ฟอสฟอรัส (Phosphorus, P)
ฟอสฟอรัส (P) เป็นธาตุอโลหะ มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง ติดไฟได้ ในธรรมชาติมีหลายสี ฟอสฟอรัสทำปฏิกิริยากับสารอื่นง่าย จึงไม่ปรากฏในรูปอิสระในธรรมชาติ ฟอสฟอรัสในพืชอยู่ในรูป phytate (phytic acid) ที่ซับซ้อนแต่สวยงาม
ฟอสฟอรัสในไฟเตตดูดซึมได้เพียง 50-70% เพราะคนเราไม่มีเอนไซม์ phytase สำหรับย่อย phytate
เมื่อเผาฟอสฟอรัสในอากาศที่มีออกซิเจนจะได้ phosphorus pentoxide เมื่อทิ้งไว้มันจะดูดน้ำเข้ามาและกลายเป็นกรดฟอสฟอริก (phosphoric acid, H3PO4) เมื่อเติมด่างลงไปจะได้เกลือฟอสเฟต (PO43-) ในธรรมชาติฟอสเฟตสามารถรวมกับธาตุอื่นที่มีประจุบวก เช่น แคลเซียม โซเดียม โพแทสเซียม เกิดเป็นสารประกอบของฟอสฟอรัสที่แตกตัวได้ง่ายในน้ำ สารประกอบของฟอสเฟตดูดซึมได้ดีกว่าไฟเตต ฟอสเฟตจัดเป็นเกลือแร่ที่สำคัญในร่างกายคน
หน่วยวัดปริมาณฟอสฟอรัส
ในอาหารเราวัดเป็นมิลลิกรัม (mg) ในเลือดเราวัดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซนต์ (mg%) บางประเทศวัดเป็นมิลลิโมล/ลิตร (mmol/L) หรือ มิลลิอิควิวาเลนต์/ลิตร (mEq/L) โดย 1 mmol/L ของฟอสฟอรัสเท่ากับ 1 mEq/L ฟอสฟอรัส 1 mg% = 0.3226 mmol/L
บทบาทของฟอสฟอรัสในร่างกาย
85% ของฟอสฟอรัสในร่างกายเป็นองค์ประกอบของกระดูกร่วมกับแคลเซียมในรูป hydroxyapatite แคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระดูกมีการสลายและสร้างใหม่ทุกวัน ตามขบวนการควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดให้คงที่ของฮอร์โมนพาราไทรอยด์และแคลซิโทนิน
อีก 5% ของฟอสฟอรัสในร่างกายเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ในรูป phospholipids, เป็นโครงสร้างของสาย DNA และ RNA ในรูปพันธะ phosphodiester ระหว่างกรดนิวคลีอิก (nucleic acid), และเป็นส่วนหนึ่งของสารที่จำเป็นสำหรับร่างกายในรูปฟอสเฟต เช่น adenosine triphosphate (ATP) และ creatine phosphate ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย, cyclic AMP และ inositol triphosphate ที่เป็น secondary messengers ภายในเซลล์ รวมทั้ง 2,3-diphosphoglycerate (2,3-DPG) ที่ควบคุมการปล่อยออกซิเจนจากฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงแก่อวัยวะต่าง ๆ
ฟอสฟอรัสอีก 10% อยู่ภายในเซลล์และในเลือด คอยควบคุมการถ่ายทอดยีน กระตุ้นเอนไซม์ ฮอร์โมน ควบคุมสมดุลกรด-ด่าง และควบคุมกิจกรรมพื้นฐานของเซลล์ผ่านปฏิกิริยา phosphorylation
แหล่งอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง
ฟอสฟอรัสมีมากในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว นอกจากนั้นยังพบในอาหารที่มีแคลเซียม เพราะธาตุสองตัวนี้มักอยู่ด้วยกัน กรมอนามัยแนะนำให้คนไทยรับประทานฟอสฟอรัสวันละ 800 มิลลิกรัม
น้ำอัดลมบางชนิดอาจมีฟอสฟอรัสผสมลงไปด้วย
ฟอสฟอรัสในพืชมักอยู่ในรูปไฟเตต การต้มถั่วให้นิ่มทำให้ไฟเตตแตกตัวและดูดซึมได้ง่ายขึ้น ฟอสฟอรัสในสัตว์มักอยู่ในรูปเกลือฟอสเฟตที่ดูดซึมได้ดีกว่า
ยาลดกรดประเภท antacid และ sucralfate รวมทั้งแคลเซียมคาร์บอเนตเสริมอาหาร จะจับฟอสฟอรัสในลำไส้ ทำให้ดูดซึมไม่ได้ จากการศึกษาพบว่า การรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตในปริมาณ 2,500 mg/วัน จะจับกับฟอสฟอรัสถึง 610-1,050 mg [13] ฟอสฟอรัสเหล่านี้จะถูกขับทิ้งทางอุจจาระ ไม่ถูกดูดซึม ดังนั้น การรับประทานยายาลดกรดหรือแคลเซียมเสริมเป็นประจำโดยไม่จำเป็นอาจทำให้ขาดฟอสฟอรัสได้
ภาวะขาดฟอสฟอรัส
ภาวะขาดฟอสฟอรัสเรียกว่า hypophosphatemia คือระดับฟอสฟอรัสในเลือด < 2.5 mg% หรือ < 0.81 mmol/L พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เกิดจากกินไม่พอหรือเสียออกทางไตมาก หากกินไม่พอระดับฟอสเฟตในปัสสาวะจะต่ำ หากเสียออกทางไตระดับฟอสเฟตในปัสสาวะจะสูงกว่า 100 mg/วัน
