กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟา (α-blockers, ABs)

ตัวรับ α1 และ α2 กระจายอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนใหญ่จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว ยกเว้นที่กระเพาะอาหารและลำไส้จะคลายตัว ตัวรับ α2 บางส่วนอยู่ที่ปลายประสาทส่วน presynaptic ด้วย ทำหน้าที่เป็น negative feedback เวลาที่ปลายประสาทหลั่งสาร Norepinephrine ออกมามากเกินไป กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟาก็คล้ายกับกลุ่มยาปิดตัวรับเบตา คือจะไปแย่งจับกับตัวรับอัลฟาก่อนที่สารสื่อประสาทจะจับและทำงานได้ กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะต่าง ๆ จึงคลายตัว โดยเฉพาะที่หลอดเลือด ความดันโลหิตจึงลดลง ยากลุ่มนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  • Non-selective α-blockers ได้แก่ Phenoxybenzamine, Phentolamine, Tolazoline, Trazodon ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงจากเนื้องอก Pheochromocytoma ที่ต่อมหมวกไต ไม่แนะนำให้ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไป เพราะมัน block α2 ที่ presynaptic ด้วย ทำให้ Norepinephrine ที่หลั่งมาไม่มีอะไรยับยั้ง Norepinephrine จะไปกระตุ้นหัวใจ เกิดรีเฟล็กซ์ tachycardia คนไข้จะใจสั่นหลังกินยาทุกครั้ง
  • Selective α1-blockers กลุ่มนี้ชื่อยาจะลงท้ายด้วย -osin ได้แก่ Alfuzosin, Doxazosin, Prazosin, Tamsulosin, Terazosin, Silodosin ยากลุ่มนี้ก็มิได้เป็นยาแนะนำตัวแรกที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เพราะมักมี first dose orthostatic hypotension ทำให้ผู้ป่วยวิงเวียนเมื่อลุกจากท่านั่งหรือนอน แต่เป็นยาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยชายสูงอายุที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตด้วย เพราะยาจะช่วยคลายกล้ามเนื้อหูรูดที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกง่ายขึ้น
  • Selective α2-blockers ได้แก่ Atipamezole, Idazoxan, Mirtazapine, Yohimbine ยากลุ่มนี้ช่วยให้อวัยวะเพศของผู้ชายแข็งตัว แต่จะทำให้ใจสั่นและความดันโลหิตสูงขึ้นจากการที่มันปิด negative feedback นอกจากนั้น sympathetic activity ที่สมองที่สูงขึ้นก็อาจทำให้เครียด หงุดหงิด นอนไม่หลับ

ความจริงยา Carvedilol และ Labetalol ที่เป็นทั้ง α- และ β-blockers ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่ม Non-selective α-blockers ด้วย แต่ประโยชน์จากการปิดตัวรับเบตามีมากกว่า จึงจัดเข้าในกลุ่มปิดตัวรับเบตาที่ใช้รักษาโรคหัวใจล้มเหลวโดยเฉพาะ

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  2. ยากลุ่มนี้ไม่เป็นยาตัวแรกในการเริ่มรักษาตามแนวทางมาตรฐาน JNC-7 เพราะมักมีปัญหา orthostatic hypotension และ reflex tachycardia ยาที่พอจะใช้ได้คือ Prazosin และ Doxazosin ส่วนใหญ่แพทย์จะเลือกให้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาลดความดันกลุ่มอื่นในชายสูงอายุที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง

  3. ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงจากเนื้องอกฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) ของต่อมหมวกไต
  4. เนื้องอกชนิดนี้ความจริงพบได้น้อย มันจะหลั่งสาร Catecholamine (ซึ่งได้แก่ Epinephrine และ Norepinephrine) ตลอดเวลาหรือเป็นพัก ๆ ทำให้ความดันโลหิตสูงมาก ยาลดความดันโดยทั่วไปเอาไม่อยู่ Phenoxybenzamine เป็นยาตัวแรกที่ใช้ทันทีที่วินิจฉัยได้ เพื่อเตรียมลดความดันให้ปลอดภัยก่อนผ่าตัด

  5. ใช้รักษาภาวะอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
  6. ยาตัวที่ใช้คือ Yohimbine และ Phentolamine ข้อเสียคือมันอาจทำให้ใจสั่น มือสั่น ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดศีรษะ หงุดหงิด หน้าแดง คัดจมูก

