ยารีเซอร์พีน (Reserpine)

ยารีเซอร์พีนเป็นสารอัลคาลอยด์ (alkaloid) ได้มาจากเปลือกรากแห้งของต้นระย่อมน้อย (Rauvolfia) ถูกใช้เป็นยากล่อมประสาท, ลดความดันโลหิต, แก้ภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ ตั้งแต่สมัยโบราณ ยาเริ่มได้รับความนิยมในต้นทศวรรษที่ 1950 เมื่อมหาตมะคานธีใช้ยานี้เป็นยากล่อมประสาท ต้นระย่อมน้อยมีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ถูกสกัดและจำหน่ายเป็นยาเม็ดรีเซอร์พีนครั้งแรกคือ Rauvolfia serpentina หรือที่เรียกกันว่า "รากงูอินเดีย" (Indian snakeroot) ต่อมาพบว่าสายพันธุ์ Rauwolfia vomitoria ที่ขึ้นในประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา มีปริมาณของยารีเซอร์พีนมากกว่าสายพันธุ์ของอินเดียถึงสองเท่า[2] ยารีเซอร์พีนถูกใช้เป็นยาลดความดันโลหิตหลักมากว่า 3 ทศวรรษ (ปีค.ศ. 1954-1989) ต้นระย่อมของไทยก็จัดเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน มีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ บำรุงประสาท ช่วยให้เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ และลดความดันโลหิต [3]

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยารีเซอร์พีนเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ จึงมีโครงสร้างซับซ้อนกว่ายาเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ยายับยั้งการหุ้มสารโดปามีน (DA) เข้าไว้ในถุง (transmitter vesicles) ภายในปลายประสาทซิมพาเธทิก ทำให้สารสื่อประสาทนอร์อีพิเนฟริน (NE) ไม่ถูกสร้างขึ้น อีกทั้งยังยับยั้งการนำ NE ที่ใช้แล้วกลับเข้ามาบรรจุในถุงใหม่ ทําให้ NE มีปริมาณลดลง มีผลทำให้หัวใจเต้นช้าลง และความดันโลหิตลดลง แต่เนื่องจากยารีเซอร์พีนสามารถเข้าสู่สมองและออกฤทธิ์เช่นเดียวกับที่ปลายประสาท จึงทำให้ NE ในสมองลดลง การสั่งการต่าง ๆ ภายในสมองจึงช้าลงไปด้วย

เชื่อกันว่าฤทธิ์ลดความดันเลือดส่วนหนึ่งเป็น ผลมาจากการออกฤทธิ์ของยาในสมอง เพราะระดับยาในเลือดไม่สัมพันธ์กับระยะเวลาการลดความดันเลือด ภายหลังการให้ยา ระดับยาในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ฤทธิ์ลดความดันเลือดยังสามารถคงอยู่ได้อีกเป็นเวลานาน และยังเชื่อว่ายามีผลยับย้้ง adrenergic vesicles แบบถาวร (irreversible) ทำให้ความดันยังคงต่ำแม้หยุดรับประทานยาไปแล้วหลายวัน

ยารีเซอร์พีนจับกับโปรตีนในเลือดถึงร้อยละ 95 มีระยะครึ่งชีวิตช่วงแรกเพียง 5 ชั่วโมง จึงเริ่มเห็นฤทธิ์ลดความดันค่อนข้างช้า (5-7 วัน) แต่เมื่อรับประทานไปนาน ๆ ระยะครึ่งชีวิตจะยาวถึง 200 ชั่วโมง ยาจึงสามารถรับประทานเพียงวันละครั้ง

ยารีเซอร์พีนไม่รบกวนการทํางานของ baroreceptor reflex จึงพบภาวะความดันต่ำขณะลุก (postural hypotension) ได้น้อยมาก

โดยภาพรวมทั้งหมดจะเห็นว่ายารีเซอร์พีนเหมาะที่จะใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นอย่างยิ่ง เว้นแต่การรบกวนการเก็บสารสื่อประสาทในสมองอาจทําให้เกิดอาการซึม, เพลีย, ฝันร้าย, เกิดความภาวะซึมเศร้า, หรือเกิด extrapyramidal movement แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยเมื่อใช้ยาในขนาดต่ํา (0.25 มิลลิกรัม/วัน) อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงควรหยุดยาทันทีที่ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้า

