ฟอสฟอรัสในเลือดสูง (Hyperphosphatemia)

ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูงส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่มักแสดงอาการของภาวะแคลเซียมต่ำที่มักจะเกิดร่วมกันแทน เช่น เป็นตะคริว ชารอบปาก มือเท้าจีบ รีเฟล็กซ์ไว หรือชัก ดังนั้นจึงไม่มีค่าสูงวิกฤติของฟอสฟอรัสเหมือนเกลือแร่ในเลือดตัวอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพบภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูงผิดปกติ (>4.5 mg/dL ในผู้ใหญ่ หรือ > 5.2 mg/dL ในเด็ก) ก็ยังต้องหาสาเหตุ

สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง คือ

  1. การได้รับฟอสฟอรัสเข้าไปมากเกินไป (มักมาจากการได้อาหารทางหลอดเลือด หรือการแก้ฟอสฟอรัสที่ต่ำด้วยการหยดเข้าเส้นเลือด)
  2. การขับออกน้อยเกินไป (มักเกิดจากไตวาย)
  3. การเคลื่อนออกมาจากเซลล์ (มักเกิดจากการแตกของเซลล์มะเร็งระยะแพร่กระจาย หรือการได้รับเคมีบำบัด)

แนวทางการวินิจฉัย

ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูงต้องตรวจเกลือแร่ตัวอื่นก่อนเสมอ โดยเฉพาะแคลเซียมและการทำงานของไต หากแคลเซียมและไตปกติถึงค่อยสืบค้นตามแผนภูมิข้างล่าง

ขั้นต้นคือส่งตรวจปริมาณฟอสเฟตในปัสสาวะในหนึ่งวัน เพื่อดูว่าไตขับฟอสฟอรัสออกได้ตามปกติหรือไม่ ถ้า urine phosphate > 1500 mg/day แสดงว่าไตปกติ สาเหตุของฟอสฟอรัสเกินเกิดจากการได้รับฟอสเฟตเข้าไปมาก, ฟอสฟอรัสออกจากเซลล์เพราะเซลล์แตกหรือมีภาวะกรดในเลือด, หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิด Cortical hyperostosis, Familial hyperphosphatemia

ถ้า urine phosphate < 1500 mg/day แสดงว่าไตขับฟอสเฟตออกได้น้อยลง ซึ่งอาจเป็นจากภาวะไตวาย, ภาวะ hypoparathyroidism หรือ Pseudohypoparathyroidism, โรค multiple myeloma ทั้งสี่ภาวะนี้แคลเซียมในเลือดจะต่ำสวนทางกับฟอสฟอรัสที่สูง หากแคลเซียมปกติจะเป็นในกลุ่มของโรคต่าง ๆ ที่ควรมีอาการทางคลินิกของโรคนั้น ๆ ให้เห็น เช่น Hyperthyroidism, Acromegaly, Tumor calcinosis, การขาดแมกนีเซียม, วัยหมดประจำเดือน, ฯลฯ

แนวทางการรักษา

เนื่องจากภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูงไม่ทำให้เกิดอาการวิกฤต ดังนั้นจึงให้รักษาที่สาเหตุก่อน ยกเว้นสาเหตุรักษาไม่ได้และระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงมากอาจให้กิน Phosphate binders เช่น Sucroferric oxyhydroxide (Velphoro), Sevelamer (Renagel), Lanthanum carbonate (Fosrenol), Ferric citrate (Auryxia) หรือถ้าไตดีก็ให้ Furosemide เพิ่มการขับฟอสฟอรัสออกทางไต

บรรณานุกรม

  1. Alina G Sofronescu. "Phosphate (Phosphorus)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (5 มิถุนายน 2560).
  2. Eleanor Lederer. "Hyperphosphatemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (10 มิถุนายน 2560).
  3. Lewis James L III. "Hyperphosphatemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD MANUAL. (10 มิถุนายน 2560).
  4. James Manos. "Review: Tips in biochemistry Volume (6)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา My Medical Texts. (5 มิถุนายน 2560).