กลุ่มยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives)

ภาวะความดันโลหิตสูงมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นผลจากโรคอื่น อาทิ โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะเครียด เป็นต้น ซึ่งเมื่อรักษาโรคต้นเหตุได้แล้วภาวะความดันโลหิตสูงก็จะหายไปเอง แต่กว่าร้อยละ 90 หาไม่พบโรคต้นเหตุ ความดันโลหิตสูงที่หาโรคต้นเหตุไม่พบนี้เราเรียกว่า "โรคความดันโลหิตสูง" (Essential hypertension)

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเงียบ ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจและอัมพาตสูงกว่ากลุ่มประชากรที่ความดันปกติ เมื่อทิ้งไว้ไม่รักษา อาการแรกมักเป็นการตายจากโรคหัวใจ หรือทุพพลภาพถาวรจากเส้นเลือดสมองแตก วงการแพทย์ทั่วโลกได้ศึกษาจนมีข้อสรุปตรงกันว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นแล้วด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต ± ใช้ยาคุมความดันโลหิตในขณะที่โรคยังไม่แสดงอาการเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่า เพราะสามารถลดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะไตพิการ และโรคผนังหลอดเลือดหนา แข็ง เปราะ ตีบตัน ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความดันโลหิตสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งความพิการถาวรเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงกว่าการควบคุมความดันให้เป็นปกติทุกวันมาก

ประสิทธิภาพของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง

วิธีการประสิทธิภาพของการลดระดับความดันโลหิต
ลดน้ำหนักในผู้ที่มี BMI > 25 กก./ม.2ทุก ๆ น้ำหนักที่ลดลง 1 กก. สามารถลดความดันค่าบนได้เฉลี่ย 1 มม.ปรอท โดยรวมการลดน้ำหนัก 10 กก. สามารถลดความดันค่าบนได้เฉลี่ย 5-20 มม.ปรอท
การรับประทานอาหารแบบแดช (Dietary Approaches to Stop Hypertension, DASH)ลดความดันค่าบนได้ 8-14 มม.ปรอท
การจำกัดเกลือในอาหารน้อยกว่า 2,300 มก. ต่อวัน (เกลือ/ผงชูรสไม่เกินวันละ 5 ช้อนชา น้ำปลา/ซีอิ๊วไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา)ลดความดันค่าบนได้ 2-8 มม.ปรอท
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันความดันค่าบนลดลงเฉลี่ย 4 มม.ปรอท ความดันค่าล่างลดลงเฉลี่ย 2.5 มม.ปรอท
การลดการดื่มแอลกอฮอล์ลดความดันค่าบนได้ 2-4 มม.ปรอท
การหยุดสูบบุหรี่ไม่ลดความดันโลหิต แต่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ในกรณีที่ความดันโลหิตเมื่อเริ่มวินิจฉัยค่อนข้างสูง ควรเริ่มใช้ยาลดความดันไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากความดันโลหิตเริ่มต้นไม่สูงมาก เช่น ความดันค่าบนประมาณ 120-139 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันค่าล่างประมาณ 80-89 มม.ปรอท เมื่อวัดซ้ำหลาย ๆ วัน อาจรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวไปก่อนประมาณ 2-4 สัปดาห์ ถ้าไม่ลงมาต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท ถึงค่อยเริ่มใช้ยา

ชนิดของยาลดความดันโลหิต

ยาลดความดันโลหิตแบ่งใหญ่ ๆ ได้เป็น 10 กลุ่ม ในบางกลุ่มยังแบ่งต่อเป็นกลุ่มย่อยอีกตามการพัฒนาของยาใหม่ ๆ ดังนี้

