กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ (Skeletal muscle relaxants)

ในร่างกายเรามีกล้ามเนื้อ 3 ชนิด คือ กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle), กล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle) หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า "กล้ามเนื้อ" เฉย ๆ, และกล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle) ซึ่งเป็นผนังชั้นในของกระเพาะ ลำไส้ และอวัยวะภายในอื่น ๆ ที่หดตัวได้

กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบเป็นกล้ามเนื้อชนิดที่เราสั่งการมันไม่ได้ มันทำงานตามการวิถีของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ส่วนกล้ามเนื้อลายซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เกาะติดกับกระดูกหรือผิวหนัง ช่วยให้เราเคลื่อนไหวและหยิบจับสิ่งของได้นั้น ทำงานตามการควบคุมของเรา

กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ หมายถึงยาที่ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อลายเท่านั้น

ประเภทของยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ คือ

  1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง (Centrally acting muscle relaxants)
  2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ตรงรอยต่อระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ (Neuromuscular blocking muscle relaxants)
  3. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อโดยตรง (Directly acting muscle relaxants)

กลุ่มที่ 2 และ 3 อาจถูกจัดรวมกันเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์นอกระบบประสาทส่วนกลาง (Peripheral acting muscle relaxants)

มีเพียงยากลุ่มที่ 2 เท่านั้นที่เราทราบกลไกการออกฤทธิ์ได้ละเอียดและชัดเจนที่สุด ถือเป็นยากลุ่มอันตรายมาก มีที่ใช้ในห้องผ่าตัดและห้องไอซียูภายใต้เครื่องช่วยหายใจเท่านั้น

ส่วนกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายในการออกฤทธิ์มากที่สุด ยาในกลุ่มนี้หลายตัวยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด แต่เป็นกลุ่มที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่เป็นยากิน ราคาไม่แพงนัก และหลายบริษัทผลิตออกมาในรูปยาผสมกับยาแก้ปวด

พยาธิสภาพการหดตัวของกล้ามเนื้อ

ปกติกล้ามเนื้อคนเราจะมีความตึงตัวพอเหมาะที่จะเริ่มต้นทำงานได้ทันที และมีช่วงความยาวของการหด-เหยียดที่จำกัด การหดตัวของกล้ามเนื้อมีได้ 3 ลักษณะ คือ

A. Concentric contraction คือการเพิ่มความตึงและลดความยาวของมัดกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของวัตถุไปในทิศทางที่กล้ามเนื้อหดตัว การหดตัวในลักษณะนี้ทำให้อวัยวะที่มันยึดเกาะอยู่ในท่างอ (หรือเหยียด แล้วแต่มัดกล้ามเนื้อนั้นจะทำงานในลักษณะใด) พยาธิสภาพทางสมองส่วนใหญ่จะทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนหดตัวตลอดเวลา ทำให้ข้อศอกงอ ข้อมือบิดเข้าหาตัว หรือขาเหยียดตรง นานเข้าจะเกิดการแข็ง ผิดรูป จับเหยียดหรือจับงอได้ยาก ลักษณะนี้เรียกว่า กล้ามเนื้อแข็งเกร็งผิดรูป (spasticity) ยาคลายกล้ามเนื้อบางตัวมีข้อบ่งชี้สำหรับพยาธิสภาพในลักษณะนี้

B. Eccentric contraction คือการเพิ่มความตึงแต่ยืดความยาวของมัดกล้ามเนื้อ เพื่อรับน้ำหนักของวัตถุและเคลื่อนวัตถุไปในทิศตรงกันข้ามกับที่เส้นใยกล้ามเนื้อยึดเกาะ หากน้ำหนักของวัตถุมากกว่าแรงตึงตัวของกล้ามเนื้ออาจถ่วงให้กล้ามเนื้อยืดจนเลยช่วงความยาวปกติไป เช่นเวลาข้อเท้าพลิก น้ำหนักตัวเราเกินกว่ากล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ที่ข้อเท้าจะทานไหว จึงเกิดอาการแพลง (sprain) ใยกล้ามเนื้ออาจยืดจนฉีกขาดบางส่วน แต่มักสมานได้เองเมื่อกล้ามเนื้อได้พักสักระยะหนึ่ง

C. Isometric contraction คือการเพิ่มความตึงแต่ความยาวของมัดกล้ามเนื้อคงที่ เหมือนการเกร็งค้างไว้ กล้ามเนื้อที่เกร็งตัวอยู่นาน เช่นเวลาเรายืนนาน ๆ หรือเราเกร็งตัวเพราะอากาศหนาว นานเข้าจะเกิดการหดเกร็งคล้ายตะคริว (spasm) และเจ็บปวดมาก การนวดให้คลายต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 20 นาที เพราะในระยะแรกจะหดเกร็งเข้ามาอีก ยาคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ระบุข้อบ่งใช้สำหรับพยาธิสภาพในลักษณะนี้ แต่ไม่มียาตัวใดออกฤทธิ์เร็วกว่าการนวด

เมื่อเราเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ หรือทำงาน กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายจะทำงานผสมผสานกันใน 3 ลักษณะนี้ตลอดเวลา ดังนั้น หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น พยาธิสภาพจึงอาจเป็นแบบผสมผสาน