โพแทสเซียม (Potassium, K)

โพแทสเซียมเป็นธาตุโลหะกลุ่มอัลคาไลเช่นเดียวกับโซเดียม มีอิเล็คตรอน 1 ตัวที่ผิวนอกสุด จึงให้อิเล็คตรอนแล้วกลายเป็นอิออนบวกได้ง่าย อิออนบวกของโพแทสเซียมสามารถรวมกับอิออนลบของธาตุอื่น เช่น คลอไรด์ (Cl-), ไฮดรอกไซด์ (OH-), ไนเตรต (NO3-) เกิดเป็นสารประกอบใหม่หลายชนิด

โพแทสเซียมคลอไรด์เป็นสารละลายที่แพทย์ใช้เป็นยาแก้ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ถือเป็นยาอันตรายระดับสูงสุด เพราะโพแทสเซียมคลอไรด์ขนาดสูงหรือให้เร็วเกินไปทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์เป็นสารที่ใช้ทำสบู่ โพแทสเซียมไนเตรตเป็นสารประกอบในดินปืน ส่วนโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนตหรือด่างทับทิบเป็นด่างอ่อน ใช้ผสมน้ำล้างสารเคมีที่ตกค้างบนผิวผักผลไม้ และฆ่าเชื้อราตามผิวหนัง

โพแทสเซียมเป็นธาตุที่มีมากมายบนผิวโลก ในผักและผลไม้แทบทุกชนิดก็อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ในร่างกายคนเรามีธาตุโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 0.3% ของน้ำหนักตัว ส่วนใหญ่อยู่ภายในเซลล์ คอยควบคุมปริมาณน้ำภายในเซลล์และความต่างศักย์ที่ผิวเซลล์

หน่วยวัดปริมาณโพแทสเซียม

ในอาหารเราวัดเป็นมิลลิกรัม (mg) หรือกรัม (g) ในเลือดเราวัดเป็นมิลลิโมล/ลิตร (mmol/L) หรือ มิลลิอิควิวาเลนต์/ลิตร (mEq/L) โดย 1 mmol/L ของโพแทสเซียมเท่ากับ 1 mEq/L

บทบาทของโพแทสเซียมในร่างกาย

โพแทสเซียมเป็นอิออนบวกที่มีมากที่สุดภายในเซลล์ ความเข้มข้นของโพแทสเซียมภายในเซลล์สูงกว่าในเลือดถึง 37 เท่า การดำรงความต่างศักย์นี้ต้องมีปั๊มที่ใช้พลังงาน คอยขับโซเดียมออกและดูดโพแทสเซียมกลับเข้าเซลล์ ปั๊มนี้เรียกว่า Na+/K+ATPase Pump จะอยู่ที่ cell membrane ของทุกเซลล์ อัตราการแลกจะเป็น Na+ 3 ตัวออก: K+ 2 ตัวเข้า

ความต่างศักย์นี้เองที่ทำให้ผิวเซลล์สามารถนำไฟฟ้าได้ การเคลื่อนเข้า-ออกเซลล์ของโซเดียมและโพแทสเซียมอิออนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนำไฟฟ้าให้เกิดการหด-คลายกล้ามเนื้อและการเดินทางของกระแสประสาท

ความเข้มข้นของโพแทสเซียมภายในเซลล์เป็นตัวควบคุมปริมาณน้ำ ออสโมลาริตี้ และความเข้มข้นของสารอื่น ๆ ภายในเซลล์

โพแทสเซียมยังเป็นปัจจัยร่วมของเอนไซม์ pyruvate kinase ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในขบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงาน

มีการศึกษาพบว่า การรับประทานโพแทสเซียมมากขึ้นจะช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ลดอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดและโรคมะเร็ง และช่วยลดการขับแคลเซียมทิ้งทางปัสสาวะ (ตรงข้ามกับการรับประทานโซเดียมมากที่จะเพิ่มการขับแคลเซียมทิ้งทางปัสสาวะ) จึงลดอุบัติการณ์ของโรคนิ่วที่ไตและโรคกระดูกพรุนในคนสูงอายุด้วย

แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง

แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงได้แก่ผักและผลไม้แทบทุกชนิด กรมอนามัยแนะนำให้คนไทยรับประทานโพแทสเซียมอย่างน้อยวันละ 3,500 mg (ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตวาย ควรรับประทานเพียง 1,500-2,700 mg/วัน)

