โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ (Fasciolopsiasis)

โรคนี้เกิดจากพยาธิใบไม้ในลำไส้เล็กชื่อ Fasciolopsis buski พบมากในภาคกลางของไทย คนและหมูเป็นโฮ้สท์เฉพาะ พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก ไข่ออกมากับอุจจาระ ถ้าลงน้ำ ตัวอ่อนจะฟักออกมาจากไข่ไชเข้าหอยน้ำจืด เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะเซอร์คาเรีย (cercaria) แล้วจึงออกจากหอย ไปเกาะอยู่ตามพืชน้ำ เช่น กระจับ สายบัว ผักบุ้ง แห้วจีน ผักตบชวา รากบัว เป็นต้น ตัวอ่อนจะเริ่มมีซิสต์หุ้มตัว เมื่อคนกินกระจับหรือพืชผ้กดิบ ๆ พยาณิจะออกมาจากซิสต์ เจริญเป็นตัวแก่ในเยื่อบุของลำไส้เล็กส่วนต้น

อาการของโรค

อาการมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงขั้นเสียชีวิต ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน รายที่มีพยาธิเป็นจำนวนมากจะปวดท้องตลอดเวลา ถ่ายเป็นน้ำวันละหลายครั้ง อุจจาระสีเหลืองเขียว บางครั้งจะมีตัวพยาธิออกมาด้วย ผู้ป่วยมักอยู่ในภาวะขาดอาหารด้วย จะบวมทั้งตัว ท้องมาน ผิวหนังแห้ง ซีด ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ น้ำหนักลด

การวินิจฉัย

วินิจฉัยโรคได้ง่ายโดยการตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิหรือตัวแก่ออกมา ไข่พยาธิชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าไข่ของหนอนพยาธิทั่วไป ลักษณะกลมรีเหมือนไข่เป็ดหรือไข่ไก่ และไม่มีฝาปิดที่หัวหรือก้นเหมือนอย่างไข่พยาธิชนิดอื่น

การรักษา

ยาถ่ายพยาธิหลายชนิดได้ผลดีกับพยาธิใบไม้ในลำไส้ เช่น Praziquantel, Niclosamide, Tetrachlorethylene ในรายที่มีพยาธเป็นจำนวนมากคงวรให้ซ้ำอีกครั้งหลังให้ยาครั้งแรกนาน 1 สัปดาห์ ควรรักษาภาวะขาดสารอาหารและเกลือแร่ด้วย

การป้องกัน

ไม่ควรรับประทานพืชน้ำสด ๆ แม้จะล้างทำความสะอาดแล้ว เพราะพยาธิตัวอ่อนมีขนาดเล็ก อาจติดอยู่ตามซอกใบ หรือภายในลำต้น ควรต้มให้สุกก่อนเสมอ