ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol)

ยาเมโทโพรลอลเป็น Cardioselective β-blocker เหมือนยาอะทีโนลอล ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ตัวรับ β1 จึงไม่เกิดปัญหาหลอดลมตีบในขนาดยาปกติ ยาถูกกำจัดที่ตับเป็นหลัก (ขณะที่ยาอะทีโนลอลถูกกำจัดทางไต) จึงมีระยะครึ่งชีวิตสั้นกว่า ต้องรับประทานวันละ 2 ครั้ง ความแตกต่างที่สำคัญคือยาเมโทโพรลอลมีฤทธิ์ปิดช่องโซเดียมที่ผิวเซลล์ (Membrane stabilizing activity, MSA) จึงยับยั้งการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของหัวใจได้ดีกว่ายาอะทีโนลอล ยาเมโทโพรลอลจึงเหมาะที่จะใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติมากกว่าจะใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว ยายังสามารถใช้ในโรคเรื้อรังที่ต้องลดการทำงานของหัวใจตลอดไป เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, กลุ่มอาการ long QT syndrome, และภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้ง Supraventricular และ Ventricular tachycardia

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาเมโทโพรลอลถูกพัฒนาหลังจากยาอะทีโนลอลไม่นาน เนื่องจากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนหนึ่งมีภาวะไตเสื่อม-ไตวาย การใช้ยาอะทีโนลอลซึ่งถูกกำจัดที่ไตเป็นหลักเริ่มไม่ปลอดภัย หลายบริษัทจึงเริ่มหันมาพัฒนายาปิดตัวรับเบตาตัวใหม่ที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับอะทีโนลอลแต่ถูกกำจัดที่ตับแทน

ยาเมโทโพรลอลขนาดปกติจะปิดตัวรับ β1 ที่หัวใจและผนังหลอดเลือด ทำให้หัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง และหลอดเลือดขยายตัว (ความดันโลหิตจึงลดลง) แต่ในขนาดสูงจะปิดตัวรับ β2 ที่หลอดลมด้วย ทำให้เหนื่อยหอบได้ถ้าใช้เกินขนาด

ยาถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเพียง 50% แต่แทรกซึมเข้าเนื้อเยื่อได้ดีเพราะเป็น lipophilic (ละลายได้ดีในไขมัน) ยาเริ่มออกฤทธิ์ลดชีพจรภายในเวลา 1 ชั่วโมงหลังกินเข้าไป จากนั้นจะถูกเมตาบอไลต์ด้วยเอ็นไซม์ CYP2D6 จากตับ ซึ่งร้อยละ 2-8 ของประชากรโลกไม่มีเอ็นไซม์นี้ ผู้ที่ตอบสนองต่อยาเมโทโพรลอลมากตั้งแต่ขนาดต่ำ ๆ ควรสงสัยว่ามีภาวะขาดเอ็นไซม์ และไม่ควรจะใช้ยาตัวนี้ ยาเมโทโพรลอลผ่านรกและออกมาทางน้ำนมได้ หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรจึงต้องระวังฤทธิ์ยาในทารก ยาผ่านเข้าสมองได้บ้าง แต่ไม่ปรากฏผลข้างเคียงมากนัก ยามีระยะครึ่งชีวิตนาน 3-4 ชั่วโมงในคนปกติ ในคนไข้โรคตับจะมีระยะครึ่งชีวิตนานขึ้นเป็น 7.2 ชั่วโมง ถ้ายังจำเป็นต้องใช้ควรให้ยาเพียงวันละครั้ง

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันภายใน 48 ชั่วโมงแรก
  2. ขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจมักเต้นเร็วและต้องการออกซิเจนมาก แต่เลือดพาออกซิเจนมาไม่ได้ การลดการเต้นของหัวใจลงมีความสำคัญมาก เมโทโพรลอลเป็นหนึ่งในยาที่ช่วยลดการเต้นของหัวใจ โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 5 mg ทุก 2 นาที x 3 ครั้ง จากนั้นอีก 15 นาทีให้ฉีดอีก 5 mg ระหว่างนั้นต้องปรับปริมาณน้ำเกลือเข้าให้พอดีไม่ให้ความดันต่ำจนเกินไปและไม่ให้เกินจนน้ำท่วมปอด จากนั้นให้รับประทาน 50 mg ทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วคุมต่อด้วยขนาด 50-100 mg ทุก 12 ชั่วโมง

