ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia)

ฟอสฟอรัสเป็นอีกธาตุหนึ่งที่มีมากในร่างกาย โดยส่วนใหญ่จะจับกับออกซิเจนกลายเป็นฟอสเฟต (PO43-) ร้อยละ 85 อยู่ในรูป hydroxyapatite ในกระดูก ส่วนที่เหลืออยู่ในเซลล์กับในเลือด ฟอสเฟตถือเป็นอนุภาคลบที่สำคัญภายในเซลล์ มีบทบาทในการให้ออกซิเจนแก่เซลล์ผ่านทาง 2,3-diphosphoglycerate (2,3-DPG) ในเม็ดเลือดแดง ให้พลังงานแก่เซลล์ในรูปของ ATP (Adenosine triphosphate) เป็นส่วนประกอบของ DNA และ RNA เป็นโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ในรูป phospholipids และทำหน้าที่เสมือนเป็นบัฟเฟอร์ในกระดูก ในเลือด และในปัสสาวะ ฟอสเฟตในเลือดมักจับกับแคลเซียมกลายเป็นแคลเซียมฟอสเฟต

ฟอสฟอรัสในเลือดของเด็กจะสูงกว่าของผู้ใหญ่ เพราะเด็กต้องใช้ฟอสฟอรัสในขบวนการเจริญเติบโตและการขยายตัวของกระดูก เมื่อร่างกายหยุดเติบโต (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ระดับฟอสฟอรัสในเลือดปกติจะลงมาอยู่ในช่วง 2.5-4.5 mg/dL (0.81-1.45 mmol/L)

ร่างกายเราได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต ถั่ว ช็อกโกแลต เนื้อสัตว์และอาหารทะเล การดูดซึมฟอสฟอรัสจากทางเดินอาหารก็ต้องอาศัยวิตามินดีเป็นตัวกระตุ้นเช่นเดียวกับการดูดซึมแคลเซียม ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำพบไม่บ่อย ส่วนใหญ่พบในผู้ที่ขาดอาหารหรือได้รับอาหารทางหลอดเลือด ติดสุรา มีภาวะ Hyperparathyroidism, Hypothyroidism, Cushing syndrome, ขาดวิตามินดี หรือใช้ยาขับปัสสาวะเป็นประจำ

ที่ต้องระวังคือภาวะขาดฟอสฟอรัสเฉียบพลัน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากภาวะ DKA หรือมี severe respiratory alkalosis หรือมีแผลไฟไหม้เป็นบริเวณกว้าง นอกจากนั้นยังมักพบร่วมกับภาวะโพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำที่จะเริ่มแสดงอาการระดับมักต่ำกว่า 2.0 mg/dL โดยจะมีอาการเบื่ออาหาร ซีดลงจากเม็ดเลือดแดงแตก ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว ชัก และโคม่า หากเป็นเรื้อรังตั้งแต่เด็กจะตัวเตี้ย ขาโก่ง (bowing of legs) กระดูกอ่อนหรือจางลงจากเอกซเรย์ ปวดกระดูกเวลาบีบ

ผู้ป่วยที่ได้รับยา Theophylline ในภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำจะทำให้เกิดพิษของยาได้ง่ายขึ้น

แนวทางการวินิจฉัย

ดังได้กล่าวแล้วว่าภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำพบในกรณีเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นจึงควรหาปัจจัยเหล่านั้นก่อน กรณีที่ไม่สามารถซักประวัติได้ให้ส่งหาปริมาณฟอสเฟตในปัสสาวะ (ดูรูปข้างล่าง) ถ้าไตปกติ ฟอสเฟตในเลือดที่ต่ำควรจะทำให้ฟอสเฟตในปัสสาวะต่ำไปด้วย ถ้ายังออกมากกว่า 100 mg/วัน หรือ Fractional excretion of phosphate (FEPi) มากกว่า 5% แสดงว่ามีการสูญเสียฟอสเฟตออกทางไต ซึ่งอาจเป็นจากภาวะเมตะบอลิกต่าง ๆ เช่น แมกนีเซียมต่ำ DKA หรือเป็นจากการขาดวิตามินดี หรือมีภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง หรือกลุ่มอาการแฟนโคนี่ เหล่านี้ ให้ส่งตรวจระดับของแมกนีเซียม แคลเซียม น้ำตาล และกรดด่างในเลือดก่อน ถ้าไม่พบความผิดปกติทางเมตาบอลิกถึงค่อยส่งตรวจระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และ Calcidiol ในเลือดต่อไป

หากฟอสเฟตในปัสสาวะต่ำกว่า 100 mg/วัน หรือ FEPi น้อยกว่า 5% แสดงว่าฟอสเฟตในเลือดที่ต่ำเกิดจากการขาดอาหาร หรือลำไส้ดูดซึมไม่ได้ (ท้องเสียเรื้อรัง) หรือมีภาวะที่ทำให้ฟอสเฟตกลับเข้าเซลล์มากขึ้น เช่น มีภาวะ respiratory alkalosis, มีการให้ insulin ลดน้ำตาลในเลือด, มีการให้ insulin + glucose เพื่อแก้ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น จึงควรส่งตรวจหาภาวะเหล่านี้ต่อไป

แนวทางการรักษา

ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำเล็กน้อยอาจชดเชยด้วยวิธีกิน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น
- นม 1 ลิตร จะให้ฟอสเฟตประมาณ 1 กรัม
- ยาเม็ดในรูปโซเดียมฟอสเฟตหรือโพแทสเซียมฟอสเฟต ขนาด 1 กรัม วันละ 2 เวลา ข้อเสียคืออาจทำให้ท้องเสีย
การชดเชยขนาดนี้อาจใช้เวลาประมาณ 7-10 วันระดับถึงจะกลับมาปกติ

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินได้ หรือฟอสฟอรัสต่ำมาก หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แพทย์อาจแก้ด้วย Fructose-1, 6 - diphosphate (Esafosfina®) ขนาด 5 กรัม (มีฟอสเฟต 0.7 กรัม หรือ 22.55 mmol หรือ 68.4 mEq) หยดเข้าเส้นเลือดดำช้า ๆ ใน 15-30 นาที ยาอยู่ในรูปของเกลือโซเดียม การให้เร็วอาจเกิดตะคริวและความดันโลหิตต่ำลง เพราะแคลเซียมในเลือดลดลง และยังอาจเกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูงขึ้นด้วย
เช่นกัน การชดเชยขนาดนี้อาจต้องให้ติดต่อกันหลายวันกว่าระดับจะกลับมาปกติ

นอกจากนั้น การหยุดรับประทานยาลดกรดชนิด phosphate-binding antacids เพื่อให้ฟอสฟอรัสในทางเดินอาหารดูดซึมได้ดีขึ้น และ/หรือ การหยุดยาขับปัสสาวะ (ถ้าเป็นไปได้) เพื่อไม่ให้เสียฟอสเฟตออกไปทางปัสสาวะมากเกินไป ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ

สุดท้ายเมื่อตรวจพบสาเหตุแล้วก็ควรรักษาที่สาเหตุด้วย

บรรณานุกรม

  1. Alina G Sofronescu. "Phosphate (Phosphorus)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (5 มิถุนายน 2560).
  2. Eleanor Lederer. "Hypophosphatemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (5 มิถุนายน 2560).
  3. Lewis James L III. "Hypophosphatemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD MANUAL. (5 มิถุนายน 2560).
  4. James Manos. "Review: Tips in biochemistry Volume (6)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา My Medical Texts. (5 มิถุนายน 2560).