  7. ใช้บรรเทาอาการปัสสาวะลำบาก/บ่อย จากภาวะต่อมลูกหมากโต
  8. ภาวะต่อมลูกหมากโตในชายสูงอายุมักพบร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะไม่ออก หรือออกแต่สะดุดบ่อย ยาตัวที่คลายกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะได้ดีคือ Prazosin, Doxazosin, และ Terazosin ส่วนผู้ที่ไม่มีความดันโลหิตสูงควรใช้ยา Tumsulosin หรือในชื่อการค้า Harnal® เพราะไม่ลดความดันโลหิตมาก

  9. ใช้ในโรคเรย์โนด์ (Raynaud's disease)
  10. โรคเรย์โนด์จะมีการหดตัวของหลอดเลือดขนาดเล็กที่บริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะเวลาที่โดนอากาศเย็น ทำให้นิ้วมือนิ้วเท้าเย็น ซีดหรือเขียว ชา และเมื่อได้รับความอบอุ่น เลือดกลับมาเลี้ยงส่วนปลายได้ ช่วงแรกจะมีอาการเหมือนโดนเข็มแหลม ๆ ทิ่มแทงตามนิ้วคล้ายอาการเป็นเหน็บเวลานั่งทับขานาน ๆ

    สาเหตุของโรคมีหลากหลาย เช่น การสูบบุหรี่, กลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue diseases), ยาบางชนิด, ภาวะหลังได้รับการบาดเจ็บของมือหรือเท้า, โรคของต่อมไร้ท่อ, การใช้นิ้วมือทำงานมาก, กลุ่มอาการ Carpal tunnel syndrome, โรคของหลอดเลือดแดงโดยตรง เป็นต้น

    กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟาซึ่งทำให้หลอดเลือดส่วนปลายขยายตัวจะช่วยบรรเทาอาการหากไม่สามารถรักษาที่สาเหตุได้ ยาตัวที่พบว่าช่วยทำให้ภาวะหนังแข็ง (sclerotic) ดีขึ้นด้วยมี 2 ตัว คือ Prazosin กับ Yohimbine (ให้เลือกใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง)

  11. ใช้ในภาวะ Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) ที่รุนแรง
  12. ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 มีแพทย์หลายท่านได้ทำการศึกษาการใช้ Prazocin ในภาวะที่ผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง พบว่าสามารถบรรเทาอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ฝันร้ายได้ [1], [2], [3] แต่ในปัจจุบันมีกลุ่มยากดจิตประสาทที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่ายา Prazocin แพทย์จึงลดการใช้ยาในกรณีนี้ลง

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) มักเป็นกับการใช้ยาช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการวิงเวียน หน้ามืดเป็นลมได้

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยถัดมาคือ ภาวะใจสั่น (reflex tachycardia) บวมจากภาวะน้ำคั่ง ง่วงนอน อ่อนเพลีย ซึมเศร้า และปากแห้ง

ยาในกลุ่ม Selective α1-blockers ที่ใช้ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ในบางรายอาจเกิดภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งแต่หลั่งอสุจิกลับเข้ากระเพาะปัสสาวะแทน

การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาในกลุ่ม Phosphodiesterase-5 inhibitor (PDE5I) เช่น Sildenafil อาจเสริมภาวะความดันเลือดต่ำของยาทั้งสอง จึงควรเริ่มใช้ PDE5I ในขนาดต่ำสุดเมื่อใช้ยากลุ่มปิดตัวรับอัลฟาเป็นประจำ

เนื่องด้วยผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมากและพบบ่อย ยากลุ่มนี้จึงไม่แนะนำให้เริ่มใช้คุมความดันเป็นตัวแรกในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป มักใช้เป็นยาเสริมเมื่อยากลุ่มอื่นที่ปลอดภัยกว่ายังลดความดันไม่ได้ตามเป้า

บรรณานุกรม

  1. Peskind, et al. 2003. "Prazosin reduces trauma-related nightmares in older men with chronic posttraumatic stress disorder." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Journal of Geriatric Psychiatry and Neurology. 2003 Sep;16(3):165–171. (10 กุมภาพันธ์ 2561).
  2. Taylor, et al. 2002. "The alpha1-adrenergic antagonist prazosin improves sleep and nightmares in civilian trauma posttraumatic stress disorder." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Journal of Clinical Psychopharmacology. 2002 Feb;22(1):82-5. (10 กุมภาพันธ์ 2561).
  3. Raskind, et al. 2007. "A Parallel Group Placebo Controlled Study of Prazosin for Trauma Nightmares and Sleep Disturbance in Combat Veterans with Post-Traumatic Stress Disorder." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Biological Psychiatry. 2007 Apr;61(8): 928–934. (10 กุมภาพันธ์ 2561).