ยาคลอนิดีน (Clonidine)

การค้นพบที่สำคัญของโลกมักมาจากความบังเอิญ ในปีค.ศ. 1960 บริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (Boehringer Ingelheim) ตั้งใจจะสร้างยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ (โดยหยดเข้าจมูก) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก แต่กลับได้สารที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและทำให้ปากแห้งกับง่วงนอนแทน[1] การค้นพบนี้ทำให้บริษิทเบนเข็มมาพัฒนายาสูตรดังกล่าวเป็นยารับประทานเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาคลอนิดีนจัดเป็นยาลดความดันโลหิตรุ่นแรก ๆ ที่ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาคลอนิดีนมีโครงสร้างพื้นฐานของ Imidazoline ซึ่งกระตุ้นตัวรับอัลฟาตามอวัยวะต่าง ๆ โดยการแทนที่ ̶ CH2 ̶ ด้วย ̶ NH ̶ และแทนที่ ̶ H ̶ 2 ตัวด้วย Cl จะได้สูตรทางเคมีของคลอนิดีนที่เรียบง่ายแต่ออกฤทธิ์อย่างซับซ้อน

ยาคลอนิดีกระตุ้นตัวรับ α2 ที่เซลล์ประสาทก่อนประสาท (presynaptic neuron) จึงมีผลลดการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธทิกจากระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการทํางานของระบบพาราซิมพาเธทิก ทําให้ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจลดลง

ยาคลอนิดีนส่งผลต่อความดันเลือดเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นช่วงสั้น ๆ ซึ่งเป็นผลจากฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ α1 ที่ผนังหลอดเลือด ทําให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนระยะหลังเป็นช่วงที่ความดันเลือดลด ลงจากการออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง มีหลักฐานแสดงว่าฤทธิ์ลดความดันเลือดส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ยาคลอนิดีนจับกับ imidazoline receptor (ชนิด I1) ที่บริเวณ rostral ventrolateral medulla (RVLM) ด้วย แต่น้อย ปัจจุบันจึงมีการพัฒนายาตัวใหม่ในกลุ่มนี้ให้จับกับ I1 receptor ที่ RVLM เป็นหลัก จับกับ α2 receptor แต่น้อย (เช่น ยา Rilmenidine, ยา Moxonidine) ทำให้ยังคงมีฤทธิ์ลดความดันเลือดได้ แต่มีอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง และง่วงนอนน้อยกว่ายาคลอนิดีน

ยาคลอนิดีนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดประมาณร้อยละ 75 และมีระยะครึ่งชีวิตประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยทั่วไปแนะนําให้รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ยาครึ่งหนึ่งถูกขจัดออกทางไต จึงควรปรับลดขนาดในผู้ป่วยโรคไต อีกครึ่งหนึ่งถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ ยาจับกับโปรตีนในเลือดเพียง 30% ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลดขนาดในผู้ป่วยโรคตับแข็ง

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  2. ยาคลอนิดีนไม่ถูกจัดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะข้อเสียคือ การใช้ยานี้ในระยะยาวหากหยุดยากะทันหันอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต (รุนแรงกว่าการหยุดยาต้านตัวรับเบตากะทันหันเสียอีก) แต่ยาคลอนิดีนสามารถใช้เสริมกรณีที่ใช้ยาลดความดันรวมกันหลายกลุ่มแล้วยังไม่ได้ผล ขนาดยาควรเริ่มรับประทานครั้งละ 0.1-0.2 mg ทุก 12 ชั่วโมง (ส่วนมากแพทย์จะสั่งรับประทานหลังอาหารเช้าและก่อนนอน) ค่อย ๆ ปรับขึ้นทีละ 0.1 mg/วัน ทุกสัปดาห์ จนความดันลงและผู้ป่วยไม่ง่วงนอนจนเกินไป ขนาดสูงสุดไม่ควรเกินวันละ 2.4 mg ผู้ป่วยโรคไตที่รับการฟอกเลือดเป็นประจำไม่จำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำหลังฟอกเลือด เพราะยาถูกกำจัดออกไปน้อยมาก

