กลุ่มยาขยายหลอดเลือด (Direct vasodilators)

ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง ไม่ผ่านกลไกอื่น สามารถลดความดันได้ดี แต่มีฤทธิ์สั้น และมักทำให้เกิดอาการใจสั่นจากรีเฟล็กซ์ tachycardia จึงไม่เหมาะกับคนไข้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อน อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเรื่องการปกป้องหัวใจ, ไต, และโรคหลอดเลือดในระยะยาว จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้เสริมยากลุ่มอื่น หรือใช้ในภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ

ยากลุ่มนี้ความจริงยังจำแนกตามข้อบ่งใช้ได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ

  1. กลุ่มที่ใช้ลดความดันโลหิตทั่วไป ได้แก่ยา Hydralazine และ Sodium nitroprusside
  2. กลุ่มที่ขยายหลอดเลือดแดงโคโรนารีของหัวใจ (Anti-angina) ได้แก่ยากลุ่ม Nitrates อาทิ Nitroglycerin, Isosorbide dinitrate, Isosorbide mononitrate เป็นต้น
  3. กลุ่มที่ใช้ลดความดันเลือดในปอด (Pulmonary arterial hypertension, PAH) ได้แก่ยา Sildenafil, Beraprost, Iloprost, Bosentan, ambrisentan เป็นต้น (ยา Sildenafil ช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวด้วย)
  4. กลุ่มที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดแดงฝอยตีบตัน (Peripheral arterial disease, Intermittent claudication) ได้แก่ยา Cilostazol, Naftidrofuryl oxalate, Pentoxifylline, Inositol nicotinate เป็นต้น ยากลุ่มนี้ยับยั้งการจับตัวของเกร็ดเลือดที่หลอดเลือดฝอยเป็นหลัก ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดฝอยเป็นรอง

ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ยาที่ใช้ลดความดันโลหิตทั่วไปเท่านั้น

ผลของยาขยายหลอดเลือดต่อหัวใจ

กลุ่มยาที่มีผลให้หลอดเลือดขยาย (ทั้ง ACEIs, ARBs, DRIs, CCBs, ABs, และกลุ่มยาลดสารสื่อประสาท) ส่วนใหญ่จะขยายทั้งหลอดเลือดดำและแดงพอ ๆ กัน แต่บางกลุ่มบางตัวก็จะขยายหลอดเลือดแดงและดำได้ไม่เท่ากัน ดังตัวอย่างในตารางข้างล่างนี้

ยาขยายหลอดเลือดแดงขยายหลอดเลือดดำ
Minoxidil+++++
Hydralazine+++++
Diazoxide+++++
Nitroprusside+++++
Nitrates+
(++ for coronary artery)
++++

ยาที่ขยายหลอดเลือดแดงจะลดแรงต้านภายในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบตัว ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันแรงดันภายในหลอดเลือดที่ลดลงจะไปกระตุ้น baroreceptor reflex ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและบีบตัวแรงขึ้น (⬆ Cardiac output, CO) เส้นโค้งของ cardiac function จึงขยับขึ้นข้างบน เลือดที่ออกจากหัวใจไปถึงหลอดเลือดแดงฝอยจะไปกองอยู่ในหลอดเลือดดำมากขึ้น ปริมาณเลือดดำที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้แรงดันในหลอดเลือดดำและหัวใจห้องขวาบนซึ่งรับเลือดดำกลับมาฟอกใหม่เพิ่มขึ้น (⬆ Right atrial pressure, PRA) เส้น Venous return (VR) จึงขยับขึ้นจากเส้นสีดำเป็นเส้นสีแดง (โดย x-intercept หรือ mean circulatory filling pressure ไม่เปลี่ยนแปลง) จุดตัดสมดุลของเส้นการทำงานของหัวใจกับแรงดันเลือดดำจึงย้ายจาก A ไป B

ตรงกันข้าม ยาที่ขยายหลอดเลือดดำจะทำให้แรงดันในหลอดเลือดดำลดลง เลือดไปกองอยู่ในหลอดเลือดดำเป็นส่วนใหญ่ ไหลกลับเข้าหัวใจน้อยลง แรงดันในหัวใจห้องบนขวาที่รับเลือดกลับมาจึงลดลง (⬇ Right atrial pressure, PRA) และลดภาระที่หัวใจต้องฉีดเลือดออกไป ซึ่งเท่ากับเลือดที่เข้ามา (⬇ Cardiac workload, CO) หัวใจจึงเบาแรงลงและต้องการออกซิเจนในการทำงานน้อยลง ยากลุ่มนี้จึงช่วยผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ดี