  1. กลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ออกฤทธิ์โดยการขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide และ Loop diuretics มีข้อเสียคือยาจะขับเกลือแร่โดยเฉพาะโพแทสเซียมออกไปด้วย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย แต่ก็มีกลุ่ม K-sparing diuretics ที่ขับปัสสาวะแต่ไม่ขับโพแทสเซียม กับกลุ่มที่ต้านฮอร์โมน Aldosterone (Mineralocorticoid receptor antagonists, MRAs) ที่ช่วยขับน้ำในผู้ป่วยตับแข็งโดยเฉพาะ โดยทั่วไปยาขับปัสสาวะจะเหมาะกับผู้ที่มีภาวะน้ำเกินในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยไตเสื่อม ผู้ที่มีภาวะหัวใจโต หัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจมีหรือไม่มีความดันโลหิตสูงก็ได้
  2. กลุ่มยาต้านเอซ (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors, ACEIs) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอ็นไซม์ที่เปลี่ยน Angiotensin I เป็น Angiotensin II (ตำแหน่งที่ 2 ของรูป) ตัว Angiotensin II นี้เองที่ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว และกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน Aldosterone ทำให้น้ำและโซเดียมคั่งในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น การยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้จึงไม่ทำให้หลอดเลือดหดตัวมากเกินไป และยังช่วยให้ไตขับน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้ดีขึ้น แต่กลุ่มยาต้านเอซมักมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการไอบ่อย ผู้ป่วยบางรายจึงไม่ชอบ
  3. กลุ่มยาต้านแองจิโอเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers, ARBs) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งตัวรับการกระตุ้น Angiotensin II ที่ผนังหลอดเลือดและที่หัวใจโดยตรง (ตำแหน่งที่ 3 ในรูป) ทำให้เกิดผลเหมือนกลุ่มยาต้านเอซ แต่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องไอ
  4. กลุ่มยาต้านเรนิน (Direct Renin Inhibitors, DRIs) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์เรนิน (ตำแหน่งที่ 1 ในรูป) ยากลุ่มนี้ปัจจุบันยังมีเพียงตัวเดียวคือ Aliskiren
  5. กลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium Channel Blockers, CCBs) ออกฤทธิ์ยับยั้งแคลเซียมเข้าเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจบีบตัวเบาลง เต้นช้าลง และหลอดเลือดขยายตัว ยากลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่ม Dihydropyridines, กลุ่มที่ไม่ใช่ Dihydropyridines (non-DHP)
  6. กลุ่มยาเปิดช่องโพแทสเซียม (Potassium Channel Openers, PCOs) ออกฤทธิ์โดยการเปิด ATP-sensitive potassium channels ที่ผนังหลอดเลือดให้โพแทสเซียมเข้าเซลล์ เกิดศักย์ไฟฟ้าเกิน (hyperpolarized) ที่ผิวเซลล์ ส่งผลให้ช่องแคลเซียมปิด แคลเซียมเข้าเซลล์น้อยลง เซลล์กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดจึงคลายตัว ความดันเลือดส่วนปลายจึงลดลง แต่จะมีรีเฟล็กซ์ทำให้หัวใจให้เต้นเร็วขึ้น
  7. กลุ่มยาปิดตัวรับเบตา (β-blockers, BBs) ออกฤทธิ์โดยแข่งกับ Norepinephrine ในการจับกับ β-adrenergic receptors ที่กล้ามเนื้อหัวใจ (β1) ผนังหลอดลม (β2) และที่ผนังลำไส้ (β2) ทำให้หัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง หลอดลมหดตัว และลำไส้บีบตัว ดังนั้นนอกจากจะลดความดันแล้วยายังอาจทำให้คนไข้โรคหืดมีอาการหอบกำเริบ หรืออาจมีผลข้างเคียงให้ปวดท้อง แต่ผู้ผลิตก็พัฒนายาในกลุ่มนี้ให้มีกลุ่มย่อยที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเฉพาะที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardioselective β1-blockers)
  8. กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟา (α-blockers) ออกฤทธิ์โดยแข่งกับ Norepinephrine ในการจับกับ α1-adrenoceptors ที่ผนังหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้ Norepinephrine ไม่สามารถทำงานได้ ความดันโลหิตจึงลดลง แต่จะมีรีเฟล็กซ์กลับมาทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น จึงไม่นิยมใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไข้จะรู้สึกใจสั่นหลังรับประทานยาตลอด ยากลุ่มนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะด้วย จึงช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะออกยากในผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโตได้
  9. กลุ่มยาสลายสารสื่อประสาท (Central sympatholytics) ยาในกลุ่มนี้เป็นยาลดความดันโลหิตกลุ่มแรก ๆ ที่มีใช้ในวงการแพทย์ ตัวที่รู้จักกันดีคือ Methydopa, Reserpine, Clonidine แต่ในระยะหลังถูกยากลุ่มใหม่ ๆ ที่วิจัยพบว่าเหมาะกับผู้ป่วยในสภาวะต่าง ๆ ที่มักเป็นร่วมกับโรคความดันโลหิตสูงแซงหน้าความนิยมไป
  10. กลุ่มยาขยายหลอดเลือด (Peripheral vasodilators) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลายโดยตรง จึงอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Postural hypotension) ยากลุ่มนี้ที่ขยายหลอดเลือดแดงได้แก่ Hydralazine, Minoxidil ที่ขยายหลอดเลือดดำได้แก่ยากลุ่ม Nitrates