    ในต่างประเทศยาคลอนิดีนมีรูปฉีดและแผ่นแปะผิวหนังทุก 7 วันด้วย แต่ในเมืองไทยยังมีแบบเม็ดอย่างเดียว

    นอกจากนั้น ยาคลอนิดีนแบบกินยังสามารถใช้ลดความดันกรณีรีบเร่งได้เช่นเดียวกับยาฉีดหรือหยดเข้าเส้นเลือดดำตัวอื่น ๆ โดยให้รับประทาน 0.1 mg ทุก 1 ชั่วโมง ความดันจะ]fลงช้า ๆ จนเป็นปกติเมื่อรับประทานไปทั้งสิ้น 0.7 mg [2, 3]

    ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาคลอนิดีนเพื่อลดความดันในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

  3. ใช้รักษาภาวะสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD)
  4. สามารถให้ในเด็กอายุ 6-17 ปี โดยให้รับประทานขนาด 0.1 mg วันละครั้ง ก่อนนอน เพิ่มได้ทีละ 0.1 mg ทุกสัปดาห์ สูงสุดไม่ควรเกิน 0.4 mg/วัน

    เมื่อจะหยุดยา ให้ลดทีละ 0.1 mg ทุก 3-7 วัน

  5. ใช้รักษาอาการปวดจากมะเร็ง
  6. หากอาการปวดไม่สามารถทุเลาได้จากยากลุ่มโอปิออยด์ อาจใช้ยาคลอนิดีนชนิดฉีด หยดเข้าไขสันหลังชั้น epidural ในขนาด 30 mcg/ชั่วโมง (ไม่ควรเกิน 40 mcg/ชั่วโมง)

  7. ใช้รักษาอาการลงแดงจากการขาดเหล้า *
  8. ขนาดที่ใช้คือรับประทานครั้งละ 0.3-0.6 mg ทุก 6 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะหายไป

  9. ใช้รักษาอาการกระวนกระวายจากการหยุดสูบบุหรี่ *
  10. ขนาดที่ใช้คือรับประทานครั้งละ 0.1 mg วันละครั้ง เพิ่มทีละ 0.1 mg ทุกวัน จนกระทั่งคุมอาการได้ (โดยทั่วไปใช้ขนาด 0.1-0.7 mg/วัน)

  11. ใช้รักษาอาการ Restless Legs Syndrome *
  12. ให้รับประทานครั้งละ 0.1-0.3 mg วันละครั้ง ก่อนนอน เพิ่มทีละ 0.1 mg ทุกวัน จนกระทั่งคุมอาการได้ (สูงสุดไม่เกิน 0.9 mg/วัน)

  13. ใช้รักษาอาการ Tourette's Syndrome *
  14. ขนาดยาคือ 0.0025-0.015 mg/kg/day รับประทานนาน 6-12 สัปดาห์ เมื่อจะหยุดยา ให้ลดทีละ 0.1 mg ทุก 3-7 วัน

  15. ใช้รักษาภาวะไตเป็นพิษจากยา Cyclosporin *
  16. ที่แนะนำคือใช้ชนิดแผ่นแปะขนาด 0.1-0.2 mg/day เปลี่ยนทุก 7 วัน

  17. ใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบในหญิงช่วงวัยหมดระดู (Menopausal Flushing) *
  18. ให้รับประทานขนาด 50 mcg (0.1 mg ครึ่งเม็ด) วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เพิ่มได้ถึง 0.4 mg เช้าและก่อนนอน เมื่อจะหยุดยา ให้ลดทีละ 0.1 mg ทุก 3-7 วัน

  19. ใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) *
  20. ให้รับประทานขนาด 25 mcg (0.1 mg ¼ เม็ด) วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนจะมีรอบเดือน

  21. ใช้รักษาอาการกระวนกระวายจากการหยุดยาเสพติด (โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์) *
  22. ให้รับประทานครั้งละ 0.1-0.3 mg ทุก 4-6 ชั่วโมง เพิ่มวันละ 0.1 mg สูงสุดไม่ควรเกิน 2.4 mg/วัน

  23. ใช้รักษาอาการปวดหลังแผลงูสวัดหาย (Postherpetic Neuralgia) *
  24. ให้รับประทานขนาด 0.1 mg วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ช่วงที่มีอาการ