เส้น Venous return (VR) ในกรณีนี้จะขยับลงจากเส้นสีดำเป็นเส้นสีแดง และเส้นโค้งการทำงานของหัวใจก็จะถอยต่ำลง ทำให้จุดตัดสมดุลของเส้นการทำงานของหัวใจกับแรงดันเลือดดำย้ายจาก A ไป B

การลดแรงดันในหลอดเลือดดำยังทำให้ proximal capillary hydrostatic pressure ลดลง ซึ่งจะลดการรั่วของสารน้ำออกจากหลอดเลือด อาการบวมน้ำจึงลดลง จึงมีการใช้ยาขยายหลอดเลือดดำรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (ร่วมกับยาตัวอื่น ๆ) เพราะมันช่วยลดภาวะน้ำท่วมปอด และ/หรือ ภาวะบวมที่เกิดจากหัวใจล้มเหลว (ฉีดเลือดออกไปไม่ไหว) ได้

ส่วนยาที่ขยายทั้งหลอดเลือดแดงและดำเท่า ๆ กันจะลดแรงต้านภายในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบตัว และเพิ่มการแช่เลือดอยู่ในหลอดเลือดดำ ปริมาณเลือดกลับเข้าหัวใจห้องบนขวาน้อยลง แรงดันใน Right atrium จึงลดลง(⬇⬇ Right atrial pressure, PRA) ส่งผลให้หัวใจมีภาระที่ต้องฉีดเลือดออกไปลดลง (⬇ Cardiac output, CO) เส้น Venous return (VR) จะขยับลงและถอยหลังจากเส้นสีดำเป็นเส้นสีแดง แต่ mean circulatory filling pressure ลดลงไม่มาก จึงทำให้จุดตัดสมดุลของเส้นการทำงานของหัวใจกับแรงดันเลือดดำจึงขยับจาก A ไป B เพียงเล็กน้อย

ยากลุ่มเหล่านี้จึงเหมาะที่จะใช้ในระยะยาว เพราะไม่ทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป และไม่ทำให้บวมน้ำมากไป

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้เพื่อลดความดันโลหิต
  2. ยา Hydralazine ในรูปยาเม็ดใช้เสริมยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่น ๆ เมื่อให้ขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผล ยาลดความดันได้ดีและรวดเร็วเมื่อให้ร่วมกับยาต้านตัวรับเบตาหรือยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์

    ยา Hydralazine และ Sodium nitroprusside ในรูปฉีดใช้ลดความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต (คือสูงจนหัวใจล้มเหลว) โดยเฉพาะยา Hydralazine แบบฉีดถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อลดความดันในหญิงมีครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (ความดันโลหิตสูงมากจนเลือดไปเลี้ยงทารกไม่ได้)

  3. ใช้เพื่อลดการทำงานของหัวใจในโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีตีบ
  4. ยาที่ใช้ในกรณีนี้ได้แก่ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) ซึ่งมีทั้งตัวที่ออกฤทธิ์สั้นและเร็ว เช่น Nitroglycerine หยดเข้าหลอดเลือดดำ หรือ Isosorbide dinitrate อมใต้ลิ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน และตัวที่ออกฤทธิ์ยาวนาน รับประทานเพียงวันละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังและยังไม่สามารถผ่าตัดหรือสวนหลอดเลือดแก้ไขได้ แต่ยากลุ่มนี้มักมี tolerance คือเมื่อรับประทานไปนาน ๆ ร่างกายจะตอบสนองต่อยาลดลง

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

กลุ่มยาขยายหลอดเลือดโดยตรงมักไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธทิกและระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-อัลโดสเตอโรน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและมีภาวะบวมน้ำ แต่อาการเหล่านี้สามารถระงับได้เมื่อใช้ร่วมกับยาปิดตัวรับเบตาและยาขับปัสสาวะ

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มไนเตรทคืออาการปวดศีรษะ หลายคนไม่สามารถทนได้จนต้องเลิกใช้ยา

บรรณานุกรม

  1. Richard E. Klabunde. "Vasodilator Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiovascular Pharmacology Concepts. (15 เมษายน 2561).