    ในรายที่อาการเป็นมากจนไม่สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำได้ให้รับประทานขนาด 25-50 mg ทุก 6 ชั่วโมง เป้าหมายชีพจรคือ 60-90 ครั้ง/นาที

  3. ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
  4. เป็นการลดการทำงานของหัวใจลง หากมีอาการน้อย เหนื่อยตอนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (NYHA class II) ให้เริ่มที่ขนาด 25 mg/วัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มทุก 2 สัปดาห์ จนอาการดีขึ้น เป้าหมายชีพจรอยู่ที่ 50-70 ครั้ง/นาที และค่าความดันตัวบน > 100 มิลลิเมตรปรอท ขนาดยาสูงสุดไม่ควรเกิน 200 mg/วัน

    หากมีอาการเหนื่อยแม้ในขณะพัก (NYHA class III ขึ้นไป) ให้เริ่มที่ขนาด 12.5 mg/วัน

    ยาควรแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง

  5. ใช้คุมความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูง
  6. ขนาดยาที่ใช้คือ 25-100 mg/วัน แบ่งกินวันละ 2 ครั้ง ในผู้สูงอายุยามักมีฤทธิ์แรงกว่าคนทั่วไป จึงควรเริ่มที่ขนาด 25 mg/วัน การปรับยาควรรอให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่สัก 2 สัปดาห์ ขนาดสูงสุดไม่ควรเกิน 400 mg/วัน

    ในเด็กใช้ขนาด 1 mg/kg/day (สูงสุดไม่เกิน 200 mg/day) แบ่งให้ 2 เวลาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

    การรับประทานยาเมโทโพรลอลอย่างต่อเนื่องแล้วบังเอิญขาดยาหรือหยุดยาทันทีจะทำให้ชีพจรเต้นเร็วและความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้นต้องไม่ลืมทานยา หรือถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยน ควรลดขนาดหรือวิธีกินยาเหลือวันละครั้งก่อน ค่อย ๆ ลดทีละขั้นทุก 1 สัปดาห์จนเหลือ ≤ 25 mg/วัน จึงหยุด ในระหว่างนั้นหากความดันหรือชีพจรผิดปกติให้เริ่มกินยาตัวใหม่

  7. ใช้รักษาอาการเจ็บอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)
  8. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะที่จะใช้ยานี้คือ ผู้ที่มีภาวะแน่นอกเรื้อรังที่เอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจแล้วยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือขยายหลอดเลือด (chronic stable angina), และผู้ที่มีอาการเจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจหดตัวเป็นพัก ๆ (vasospastic angina)

    ขนาดยาที่ใช้ในภาวะเหล่านี้คือ 25-200 mg/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง

  9. ใช้คุมจังหวะการเต้นรัวของหัวใจ โดยเฉพาะชนิด Atrial fibrillation/flutter
  10. กรณีฉุกเฉิน ให้ฉีดขนาด 2.5-5 mg เข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ ทุก 5 นาที (รวมไม่เกิน 15 mg) จากนั้นให้รับประทานต่อขนาด 25-100 mg ทุก 12 ชั่วโมง

    กรณีไม่รีบด่วน ให้รับประทานครั้งละ 25-100 mg เช้าและเย็น

  11. ใช้ป้องกันการกำเริบของโรคไมเกรนที่เป็นบ่อยหรือรุนแรง
  12. ให้รับประทานครั้งละ 50-100 mg เช้าและเย็น ตลอดไป

