ยาอะทีโนลอล (Atenolol)

ยาอะทีโนลอลเป็นยาปิดตัวรับเบตารุ่นถัดมาที่แก้ปัญหาของยาโพรพราโนลอลได้ทั้งหมด ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ตัวรับ β1 จึงไม่เกิดปัญหาหลอดลมตีบในขนาดยาปกติ ยาไม่ถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ จึงมีฤทธิ์ในกระแสเลือดนาน สามารถรับประทานได้เพียงวันละครั้ง และยาไม่ผ่าน blood-brain barrier จึงไม่มีผลข้างเคียงทางสมอง ยาอะทีโนลอลจึงเหมาะที่จะใช้รักษาโรคเรื้อรังที่ต้องลดการทำงานของหัวใจตลอดไป เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง, กลุ่มอาการ long QT syndrome, ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้ง Supraventricular และ Ventricular tachycardia

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาอะทีโนลอลขนาดปกติจะปิดตัวรับ β1 ที่หัวใจและผนังหลอดเลือด ทำให้หัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง และหลอดเลือดขยายตัว (ความดันโลหิตจึงลดลง) แต่ในขนาดสูงจะปิดตัวรับ β2 ที่หลอดลมด้วย ทำให้เหนื่อยหอบได้ถ้าใช้เกินขนาด

ยาถูกดูดซึมในทางเดินอาหารเพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งจะออกมากับอุจจาระ ส่วนที่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังกินเข้าไป มีระยะครึ่งชีวิตนาน 6-7 ชั่วโมง แล้วจะถูกขับออกทางไตเป็นหลัก

ยาอะทีโนลอลไม่เหมาะที่จะให้ร่วมกับกลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียมและยาดิจิทาลิส เพราะออกฤทธิ์กดหัวใจเหมือนกัน แต่สามารถให้ร่วมกับกลุ่มยาขับปัสสาวะ และกลุ่มยารองที่ใช้ในโรคความดันโลหิตสูง เช่น Methyldopa, Hydralazine, และ Prazosin ได้

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่
  2. ขนาดยาที่ใช้คือ 50-100 mg/วัน รับประทานวันละครั้ง ในผู้สูงอายุยามักมีฤทธิ์แรงกว่าคนทั่วไป จึงควรเริ่มที่ขนาด 25 mg การปรับยาควรรอให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่สัก 1 เดือนก่อน

    การรับประทานยาอะทีโนลอลอย่างต่อเนื่องแล้วบังเอิญขาดยาหรือหยุดยาทันทีอาจทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นต้องไม่ลืมทานยา หรือถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยน ควรลดมากินวันเว้นวันนาน 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะหยุด ถ้าความดันเริ่มสูงขึ้นในระหว่างนี้ก็ให้เริ่มยาขนานใหม่คู่กันไปเลย

    ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาอะทีโนลอลในเด็ก

  3. ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการแน่นอกเรื้อรัง (ร่วมกับยาอื่น)
  4. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะที่จะใช้ยานี้คือ ผู้ที่มีภาวะแน่นอกเรื้อรังที่เอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจแล้วยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือขยายหลอดเลือด (chronic stable angina), และผู้ที่มีอาการเจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจหดตัวเป็นพัก ๆ (vasospastic angina)

    ขนาดยาที่ใช้ในภาวะเหล่านี้คือ 25-50 mg วันละครั้ง

  5. ใช้คุมจังหวะการเต้นรัวของหัวใจในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  6. ในภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แล้วทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจเต้นรัวได้ กลุ่มยาปิดตัวรับเบตาจะเหมาะในรายที่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง และความดันโลหิตยังไม่ลดต่ำมาก

    ยาอะทีโนลอลในประเทศไทยยังไม่มีรูปฉีด จึงไม่เหมาะที่จะใช้แก้ภาวะหัวใจเต้นรัวในระดับวิกฤติ แต่ในต่างประเทศมี ขนาดที่ใช้คือ 5 mg ฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ ในเวลา 10 นาที ซ้ำได้อีกครั้งถ้ายังไม่ตอบสนอง จากนั้นควรเปลี่ยนเป็นยากินขนาด 50-100 mg วันละครั้งอีก 1 สัปดาห์ ก่อนกลับบ้านแพทย์จะปรับชนิดและขนาดของกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจขาดเลือดต่อไป

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ข้อห้ามในการใช้ยาอะทีโนลอล

  1. ผู้ที่มีชีพจรเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที
  2. ผู้ที่มีความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 100 mmHg
  3. ผู้ที่มีภาวะ heart block ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป
  4. ผู้ที่กำลังมีน้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจล้มเหลว

เนื่องจากยาอะทีโนลอลผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่ให้นมบุตร และไม่แนะนำให้ในหญิงมีครรภ์เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ยาอะทีโนลอลอาจทำให้อาการเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ใจสั่น เหงื่อออก) หายไป จึงควรระวังในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในขนาดสูง

เนื่องจากยาขับออกทางไตเป็นหลัก ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังควรลดขนาดยาลงหรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่น

ผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบได้น้อยมาก เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ภาวะซึมเศร้า ผื่นแพ้ยา ตาแห้ง

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ไม่ควรใช้ยากลุ่มปิดตัวรับเบตาร่วมกับกลุ่มยาเหล่านี้ เพราะจะเสริมฤทธิ์กดการทำงานของหัวใจมากเกินไป

  • กลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียม
  • กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะต่อไปนี้ Disopyramide, Amiodarone, Digitalis

การใช้กลุ่มยาปิดตัวรับเบตาร่วมกับยา Clonidine เพื่อลดความดันโลหิต ควรระวังเมื่อจะหยุดยาตัวใดตัวหนึ่ง โดยยาทั้งคู่ต้องค่อย ๆ ถอนออกช้า ๆ โดยลดขนาดลงประมาณครึ่งหนึ่งทุก 2-4 สัปดาห์ การหยุดยาทันทีอาจทำให้ความดันกระดอนกลับขึ้นไปสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อหยุด Clonidine ขณะที่ยังกิน Atenolol อยู่ จำไว้ว่าต้องถอน Atenolol ก่อน Clonidine และถ้าจะเปลี่ยนจาก Clonidine เป็น Atenolol ต้องถอน Clonidine จนหมด จากนั้นรออีก 1-2 สัปดาห์ค่อยเริ่มกิน Atenolol

การใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมกับอะทีโนลอลอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าเดิม เพราะฤทธิ์ของยาอะทีโนลอลด้อยลง

บรรณานุกรม

  1. "Atenolol Tablets." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drugs.com (24 มกราคม 2561).
  2. Stewart Jolly. "Atenolol – 30 Years of Life Cycle Management." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AstraZeneca (24 มกราคม 2561).