ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil)

ยาไมน็อกซิดิลเป็นยาที่ออกฤทธิ์เปิดช่องโพแทสเซียมที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว ผลคือความดันโลหิตลดลง จัดเป็นยาลดความดันตัวที่แรง ได้ผลแม้ในผู้ป่วยไตวายที่ดื้อต่อยาลดความดันตัวอื่น แต่ข้อเสียคือจะมีรีเฟล็กซ์ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกใจสั่น นอกจากนั้นยายังทำให้ผมและขนดกขึ้นด้วย กลไกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้ยาไมน็อกซิดิลเพื่อปลูกผมกันมากกว่าใช้เพื่อลดความดันโลหิต

ที่มาและการออกฤทธิ์:

บริษัทอัพจอนห์เริ่มพัฒนายาไมน็อกซิดิลตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1950s เพื่อเป็นยารักษาแผล การทดลองในสุนัขไม่ทำให้แผลหาย แต่พบว่ายาขยายหลอดเลือดและทำให้ความดันโลหิตลดลงดีมาก ในปีค.ศ. 1963 จึงเบนเข็มมาพัฒนาเป็นยาลดความดันโลหิต และได้รับอนุมัติให้จำหน่ายได้ในปีค.ศ. 1979 ถัดจากนั้นเพียงปีเดียวก็มีรายงานผลข้างเคียงของไมน็อกซิดิลที่ทำให้ผู้ป่วยศีรษะล้านมีผมกลับคืนมา ซึ่งความจริงเป็นผลข้างเคียงที่อัพจอห์นทราบอยู่แล้ว แต่พยายามรายงานให้เป็นผลข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรงเพื่อให้ได้รับการอนุมัติสำหรับยาลดความดัน

แม้ยังไม่สามารถอธิบายว่ายาไมน็อกซิดิลทำให้ผมและขนขึ้นได้อย่างไร แต่รายงานในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ซึ่งดังที่สุดในขณะนั้นทำให้อัพจอห์นต้องหันมาวิจัยยาไมน็อกซิดิลเพื่อรักษาศีรษะล้านก่อนที่บริษัทอื่นจะช่วงชิงไป ในปีค.ศ. 1988 อัพจอห์นวางตลาดยาทาหนังศีรษะชื่อ "รีเกน" (Regaine) เพื่อกระตุ้นผมงอก ยาได้ผลดีมาก ผู้ป่วยแทบทุกรายได้เส้นผมกลับคืนมาหลังใช้ไป 3 เดือน ยารีเกนกลับเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกมากกว่าชื่อยาโลนิเตนที่ใช้ลดความดันเดิม

ยาไมน็อกซิดิลแบบทาไม่มีผลต่อความดันโลหิต กลไกการกระตุ้นผมงอกยังไม่กระจ่างชัด แต่คาดว่ายาดูดซึมเข้าทางผิวหนัง ไปขยายหลอดเลือดฝอยที่เลี้ยงรากผม ทำให้เส้นผมเจริญเติบโตได้ดีขึ้น จากการศึกษาก็พบว่ารากผมของผู้ใช้มีขนาดใหญ่ขึ้น และเส้นผมมีระยะ Anagen/Telogen ยาวขึ้น ซึ่งเห็นผลหลังใช้ติดต่อกันนาน 3 เดือนขึ้นไป

ยาไม่น็อกซิดิลแบบรับประทานดูดซึมได้ดีมาก ได้ระดับสูงสุดในเลือดเพียง 1 ชั่วโมง สามารถลดความดันได้ภายในครึ่งชั่วโมงหลังรับประทาน โดยยาไปกระตุ้นช่องโพแทสเซียม-เอทีพีเอส (KATP) ที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัว ความดันโลหิตจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ยาไม่จับกับพลาสมาโปรตีนเลย มีระยะครึ่งชีวิตประมาณ 4 ชั่วโมง โดยยาจะถูกเมตาบอไลต์ที่ตับแล้วขับออกทางปัสสาวะ