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผู้ป่วยโรคตับควรใช้ยาในขนาดต่ำมาก ๆ และรับประทานเพียงวันละครั้ง ผู้ป่วยโรคไตไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา

ข้อห้ามในการใช้ยาเมโทโพรลอล

  1. ผู้ที่มีชีพจรเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที
  2. ผู้ที่มีความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 100 mmHg
  3. ผู้ที่มีภาวะ heart block ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป
  4. ผู้ที่กำลังมีน้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจล้มเหลว

เนื่องจากยาเมโทโพรลอลผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่ให้นมบุตร และไม่แนะนำให้ในหญิงมีครรภ์เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ยาเมโทโพรลอลอาจทำให้อาการเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ใจสั่น เหงื่อออก) หายไป จึงควรระวังในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในขนาดสูง

ผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ตาพร่า วิงเวียนเป็นลม เหงื่อออก บวม อ่อนเพลีย สับสน

ยาเมโทโพรลอลในขนาดสูงสามารถปิดตัวรับ β2 ที่ผนังหลอดลมได้ ทำให้หลอดลมตีบ เกิดอาการไอ หอบ เหนื่อย หายใจมีเสียงดังวี๊ด ๆ

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ไม่ควรใช้ยากลุ่มปิดตัวรับเบตาร่วมกับกลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียม และกลุ่มยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น Disopyramide, Amiodarone, Digitalis เพราะจะเสริมฤทธิ์กดหัวใจมากเกินไป

เนื่องจากยาถูกกำจัดโดยเอ็นไซม์ CYP2D6 ระดับยาเมโทโพรลอลจะสูงขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับยาที่ยับยั้งเอ็นไซม์นี้ เช่น

  • ยาต้านซึมเศร้า: Fluvoxamine, Fluoxetine, Paroxetine, Sertraline, Bupropion, Clomipramine, และ Desipramine
  • ยาทางจิตเวช: Chlorpromazine, Fluphenazine, Haloperidol, และ Thioridazine
  • ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ: Quinidine, Propafenone
  • ยาต้านไวรัสเอดส์: Ritonavir
  • ยาแก้แพ้: Diphenhydramine
  • ยารักษามาลาเรีย: Hydroxychloroquine, quinidine
  • ยาฆ่าเชื้อรา: Terbinafine
  • ยาลดความดันโลหิต: Hydralazine

การใช้กลุ่มยาปิดตัวรับเบตาร่วมกับยาปิดตัวรับอัลฟา เช่น Guanethidine, Betanidine, Reserpine, alpha-Methyldopa, Clonidine, Prazosin จะทำให้ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของยาปิดตัวรับอัลฟาแรงขึ้น และควรระวังเมื่อจะหยุดยาตัวใดตัวหนึ่ง โดยยาทั้งคู่ต้องค่อย ๆ ถอนออกช้า ๆ โดยลดขนาดลงประมาณครึ่งหนึ่งทุก 2-4 สัปดาห์ การหยุดยาทันทีอาจทำให้ความดันกระดอนกลับขึ้นไปสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อหยุด Clonidine ขณะที่ยังกิน Metoprolol อยู่ จำไว้ว่าต้องถอน Metoprolol ก่อน Clonidine และถ้าจะเปลี่ยนจาก Clonidine เป็น Metoprolol ต้องถอน Clonidine จนหมด จากนั้นรออีก 1-2 สัปดาห์ค่อยเริ่มกิน Metoprolol

การใช้ยารักษาไมเกรนกลุ่ม Ergot Alkaloid ร่วมกับเมโทโพรลอลอาจทำให้ฤทธิ์หดหลอดเลือดส่วนปลายของ Ergot Alkaloid แรงขึ้นจนนิ้วมือนิ้วเท้าเย็น/เขียวได้

บรรณานุกรม

  1. "Metoprolol." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (20 กุมภาพันธ์ 2561).
  2. "Metoprolol (Rx)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (20 กุมภาพันธ์ 2561).
  3. "Metoprolol." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drug.com (20 กุมภาพันธ์ 2561).