ยาวาลซาร์ทาน (Valsartan)

วาลซาร์ทานเป็นยารุ่นแรกของกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถจับกับตัวรับ AT1 ได้แน่นขึ้น ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น มีช่วงกว้างของขนาดยามากขึ้น (นั่นคือสามารถปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องเปลี่ยนยา หรือเพิ่มยาใหม่หากยังลดความดันไม่ได้) และที่สำคัญมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ว่าใช้ร่วมกับยาอื่นได้ปลอดภัย ซ้ำยังช่วยลดอัตราตายจากภาวะหัวใจล้มเหลวด้วย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาวาลซาร์ทานพัฒนาต่อมาจากยาโลซาร์ทานโดยตัดวงแหวน imidazole ของโลซาร์ทานให้เหลือแต่ acylated amino acid ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ยาวขึ้นและขับออกทางไตได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ดูดซึมได้ลดลง 50% เมื่อมีอาหารไปรบกวน จึงควรรับประทานยาตอนท้องว่าง แต่ข้อเสียนี้ดูจะไม่เป็นปัญหาเนื่องจากยาจับกับตัวรับ AT1 ได้แน่นขึ้น จึงมีประสิทธิภาพลดความดันโลหิตได้ดีแม้การดูดซึมจะลดลงจากอาหาร อีกทั้งยังมีช่วงกว้างของขนาดการใช้ยา ทำให้ยาติดตลาดกว่ายาที่ออกมาไล่เลี่ยกันในช่วงต้นปีค.ศ. 2000 อีกสองตัว คือ Candesartan และ Irbesartan เดียวกัน

ยิ่งมีรายงานผลการใช้ยาวาลซาร์ทานในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวออกมาเปรียบเทียบกับยาต้านเอซรุ่นแรก ๆ ว่าได้ผลไม่ต่างกันก็ยิ่งทำให้แพทย์โรคหัวใจนิยมใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มี (หรือมีความเสี่ยงที่จะมี) ภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้น ปัจจุบันยาวาลซาร์ทานยังถูกผลิตมาในรูปผสมกับยาขับปัสสาวะ และ/หรือ ยาปิดกั้นช่องแคลเซียม เพื่อความสะดวกในการใช้รักษาร่วมกันในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูง
  2. ยาวาลซาร์ทานได้รับอนุมัติให้ใช้ควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปเท่านั้น เพราะอายุต่ำกว่านี้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังไม่พัฒนาเต็มที่ และยิ่งอายุน้อย ความดันโลหิตที่สูงผิดปกติมักมีสาเหตุที่จะต้องแก้ให้ได้ก่อน

    ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ 40-320 mg วันละครั้ง ในเด็กใช้ขนาด 1.3-2.7 mg/kg/วัน โดยเริ่มจากน้อย ๆ ก่อน ค่อย ๆ เพิ่มขนาดทุก 2-4 สัปดาห์หากยังคุมความดันไม่ได้ ยาสามารถรับประทานก่อนหรือหลังหรือพร้อมอาหารก็ได้ แต่ขอให้เหมือนกันทุกวันเพื่อให้ปริมาณการดูดซึมเหมือนกันทุกวัน

  3. ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (ร่วมกับยาอื่น)
  4. หลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันผู้ป่วยมักจะมีหัวใจล้มเหลว ยาโรคหัวใจหลายกลุ่มได้รับอนุมัติให้ใช้ในระหว่างที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อลดอัตราตายและอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่อาจจะเกิดตามมา ยาวาลซาร์ทานเป็นยาตัวเดียวในกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีนี้

    โดยให้ขนาด 20 mg วันละ 2 ครั้ง หลังเกิดอาการแล้ว 12-24 ชั่วโมง (ร่วมกับยารักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอื่น ๆ เช่น แอสไพริน ยาต้านตัวรับเบตา และยาสลายลิ่มเลือด) หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ค่อยเพิ่มเป็น 40 mg วันละ 2 ครั้ง คอยระวังอย่าให้ความดันโลหิตค่าบนลดต่ำกว่า 100 mmHg ค่อย ๆ ปรับขนาดขึ้นในอีก 2-4 สัปดาห์ถ้าความดันยังสูงอยู่ ขนาดยาสูงสุดคือ 160 mg วันละ 2 ครั้ง

  5. ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (ร่วมกับยาอื่น)
  6. ภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการหอบเหนื่อยอยู่เรื่อย ๆ นอนราบไม่ได้แม้จะจำกัดน้ำและได้ยาขับปัสสาวะทานอยู่เป็นประจำแล้ว อาจต้องใช้ยาอื่นช่วย เช่น ยาปิดกั้นช่องแคลเซียม, ยาต้านเอซ ยาวาลซาร์ทานและ Candesartan เป็นยาเพียง 2 ตัวในกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินที่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังร่วมกับยาตัวอื่น ๆ

    ขนาดยาให้เริ่มที่ 20 mg วันละ 1-2 ครั้ง ถ้าความดันโลหิตไม่ลดลงมากค่อยปรับเป็น 40 mg วันละ 1-2 ครั้ง ถ้าความดันโลหิตยังสูงอยู่ก็อาจปรับเพิ่มได้ถึง 160 mg วันละ 1-2 ครั้ง

    ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

    ยาวาลซาร์ทานห้ามใช้ใน...

    หากระวังไม่ใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวข้างต้น ยาวาลซาร์ทานจัดว่าเป็นยาที่ปลอดภัยตัวหนึ่ง ผลข้างเคียงอื่นจัดว่าพบค่อนข้างน้อย ได้แก่ ผื่นคัน, บวมแบบ Angioedema (บวมตามใบหน้า หนังตา ปาก คอหอย และกล่องเสียง), ตับอักเสบ, เกร็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ

    ปฏิกิริยาระหว่างยา

    ปฏิกิริยาระหว่างยาวาลซาร์ทานกับยากลุ่มอื่นพบได้ไม่มาก ที่จะต้องคอยระวังคือการให้ร่วมกับยาที่เพิ่มระดับโพแทสเซียมในเลือดเหมือนกัน เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม K-sparings, ยาต้านเอซ, ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), ยาเฮพาริน (Heparin) ทุกชนิด, ยา Co-trimoxazole, ยา Epoetin, รวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารเสริมที่มีธาตุโพแทสเซียมผสมอยู่ด้วย

    ในผู้สูงอายุ การใช้ยาวาลซาร์ทานร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (รวมทั้งแอสไพรินและกลุ่มยาต้านค็อกส์ทู) จะเสริมฤทธิ์กันทำให้การทำงานของไตแย่ลง

    ยาวาลซาร์ทานเพิ่มระดับยาลิเธียม (Lithium) เพราะยาลดการขับลิเธียมออกทางไต ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษของลิเธียม