กลุ่มยาเปิดช่องโพแทสเซียม
(Potassium channel openers, PCOs)

โพแทสเซียมเป็นธาตุที่จำเป็นมากสำหรับร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำ สมดุลกรด-ด่าง ช่วยสร้างโปรตีนจากกรดอะมิโนภายในเซลล์ เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตและกลูโคสส่วนเกินไปเป็นไกลโคเจนเพื่อใช้เป็นพลังงานในยามที่ร่างกายขาดอาหาร และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ ไต ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ และต่อมไร้ท่อ ในขบวนการดังกล่าว โพแทสเซียมซึ่งร้อยละ 98 อยู่ภายในเซลล์ จะเคลื่อนเข้า-ออกเซลล์โดยผ่านช่องโพแทสเซียมหลายชนิดที่ผนังเซลล์ เพื่อกำหนดจังหวะของขั้นตอนต่าง ๆ

ช่องโพแทสเซียม

ช่องโพแทสเซียมมีความหลากหลายมากทั้งในแง่โครงสร้างและลักษณะการทำงาน ปัจจุบันอาจแบ่งช่องโพแทสเซียมออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

  1. Two transmembrane: Inward rectifier potassium channel (Kir, KIR) พบที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผนังหลอดเลือด กล้ามเนื้อลาย เม็ดเลือด ผนังท่อไต สมอง และเบตาเซลล์ของตับอ่อน เป็นช่องที่เปิดให้โพแทสเซียมเข้าเซลล์ เพื่อให้ความต่างศักย์ที่ผิวเซลล์สูงขึ้น เซลล์จะได้ทำงานลดลง กลุ่มย่อยที่สำคัญของ Kir คือ KATP channel ซึ่งมียาหลายชนิดออกฤทธิ์ที่จุดนี้
  2. Four transmembrane: Underlying cause for leak currents in neuronal cells พบที่เซลล์ประสาท เป็นช่องที่เปิดให้โพแทสเซียมออกเซลล์ เพื่อให้เกิดสมดุลโพแทสเซียม
  3. Six transmembrane: Voltage gated potassium channel พบที่หลอดลม ช่องที่เปิดให้โพแทสเซียมออกเซลล์ เพื่อให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมหดตัว

ทั้งสามกลุ่มใหญ่ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้อีกหลายชนิด ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

โดยสรุป ช่องโพแทสเซียมส่วนใหญ่จะเปิดให้โพแทสเซียมออกจากเซลล์ เพื่อให้เซลล์ทำงานตามปกติ ยกเว้นช่องโพแทสเซียมชนิด Kir ซึ่งรวมถึง KATP จะเปิดให้โพแทสเซียมเข้าเซลล์ เพื่อลดการทำงานของเซลล์ลง ดังนั้น ยาที่กระตุ้น (เปิด) ช่องโพแทสเซียมชนิด Kir จะลดการทำงานของเซลล์ ขณะที่ยาที่ยับยั้ง (ปิด) ช่องโพแทสเซียมชนิดนี้จะเพิ่มการทำงานของเซลล์

ยาที่เกี่ยวข้องกับช่องโพแทสเซียมชนิด

กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กับช่องโพแทสเซียมชนิดต่าง ๆ นี้ได้มีความพยายามผลิตมาให้มีฤทธิ์จำเพาะกับอวัยวะเป้าหมาย เช่น ผนังหลอดเลือด หัวใจ ตับอ่อน สมอง เพื่อยับยั้งหรือกระตุ้นการทำงานของอวัยวะเป้าหมายที่ผิดปกตินั้นโดยรบกวนอวัยวะอื่นให้น้อยที่สุด แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีฤทธิ์กับอวัยวะอื่นด้วย ทำให้กลายเป็นผลข้างเคียงของยาไป

สำหรับยาลดความดันโลหิตกลุ่มเปิดช่องโพแทสเซียม (ชนิด Kir) นี้จะเปิดช่องโพแทสเซียมที่ผนังหลอดเลือดส่วนปลาย เพื่อให้หลอดเลือดคลายตัว แรงดันเลือดจึงลดลง แต่ยากลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไป เพราะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีฤทธิ์สั้น ต้องรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตัวที่มีจำหน่ายในประเทศไทยได้แก่ Diazoxide และ Minoxidil รายละเอียดของยาแต่ละตัวจะได้กล่าวถึงต่อไป