โรคที่ทำให้เสียฟอสเฟตทางปัสสาวะมากได้แก่ ภาวะขาดวิตามินดี โรคต่อมพาราไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากไป ภาวะเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงมาก และกลุ่มอาการ Fanconi
ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำที่จะเริ่มแสดงอาการ ระดับมักต่ำกว่า 2.0 mg/dL โดยจะมีอาการเบื่ออาหาร ซีดลงจากเม็ดเลือดแดงแตก ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว ชัก และโคม่า หากเป็นเรื้อรังตั้งแต่เด็กจะตัวเตี้ย ขาโก่ง (bowing of legs) กระดูกอ่อนหรือจางลงจากเอกซเรย์ ปวดกระดูกเวลาบีบ
การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือดและปัสสาวะ การรักษาอาจชดเชยด้วยวิธีกิน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น
- นม 1 ลิตร จะให้ฟอสเฟตประมาณ 1 กรัม
- ยาเม็ดในรูปโซเดียมฟอสเฟตหรือโพแทสเซียมฟอสเฟต ขนาด 1 กรัม วันละ 2 เวลา ข้อเสียคืออาจทำให้ท้องเสีย
การชดเชยขนาดนี้อาจใช้เวลาประมาณ 7-10 วันระดับถึงจะกลับมาปกติ
นอกจากนั้น การหยุดรับประทานยาลดกรด แคลเซียม ยาขับปัสสาวะ ที่ไม่จำเป็น ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ
สุดท้ายเมื่อตรวจพบสาเหตุแล้วก็ควรรักษาที่สาเหตุด้วย
ภาวะฟอสฟอรัสเกิน
ภาวะฟอสฟอรัสเกินเรียกว่า hyperphosphatemia คือระดับฟอสฟอรัสในเลือด > 4.5 mg% หรือ > 1.45 mmol/L ส่วนใหญ่จะแสดงอาการของภาวะแคลเซียมต่ำที่มักจะเกิดร่วมกันแทน เช่น เป็นตะคริว ชารอบปาก มือเท้าจีบ รีเฟล็กซ์ไว ชัก
สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง คือ
- การได้รับฟอสฟอรัสเข้าไปมากเกินไป (มักมาจากการได้อาหารทางหลอดเลือด หรือการแก้ฟอสฟอรัสที่ต่ำด้วยการหยดเข้าเส้นเลือด)
- การขับออกน้อยเกินไป (มักเกิดจากไตวาย และโรคของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ)
- การเคลื่อนออกมาจากเซลล์ (มักเกิดจากการแตกของเซลล์มะเร็งระยะแพร่กระจาย หรือการได้รับเคมีบำบัด)
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น Cortical hyperostosis, Familial hyperphosphatemia
แนวทางการวินิจฉัยดูได้ที่นี่ การรักษาต้องแก้ที่สาเหตุ
บรรณานุกรม
- "Phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (2 เมษายน 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (2 เมษายน 2563).
- "Phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (2 เมษายน 2563).
- "phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (2 เมษายน 2563).
- "12.3 Phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (2 เมษายน 2563).
- "- Elements - 30: PHOSPHORUS." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา apjcn.nhri.org.tw. (2 เมษายน 2563).
- "Phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (2 เมษายน 2563).
- "Phosphate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (2 เมษายน 2563).
- James L. Lewis, III. 2018. "Overview of Disorders of Phosphate Concentration." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (2 เมษายน 2563).
- Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Phosphorus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (2 เมษายน 2563).
- Heaney RP & Nordin BE. 2002. "Calcium effects on phosphorus absorption: implications for the prevention and co-therapy of osteoporosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Am Coll Nutr 2002;21:239-44. (3 เมษายน 2563).