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ตอบสนองต่อยาอื่น หรือไม่สามารถใช้ยาอื่นได้
  2. ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปเริ่มรับประทานขนาด 5 mg/วัน วันละครั้ง (ถ้าความดันตัวล่างลด > 30 mmHg ให้แบ่งเป็น 2 มื้อ) ค่อย ๆ เพิ่มทีละ 2.5-5 mg ทุก 3 วัน จนคุมความดันได้และคนไข้ไม่วิงเวียนหรือใจสั่นหลังกิน ขนาดสูงสุดไม่เกินวันละ 100 mg

    ส่วนเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปีเริ่มขนาด 0.2 mg/kg/day วันละครั้ง หรือแบ่งเป็น 2 ครั้งถ้าความดันค่าล่างลดต่ำลงมาก ค่อย ๆ เพิ่มทีละ 2.5-5 mg ทุก 3 วัน จนคุมความดันได้และคนไข้ไม่วิงเวียนหรือใจสั่นหลังกิน ขนาดสูงสุดไม่เกินวันละ 50 mg

    ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องลดขนาดยาลง

    ** ห้ามใช้ยาไมน็อกซิดิลลดความดันในผู้ป่วยโรค Pheochromocytoma

    ผลข้างเคียงที่สำคัญอีกประการหนึ่งของยาไมน็อกซิดิลชนิดรับประทาน คือ ทำให้มีน้ำและเกลือคั่งในร่างกาย อาการจะเป็นลักษณะบวม น้ำหนักตัวขึ้น ผู้ป่วยโรคไตวาย, โรคหัวใจ อาจเกิดภาวะน้ำเกินจนหัวใจวายหรือมีน้ำท่วมปอดได้

  3. ใช้รักษาภาวะหนังศีรษะล้าน
  4. ยานี้ยังไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กเพราะมีรายงานว่าทำให้เด็กมีขนดกขึ้นตามร่างกายด้วย และด้วยเกรงว่าเด็กอาจซนเอายาเข้าปาก ยาจะไปลดความดันโลหิตลงอย่างรวดเร็วจนอาจเกิดอันตราย

    ยามีแบบโฟมและแบบน้ำ แบบโฟมมีความเข้มข้นเดียวคือ 5% ใช้ครั้งละครึ่งฝา แบบน้ำมีความเข้มข้น 2% และ 5% ใช้ครั้งละ 1 มิลลิลิตร ก่อนทายาให้ล้างทำความสะอาดบริเวณศีรษะที่จะทายา เช็ดให้แห้ง เทยาลงบนหนังศีรษะส่วนที่ต้องการกระตุ้นให้เส้นผมงอก ลูบเบา ๆ ให้ทั่วบริเวณ ทิ้งไว้ให้แห้งตามธรรมชาติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ห้ามใช้ความร้อนเป่าให้ผมแห้ง (ยาอาจติดไฟได้) ทายาวันละ 2 ครั้ง ระวังมิให้ยาสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น ล้างมือให้สะอาดหลังทายาทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องสระผมทุกครั้งหลังทายา ให้สระผมด้วยแชมพูที่อ่อนโยนสัปดาห์ละ 3 ครั้งตามปกติ

    ยาอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังบริเวณสัมผัส บวม แดง และคันได้ ควรระวังไม่ให้ยาเข้าตา จมูก ปาก และอย่าใช้ยามากจนเกินไป เพราะยาอาจดูดซึมเข้ากระแสเลือดมากจนความดันโลหิตต่ำ ซึ่งจะแสดงอาการในลักษณะใจสั่น วิงเวียน เป็นลม หายใจไม่พอ เส้นผมจะค่อย ๆ งอกในเวลา 3-6 เดือน บางรายอาจมีขนที่ใบหน้ายาวขึ้นด้วย

    ครีมพวก Petrolatum (วาสลีน), วิตามินเอ, สเตียรอยด์ อาจกระตุ้นการดูดซึมของยารีเกน