และทราบผลในหนึ่งวัน แต่จะเชื่อถือได้เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปแล้วนาน 6-8 สัปดาห์
    • ตรวจเลือดหาเชื้อ HIV โดยตรง โดยวิธี PCR ซึ่งมีราคาแพงมาก และใช้เวลาประมาณ 3 วัน แต่สามารถให้ผลที่เชื่อถือได้หลังจากที่เพิ่งรับเชื้อเข้าไป
  2. เมื่อขั้นตอนที่หนึ่งให้ผลบวกแล้วจึงค่อยเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง

  3. การตรวจดูความก้าวหน้าของโรคเอดส์ ซึ่งได้แก่ การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ การตรวจวัดระดับซีดีโฟร์ (CD4) การเอ็กซเรย์ทรวงอก การนับปริมาณเม็ดเลือดในร่างกาย และการตรวจหาสาเหตุของ "โรคฉวยโอกาส" หากมีขึ้นแล้ว

การรักษา

ปัจจุบันการรักษาโรคเอดส์จะเริ่มเมื่อเกิดโรคฉวยโอกาสขึ้นแล้ว, หรือระดับของซีดีโฟร์ ต่ำกว่า 500/cumm3, หรือมีปริมาณของไวรัสเอชไอวีมากกว่า 30,000 copy/ml ซึ่งการรักษายังทำได้เพียงการให้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี และการให้ยาป้องกันการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสที่รุนแรงบางชนิด เมื่อเริ่มแล้วก็เข้าสู่กระบวนการรักษาไปจนตลอดชีวิต ยังไม่มีวิธีรักษาโรคให้หายขาดได้

การป้องกัน

เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันโรคเอดส์ที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้ถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศทุกครั้ง การไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และการตรวจ HIV antibody ในมารดาที่ตั้งครรภ์ทุกคนเพื่อป้องกันทารกที่ติดเชื้อแต่กำเนิด