โรคเริมแต่กำเนิด (Congenital herpes simplex infection)

โรคเริมแต่กำเนิดพบได้ไม่บ่อย เพราะภูมิคุ้มกันที่ร่างกายเราสร้างขึ้นหลังติดเชื้อประมาณ 6 สัปดาห์สามารถผ่านรกไปสู่ลูกได้ ทารกที่เป็นโรคเริมแต่กำเนิดมักติดเชื้อมาจากมารดาที่เป็นโรคเริมครั้งแรกในระหว่างตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ไม่นาน เชื้อเริมเข้าสู่ทารกได้ 2 ทางคือ

  1. ทางรก วิธีนี้พบเพียง 3-5% โดยผู้เป็นแม่จะต้องเป็นโรคเริมที่ใดก็ตามในระหว่างตั้งครรภ์และมีระยะเวลาที่ไวรัสอยู่ในกระแสเลือดที่นานพอจะไปสู่ทารก วิธีนี้ทารกเกิดมาจะมีความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอด
  2. ทางช่องคลอด วิธีนี้พบเป็นส่วนใหญ่ โดยตัวเด็กสัมผัสกับเชื้อโดยตรงเมื่อคลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่กำลังเป็นโรคเริมที่ช่องคลอดพอดี วิธีนี้ทารกที่คลอดออกมาวันแรกมักปกติ แล้วค่อยแสดงอาการภายใน 1 เดือนแรก

หลังคลอดออกมาแล้วทารกยังมีโอกาสติดเชื้อเริมได้อีกจากการกอดจูบของผู้ปกครองที่มีเชื้อเริมที่ริมฝีปาก แต่ในกรณีนี้ไม่จัดว่าเป็นโรคเริมแต่กำเนิด แม้อาการจะเกิดขึ้นคล้ายกันและในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

อาการของโรค

ทารกที่ติดเชื้อทางรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวน้อย หลายรายคลอดก่อนกำหนด และมีความผิดปกติของ 3 ระบบที่แสดงถึงโรคเริมแต่กำเนิด ได้แก่

  1. ผิวหนัง เด็กจะมีรอยโรคที่ผิวหนังทั้งตัว อาจเป็นตุ่มน้ำใสที่กำลังแตก, ตุ่มที่ตกสะเก็ด, แผลเป็น, จุดขาวหรือเข้ม, ผื่นแดง, หรือมีหย่อมของหนังศีรษะที่ไม่มีเส้นผม
  2. ตา มีดวงตาเล็ก ประสาทตาฝ่อ ไม่มีจอตาหรือมีแต่จอตาอักเสบ (chorioretinitis)
  3. สมอง เด็กมีศีรษะเล็ก สมองเล็ก มีหินปูนอยู่ในเนื้อสมอง

ทารกที่ติดเชื้อทางช่องคลอดจะเริ่มแสดงอาการของโรคเริมแต่กำเนิดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-4 เด็กจะมีไข้ โยเย อาการแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการทับซ้อนกันมากกว่าหนึ่งรูปแบบ ดังนี้

  • อาการเฉพาะที่ผิวหนัง ตา และปาก (SEM) เด็กจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัว รวมทั้งที่ตาและปาก ตุ่มน้ำเหล่านี้แตกง่าย เมื่อแตกจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองไหล ประมาณ 5-7 วันตุ่มจะแห้งและตกสะเก็ด แล้วค่อย ๆ หายไป
  • อาการทางสมอง (CNS) เด็กจะชักเป็นพัก ๆ ซึมมาก ตัวสั่น (tremors) ไม่ดูดนม อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ กระหม่อมโป่ง
  • อาการต่าง ๆ ของอวัยวะภายใน (DIS) เช่น ตัวเหลือง เลือดออกง่าย หายใจเร็ว มีบางช่วงที่หยุดหายใจ มือเท้าเขียว ความดันโลหิตต่ำ

หากรักษาจนรอดชีวิตก็ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น เป็นโรคลมชัก ตาบอด พัฒนาการทางร่างกายไปได้ช้า ไม่สามารถเรียนได้เหมือนเด็กปกติ

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคเริมแต่กำเนิดทำได้ไม่ง่ายนักถ้าประวัติของมารดาและอาการแสดงของทารกไม่ชัดเจน การวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องอาศัยการเพาะเชื้อไวรัสเริมจากเลือด น้ำไขสันหลัง ปัสสาวะ น้ำมูกน้ำตา และน้ำจากแผลที่ผิวหนัง (ถ้ามี) นอกจากนั้นอาจทำการตรวจ HSV-PCR จากน้ำไขสันหลังด้วย

การรักษา

ทารกที่สงสัยหรือได้รับการวินิจฉัยแน่นอนแล้วว่าเป็นโรคเริมแต่กำเนิดต้องให้ยา Acyclovir ขนาด 60 มก/กก/วัน ฉีดเข้าเส้น เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ แล้วแต่ความรุนแรงของโรค แต่ผลการรักษาไม่ดีเท่าการป้องกัน

การป้องกัน

การให้ความรู้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ถึงโรคเริมและการฝากครรภ์เพื่อตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ในมารดาเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพศสัมพันธ์ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง มารดาที่มีประวัติเป็นเริมกำเริบบ่อยควรได้รับยา Acyclovir รับประทานป้องกันในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ และในช่วงใกล้คลอดหากรู้ตัวว่าเป็นเริมที่ช่องคลอดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้รีบรักษาและเตรียมการคลอดแบบผ่าท้องออกหากแผลหายไม่ทัน