ยากลุ่มที่ 1-3, และ 5 ถือเป็นยาลำดับแรกที่แพทย์จะเลือกใช้คุมความดันโลหิต ยากลุ่มที่เหลือมักใช้เสริมยาหลักในกรณีที่ผู้ป่วยมีสภาวะที่เหมาะสมกับยานั้น ๆ

การเลือกกลุ่มยาที่เหมาะสม

ยาลดความดันโลหิตทุกกลุ่มจัดเป็นยาอันตราย ควรให้แพทย์เป็นผู้เริ่มต้นเลือกให้ โดยแต่ละกลุ่มมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยในสภาวะต่าง ๆ กันดังนี้

สภาวะของผู้ป่วยกลุ่มยาที่เหมาะสม
มีหัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติACEIs, CCBs, ARBs
มีหลอดเลือดแดงใหญ่แข็ง (Atherosclerosis) แต่ยังไม่มีอาการCCBs, ACEIs
มีไมโครอัลบูมินออกมาในปัสสาวะ (30-300 มก./กรัม) แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติACEIs, ARBs
มีไตเสื่อมแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติACEIs, ARBs
มีหรือเคยมีอัมพาตครึ่งซีกACEIs, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide
เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายBBs, ACEIs, ARBs
มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)BBs, CCBs
มีหัวใจล้มเหลวยาขับปัสสาวะ, BBs (เฉพาะที่รับรองให้ใช้ในภาวะหัวใจล้มเหลว), ACEIs, ARBs
มีหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพอง (Aortic aneurysm)BBs
มีหัวใจเต้นผิดปกติชนิด (Atrial fibrillation) ที่อัตราเต้นยังไม่เกิน 100 ครั้ง/นาทีARBs, ACEIs, BBs, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม MRAs
มีหัวใจเต้นผิดปกติชนิด (Atrial fibrillation) ที่อัตราเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาทีBBs, CCBs กลุ่ม non–DHP
มีโรคไตที่อัลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 300 มก./กรัมACEIs, ARBs
มีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral artery disease)ACEIs, CCBs
มีความดันค่าบนสูงอย่างเดียว (มักพบในคนสูงอายุ)Diuretics, CCBs
มีกลุ่มอาการทางเมตะบอลิก (Metabolic syndrome) ได้แก่ ภาวะอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วยACEIs, ARBs, CCBs
เป็นโรคเบาหวานACEIs, ARBs, CCBs
เป็นโรคกระดูกพรุนยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide, CCBs
เป็นโรคหอบหืดยาขับปัสสาวะ, CCBs, ACEIs, ARBs
เป็นโรคไตวายเรื้อรังยาขับปัสสาวะกลุ่ม Loop diuretics, CCBs
มีต่อมลูกหมากโตAlpha-blockers
สตรีตั้งครรภ์Methyldopa, BBs, CCBs

ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตเริ่มต้นค่อนข้างสูง แพทย์มักจะให้ยาพร้อมกัน 2-3 กลุ่มเพื่อลดผลข้างเคียงจากการให้ยาตัวเดียวในขนาดสูง ยาบางกลุ่มเสริมฤทธิ์กันดีเมื่อใช้ร่วมกัน แพทย์บางท่านจึงนิยมใช้ยาผสมเพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานได้สะดวกขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้ยากี่ขนาน ยาเดี่ยวหรือยาผสม ผู้ป่วยควรศึกษาข้อควรระวังของยาทุกตัวที่กำลังใช้อยู่รวมทั้งปฏิกิริยาระหว่างยาลดความดันกับยาอื่นด้วย

ข้อควรระวังสำหรับยากลุ่มต่าง ๆ

ยาลดความดันโลหิตแต่ละกลุ่มก็มีข้อห้ามใช้หรือข้อควรระวังในภาวะต่าง ๆ ตามผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการออกฤทธิ์ของมัน ดังนี้

กลุ่มยาข้อห้าม/ข้อควรระวัง
ACEIs, ARBs, DRI- สตรีตั้งครรภ์
- หลอดเลือดแดงที่ไตตีบ 2 ข้าง หรือตีบข้างเดียวในกรณีที่มีไตข้างเดียว
- ระดับโพแทสเซียมในเลือด > 5.5 มิลลิโมล/ลิตร
- ไตเสื่อมเร็ว (eGFR ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ภายใน 4 เดือน)
BBs- AV block (grade 2 หรือ 3)
- โรคหอบหืด
- โรคหลอดลมอุดตัน
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
- ยากลุ่มนี้อาจทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ
CCBs กลุ่ม non-DHP- AV block (grade 2 หรือ 3)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
ยาขับปัสสาวะ- โรคเก๊าท์
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ยากลุ่มนี้อาจทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ
Alpha-blockers- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- Orthostatic hypotension
Methyldopaตับอักเสบ
Reserpine- โรคซึมเศร้า
- มีแผลในกระเพาะ
Clonidineอาการที่เกิดจากการหยุดยาฉับพลัน (withdrawal syndrome)

ปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นกันยาลดความดัน

ยาลดความดันโลหิตเป็นยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ จึงพบบ่อยว่าอาจเกิดปฏิกิริยากับยาหรือสารอื่นที่รับประทานเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งคราว แม้ส่วนใหญ่จะไม่เกิดผลข้างเคียงอะไรมาก แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็จะดีกว่า

ตารางข้างล่างแสดงปฏิกิริยาระหว่างยาลดความดันด้วยกันเอง ยาลดความดันกับยาหรือสารอื่น และผลที่เกิดขึ้น

