ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบการหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัส Myxovirus influenzae มี 3 ชนิดคือ ชนิด A, B, และ C

ไข้หวัดใหญ่ชนิด A เป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์ ชนิด B และ C ทำให้เกิดโรคเฉพาะในคน และความรุนแรงก็น้อยลงตามลำดับ

ไข้หวัดใหญ่ชนิด A ยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อยตามสัดส่วนของ H (Hemagglutinin) และ N (Neuraminidase) แอนติเจ้นที่ผิวของไวรัส เช่น H:N = 1:5 คือชนิดย่อย H5N1 สัดส่วนของแอนติเจ้นที่แตกต่างกันนี้ กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของแอนติเจ้นทั้งสองชนิดนี้ เกิดจากการรวมตัวของสารพันธุกรรมจากเชื้อต่างสายพันธุ์ หรือจากการเปลี่ยนแปลงในสารพันธุกรรมของเชื้อเพียงเล็กน้อย และทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ย่อย ๆ ทุก 1-3 ปี และการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะทำให้กลไกการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติเสียไปชั่วคราวอีกด้วย

อาการของโรค

อาการของไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อเข้าทางจมูกหรือเยื่อบุตาประมาณ 1-3 วัน ลักษณะโรคคือ ไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างฉับพลัน ไข้จะขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมง และอาจถึง 40 องศาเซลเซียส พบอาการหน้าแดง ตาแดง ไอแห้ง ๆ ได้บ่อย แต่ไม่พบอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาเจียน หรือท้องเดิน ในรายที่อาการไม่รุนแรง ไข้จะเป็นอยู่ 2-3 วันแล้วค่อย ๆ ลดลง แต่อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารจะหายไปใน 1-4 สัปดาห์

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงอาจพบการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในลักษณะที่คล้ายกับภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจพบภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ (Guillain-Barré syndrome) และ Reye's syndrome ในเด็กได้ และอาจมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกขณะหายใจ หรืออาการหอบรุนแรงจนเขียว ไอ เสมหะเป็นฟอง มีเลือดปน ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุและหญิงมีครรภ์ อาการหอบจะเริ่มอย่างฉับพลัน และจบลงอย่างรวดเร็วด้วยภาวะการหายใจล้มเหลว เอ็กซเรย์ปอดจะเห็นเป็นเงาทึบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งสองข้าง ตรวจเลือดจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของโรคไข้หวัดใหญ่คือ ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเกิดได้ทั้งในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรง เพราะเชื้อไวรัส influenza นี้ทำให้กลไกการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติเสียไป โดยเฉพาะในช่วง 4 วันแรก ในรายที่อาการไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นมาสักพักหนึ่ง แล้วกลับมามีไข้หนาวสั่น ไอแบบมีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ เมื่อตรวจเลือด จะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น และเอ็กซเรย์ปอดจะเห็นภาวะปอดอักเสบเฉพาะที่ชัดเจน

ในรายที่มีอาการรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนนี้จะเกิดเร็วขึ้น ไข้จะไม่ลดลงเลย เอ็กซเรย์ปอดอาจเห็นน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดร่วมกับเงาอักเสบของปอดทั้งกลีบ เชื้อที่พบมีทั้ง Pneumococcus, Staphylococcus, Hemophilus และเชื้อกรัมลบชนิดอื่น ๆ โอกาสแท้งบุตร หรือเสียชีวิตมีได้สูงหากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนขึ้น

การวินิจฉัย

อาการทางคลีนิคของโรคไข้หวัดใหญ่คล้ายกับโรคติดเชื้อเฉียบพลันทุกชนิด ในช่วงที่ไม่มีการระบาดของโรคไม่ควรส่งคัดกรองโรคนี้ทุกรายที่มีไข้มาใน 1-2 วันแรก เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในช่วงที่มีการระบาด การส่ง swab ของน้ำในจมูกหรือลำคอเพื่อคัดกรองเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทำให้สามารถคัดเลือกผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องติดตามอาการและภาวะแทรกซ้อนต่อไปได้ง่ายขึ้น การวินิจฉัยที่แน่ชัดคือการส่งตรวจ PCR ของเชื้อนี้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 วันถึงจะทราบผล

ที่สำคัญโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงแม้เป็นในช่วงที่มีการระบาด ที่มีอาการรุนแรงพบเพียงไม่ถึงร้อยละ 5 แต่อาการที่เริ่มจู่โจมใน 1-2 วันแรกทำให้ตื่นตระหนกกันไปมาก ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ เมื่อพ้นช่วง 1-3 วันแรกนี้ไปแล้วจะรู้สึกดีขึ้นตามลำดับ หากไม่เป็นไปตามนี้ค่อยไปตรวจเลือดหาสาเหตุของไข้ต่อ

การรักษา

ยา Tamiflu (Oseltamivir phosphate) เป็นยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ชนิด A และ B ที่อ้างว่าได้ผลดีเมื่อให้ยาภายใน 2 วันหลังเริ่มมีอาการ ทำให้มีการใช้ยานี้เป็นจำนวนมากในช่วงที่มีการระบาด แม้โรคอาจเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง แต่การใช้ยาที่ฟุ่มเฟือยเกินไปอาจทำให้เกิดการดื้อยาในอนาคตได้

ไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยต้องนอนพัก ดื่มน้ำให้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงที่ไข้ขึ้นและหลังไข้ลด รับประทานยาลดไข้ และยาบรรเทาอาการอื่น ๆ ตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรทานยาปฏิชีวนะจนกว่าจะพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ

ไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ซึมลง ไม่ค่อยมีสติแม้ช่วงที่ไม่มีไข้ ควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในผู้สูงอายุและสตรีที่ตั้งครรภ์ก็ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนให้ใกล้ชิด

การป้องกัน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 50-80 เพราะมีการเปลี่ยนแปลง antigenicity ของเชื้ออยู่เสมอ แอนติบอดี้ย์ที่เกิดขึ้นมีระยะเวลาประมาณหนึ่งปี ทำให้ต้องฉีดซ้ำอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีลักษณะเฉพาะต่อไปนี้ ควรได้รับวัคซีนเป็นประจำทุกปี

  • มีโรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจรูมาติก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย เป็นต้น
  • มีโรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
  • มีโรคเบาหวาน
  • มีอายุเกิน 65 ปี

ยาทามิฟลูก็ได้รับการรับรองให้ใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ยังไม่รับรองประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่ด้อยภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการรักษาอนามัยส่วนตัว โดยการล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการรับเชื้อจากมือของตัวเอง หลีกเลี่ยงการใช้มือเช็ดจมูกและขยี้ตา ไม่ควรเข้าไปอยู่ในที่ชุมชนแออัดที่ไม่มีอากาศถ่ายเทนาน ๆ เช่น ในโรงภาพยนต์ ในรถโดยสารปรับอากาศ ในเครื่องบิน และในสถานที่ชุมนุมที่มีคนมาก ๆ ผู้ที่สงสัยว่าจะติดโรคก็ควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการกระจายเชื่อไปสู่บุคคลอื่นเวลาไอ