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  2. ยากลุ่มนี้ไม่เป็นยาตัวแรกในการเริ่มรักษาตามแนวทางมาตรฐาน JNC-7 เพราะผลข้างเคียงเรื่องซึมเศร้า มักใช้เป็นยาเสริมในผู้ป่วยไตวายที่มีความดันโลหิตสูงมากจนยาหลักคุมความดันไม่ได้ตามเป้า ขนาดยาเริ่มต้นคือ 0.5 mg รับประทานวันละครั้ง เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เมื่อเห็นผลการลดความดันแล้วจึงลดขนาดลงเหลือ 0.1-0.25 mg วันละครั้ง (การใช้เกินวันละ 0.25 mg เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า)

    ขนาดยาในเด็กคือ 0.02 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 1-2 ครั้ง สูงสุดไม่เกินวันละ 0.25 mg เช่นกัน

    ในผู้สูงอายุไม่ควรใช้เกินวันละ 0.1 mg

  3. ใช้บรรเทาอาการทางจิตประเภทกระสับกระส่าย วุ่นวาย คลุ้มคลั่ง
  4. ปัจจุบันมียารักษาอาการทางจิตที่ปลอดภัยกว่ารีเซอร์พีน แต่ถ้าผู้ป่วยจิตเภทมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ยารีเซอร์พีนก็เป็นทางเลือกที่ดี ขนาดที่ใช้คือ รับประทานครั้งละ 0.1-1.0 มิลลิกรัม วันละครั้ง คอยปรับยาไม่ให้มีความดันโลหิตต่ำเกินไป

  5. ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวผิดปกติในโรคฮันติงตัน (Huntington's disease)
  6. ผู้ป่วยโรคฮันติงตันมักมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ห้ามไม่ได้ เรียกว่า Tardive Dyskinesia ยารีเซอร์พีนเป็นหนึ่งในยาที่ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว ขนาดที่ใช้คือ รับประทานครั้งละ 0.25 mg ทุก 6 ชั่วโมง

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ยารีเซอร์พีนเพิ่มการบีบตัวและการหลั่งน้ำย่อยในทางเดินอาหาร ยาจึงอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย, ปวดมวนท้อง หรือทําให้กรดหลั่งในกระเพาะอาหารมากขึ้นจนเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

การหยุดยารีเซอร์พีนเพื่อเตรียมผ่าตัดอาจก่อให้เกิดความดันผิดปกติ จึงต้องแจ้งวิสัญญีแพทย์ให้ทราบก่อนผ่าตัดทุกครั้ง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยารีเซอร์พีนคือทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ง่วงนอน คัดจมูก หัวใจเต้นช้าลง อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว บางรายอาจเกิดอาการหอบหืด มือสั่นคล้ายโรคพาร์กินสัน หรือน้ำนมไหลได้

การใช้ยารีเซอร์พีนขนาดสูงในกระรอกพบว่าทำให้เกิดเนื้องอกที่เต้านมและที่ถุงเก็บอสุจิ แต่การเกิดมะเร็งในคนยังไม่มีรายงาน

ยารีเซอร์พีนผ่านรกและออกมาในน้ำนมได้ หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้ หากจำเป็นต้องคอยระวังความดันและอาการคัดจมูกจนหายใจไม่ได้ในทารก

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ห้ามใช้ยารีเซอร์พีนร่วมกับยากลุ่ม MAO inhibitors เพราะจะทำให้ความดันตกมาก, ยากลุ่ม Tricyclic antidepressants เพราะจะทำให้ฤทธิ์ของยารีเซอร์พีนหมดไป

ไม่ควรใช้ยารีเซอร์พีนร่วมกับยากลุ่ม direct acting sympathomimetics เช่น epinephrine, isoproterenol, phenylephrine, metaraminol เพราะจะทำให้ฤทธิ์ของยาเหล่านั้นยาวนานขึ้น ไม่ควรใช้ยารีเซอร์พีนร่วมกับยากลุ่ม indirect acting sympathomimetics เช่น ephedrine, tyramine, amphetamines เพราะฤทธิ์ยาเหล่านั้นจะถูกรีเซอร์พีนกดไว้

ไม่ควรใช้ยารีเซอร์พีนร่วมกับยา Digitalis หรือ Quinidine เพราะหัวใจอาจเต้นผิดจังหวะ

บรรณานุกรม

  1. "ระย่อมน้อย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (25 มีนาคม 2561).
  2. "Reserpine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Indo World. (25 มีนาคม 2561).
  3. "ระย่อม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมน้อย 22 ข้อ !" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MedThai. (25 มีนาคม 2561).
  4. "ระย่อม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นระย่อมน้อย 22 ข้อ !" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MedThai. (25 มีนาคม 2561).
  5. ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร. "Sympatholytic Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (25 มีนาคม 2561).
  6. "Reserpine" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drugs.com. (28 มีนาคม 2561).