ยาลดความดันโลหิตมีปฏิกิริยากับผลที่เกิดขึ้น
กลุ่ม BBsยาลดความดันกลุ่ม CCBs ชนิด non-DHP (Verapamil, Diltiazem)เสริมฤทธิ์กันยับยั้งการนำไฟฟ้าของหัวใจ เสี่ยงต่อการเกิด A-V block
ยารักษาเบาหวานกดอาการแสดงเวลาที่น้ำตาลในเลือดต่ำ
ยาขยายหลอดลมสลายฤทธิ์ของยาขยายหลอดลม
ยากระตุ้นหัวใจและพยุงความดันโลหิต Dobutamineสลายฤทธิ์ของยา Dobutamine
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazideยากระตุ้นหัวใจ Digoxinเกิดพิษของยา Digoxin ได้ง่ายขึ้นจากภาวะขาดโพแทสเซียมที่ยาขับปัสสาวะขับทิ้ง
Lithium ionsไตไม่ขับ Lithium ions เกิดการคั่งของสารโลหะหนักนี้ในร่างกาย
ยากลุ่ม Alpha-blockersยา Noradrenalineลดฤทธิ์ของยา Noradrenaline
ยากลุ่ม CCBs ชนิด non-DHP (Verapamil, Diltiazem)ยาลดความดันกลุ่ม BBsเสริมฤทธิ์กันยับยั้งการนำไฟฟ้าของหัวใจ เสี่ยงต่อการเกิด A-V block
ยา Digoxinเกิดพิษของยา Digoxin ได้ง่ายขึ้น
ยารักษาโรคเอดส์กลุ่ม Protease inhibitorsลดการสลายยาที่ตับ เกิดการสะสมของยาลดความดันกลุ่มนี้
ยารักษาโรคกระเพาะ Cimetidineลดการสลายยาที่ตับ เกิดการสะสมของยาลดความดันกลุ่มนี้
ยากลุ่ม CCBs ชนิด Dihydropyridineยาลดความดันกลุ่ม BBsลดอาการใจสั่นจากยากลุ่ม CCBs ชนิด Dihydropyridine (เป็นผลดี)
ยาลดความดัน Felodipine (กลุ่ม CCBs)น้ำส้มคั้นยับยั้งเอ็นไซม์ Cyt.L450 ทำให้เกิดการสะสมของยา Felodipine ในร่างกาย
ยากลุ่ม ACEIsยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazideเสริมฤทธิ์กันในการลดความดันโลหิต
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม K-sparingเกิดภาวะโพแทสเซีมในเลือดสูง
ยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAIDs รวมทั้งยาแอสไพรินในขนาดสูงเกิดการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำ ลดฤทธิ์ของยาลดความดัน
Lithium ionsไตไม่ขับ Lithium ions เกิดการคั่งของสารโลหะหนักนี้ในร่างกาย
ยากลุ่ม Centrally actingยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงทุกชนิด (ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยากันชัก ยารักษาโรคทางจิต ฯลฯ) รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เสริมฤทธิ์กัน ทำให้อ่อนเพลียและง่วงมากขึ้น
ยา Methyldopaธาตุเหล็กลดการดูดซึมของยา Methyldopa ทำให้ลดความดันได้น้อยลง
ยา Clonidineยาต้านซึมเศร้าชนิด TCAsต้านฤทธิ์ของยาลดความดัน

การติดตามระดับความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน

ปัจจุบันเครื่องวัดความดันแบบดิจิตอลมีราคาถูกลงมาก จัดเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่สมควรจะมีติดบ้านไว้เช่นเดียวกับปรอทวัดไข้ การวัดความดันโลหิตเป็นการประเมินสัญญาณชีพที่สำคัญเวลาที่เราเจ็บป่วย นอกจากนั้นในผู้ที่รับประทานยาลดความดัน ค่าความดันโลหิตที่วัดด้วยตนเองที่บ้านเป็นค่าที่เป็นชีวิตจริงมากกว่าการวัดที่สถานบริการสุขภาพเพียงอย่างเดียว เพราะพบว่าความดันที่วัดได้ที่สถานบริการมักสูงกว่าที่วัดได้ที่บ้าน ถ้าผู้ป่วยมีข้อมูลความดันโลหิตที่วัดเองที่บ้านให้แพทย์ดูด้วยก็จะช่วยให้แพทย์พิจารณาปรับ/เพิ่มยาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

เป้าหมายของความดันโลหิตเมื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะเป็นดังนี้

  • ในผู้ป่วยทั่วไปให้ความดันไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท
  • ในผู้ป่วยอายุน้อย, ผู้เป็นเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ผู้ป่วยหลังกล้ามเนื้อหัวใจตาย, และผู้ป่วยหลัง เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตให้ความดันไม่เกิน 130/80 มม
  • ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป ให้ความดันไม่เกิน 150/90 มม.ปรอท