  25. ใช้รักษาอาการทางจิต *
  26. ให้รับประทานขนาด 0.4-1.4 mg/วัน โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน

  27. ใช้ทดสอบโรค Pheochromcytoma *
  28. "Clonidine suppression test" เป็นการทดสอบว่าภาวะความดันโลหิตสูงเป็นพัก ๆ นี้เกิดจากเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิดที่หลั่งสาร Catecholamines หรือไม่ โดยให้รับประทานยาคลอนิดีนขนาด 0.3 mg แล้วเจาะเลือดหลังจากนั้นอีก 3 ชั่วโมง หาระดับของ Total plasma catecholamines ถ้าน้อยกว่า 500 pg/mL ถือว่า "มีโอกาสเป็น" ปัจจุบันการทดสอบนี้ไม่ค่อยได้ทำกันนักเพราะมียาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ ยาต้านซึมเศร้าหลายตัวที่ลดระดับของ Total plasma catecholamines ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาเหล่านั้นเป็นประจำ (ผู้ป่วยเหล่านั้นอาจมาใช้ Glucagon stimulation test แทน)

* ข้อ 4-14 ไม่ใช่ข้อบ่งใช้ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ อาการง่วงซึม, ปากแห้ง คอแห้ง, ท้องผูก, เบื่ออาหาร, แรงน้อยลง, และซึมเศร้า

สิ่งสําคัญที่ต้องคํานึงถึงในการใช้ยาคลอนิดีนคือ เมื่อใช้ยาในขนาดสูงกว่า 1 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างต่อเนื่องไประยะหนึ่งแล้วหยุดใช้ยาทันที ระบบประสาทซิมพาเธทิกที่เคยถูกกดจะกลับมาทํางานมากผิดปกติ จนเกิดภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ที่เรียกว่า withdrawal hypertension ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากต้องการหยุดใช้ยาต้องค่อย ๆ ปรับขนาดลงช้า ๆ ในขณะเดียวกันก็ควรทดแทนยาลดความดันขนานอื่นไปพร้อมกันด้วย

ยาตัวนี้ไม่ควรให้ในหญิงมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ปฏิกิริยาระหว่างยา

** การใช้ยาคลอนิดีนร่วมกับกลุ่มยาปิดตัวรับเบตา ห้ามหยุดคลอนิดีนก่อน เพราะจะทำให้ความดันสูงขึ้นมากจนอาจเกิดเส้นเลือดสมองแตก ต้องหยุดยาปิดตัวรับเบตาก่อนเสมอ และต้องรออีก 1-2 สัปดาห์ให้ยาปิดตัวรับเบตาหมดไปจากร่างกายก่อนถึงค่อยลดขนาดของคลอนิดีนลงจนหยุดได้

การใช้ยาคลอนิดีนร่วมกับกลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียม, กลุ่มยาปิดตัวรับเบตา, ยา Digitalis, หรือยา Amiodarone ควรระวังว่าอาจทำให้หัวใจเต้นช้าลงมาก

ไม่ควรใช้ยาคลอนิดีนร่วมกับยานอนหลับ ยาคลายเครียด หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงตัวอื่น ๆ

การใช้ยาต้านซึมเศร้าร่วมกับยาคลอนิดีนจะลดประสิทธิภาพลดความดันของยาคลอนิดีนลง

บรรณานุกรม

  1. Helmut Stähle. 2000. "A historical perspective: development of clonidine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Baillière's Clinical Anaesthesiology. (29 มีนาคม 2561).
  2. Houston MC. 1986. "Treatment of hypertensive emergencies and urgencies with oral clonidine loading and titration. A review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Arch Intern Med. 1986 Mar;146(3):586-9. (9 เมษายน 2561).
  3. Karachalios GN. 1986. "Hypertensive emergencies treated with oral clonidine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Eur J Clin Pharmacol. 1986;31(2):227-9. (9 เมษายน 2561).
  4. ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร. "Sympatholytic Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (25 มีนาคม 2561).
  5. "Clonidine (Rx)" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (31 มีนาคม 2561).