โพแทสเซียมดูดซึมได้ดีมาก ส่วนที่เกินไตจะเป็นผู้กำจัดออก

พบว่าโพแทสเซียมจะเสียไปจากการหุงต้ม 33-72% โดยเฉพาะการต้มที่มีการเทน้ำทิ้ง เพราะโพแทสเซียมละลายได้ดีในน้ำ ดังนั้นการต้มผัก มัน ฟักทอง รวมทั้งเนื้อสัตว์ ควรรับประทานน้ำที่ต้มด้วย และด้วยเหตุนี้ อาหารสำเร็จรูปที่ปรุงสุกแล้วจึงมีปริมาณโพแทสเซียมน้อยกว่าในอาหารสด

การตากแห้งผลไม้ไม่ทำให้เสียโพแทสเซียมไปมากนัก โดยเฉพาะผลไม้ตากแห้งที่ยังคงรูปของผลไม้ทั้งผล เช่น ลูกเกด

ภาวะขาดโพแทสเซียม

ภาวะขาดโพแทสเซียมเรียกว่า hypokalemia คือระดับโพแทสเซียมในเลือด < 3.5 mEq/L พบได้บ่อยในรายที่มีการสูญเสียเกลือแร่ทางอุจจาระ ปัสสาวะ หรือเหงื่อ เมื่อท้องร่วง ใช้ยาขับปัสสาวะ หรือออกกำลังกายมาก แล้วรับประทานเข้าไปไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังเกิดจากภาวะขาดธาตุแมกนีเซียม เพราะในภาวะนี้ไตจะขับโพแทสเซียมทิ้งมากขึ้น, เกิดจากโรคไตและโรคของต่อมไร้ท่อที่ทำให้ไตไม่สามารถดูดโพแทสเซียมกลับได้, และเกิดในบางภาวะที่มีโพแทสเซียมเคลื่อนเข้าเซลล์ เช่น Familial periodic paralysis

ภาวะขาดโพแทสเซียมจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลำไส้ไม่ทำงาน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ถ้าโพแทสเซียมในเลือดต่ำมาก ๆ อาจทำให้หายใจไม่ได้ เพราะกระบังลมและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจไม่มีแรง

การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือด ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นภาวะที่พบบ่อยทางคลินิก การรักษาคือการให้โพแทสเซียมคลอไรด์ชดเชย ร่วมกับแก้ที่สาเหตุ เช่น หยุดยาขับปัสสาวะ ให้แมกนีเซียมเข้าไปชดเชยที่ขาดด้วย

ภาวะโพแทสเซียมเกิน

ภาวะโพแทสเซียมเกินเรียกว่า hyperkalemia คือระดับโพแทสเซียมในเลือด > 5.0 mEq/L พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่เกิดจากยาที่ลดการขับโพแทสเซียมออกทิ้งทางปัสสาวะ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม ยาขับปัสสาวะชนิดที่สงวนโพแทสเซียม ยากันชักบางตัว ถัดมาคือเกิดจากการได้น้ำเกลือ อาหารทางการแพทย์ หรือยาที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียมมากเกินไป สุดท้ายคือเกิดจากโรคไตวาย และการเจ็บป่วยเฉียบพลันที่ทำให้มีภาวะกรดคั่งในเลือด ในภาวะนี้โพแทสเซียมจะเคลื่อนออกมาจากเซลล์

อาการของภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงคือ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงหยุดเต้นหากสูงมาก ๆ

การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือด การรักษาต้องแก้ที่สาเหตุก่อน ยกเว้นโพแทสเซียมในเลือดสูงมากจึงค่อยพิจารณาใช้ยาขับโพแทสเซียมออกทางอุจจาระ ในผู้ป่วยไตวายอาจใช้วิธีฟอกเลือด (hemodialysis) ถ้าทำได้

ภาวะโพแทสเซียมเกินไม่เคยเกิดในคนปกติที่รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงจากธรรมชาติ

บรรณานุกรม

  1. "Potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (30 มีนาคม 2563).
  5. "Potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (30 มีนาคม 2563).
  6. "potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (30 มีนาคม 2563).
  7. "13.4 Potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (30 มีนาคม 2563).
  8. "- Elements - 26: POTASSIUM." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา apjcn.nhri.org.tw. (30 มีนาคม 2563).
  9. "Potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (30 มีนาคม 2563).
  10. James L. Lewis, III . 2018. "Overview of Disorders of Potassium Concentration." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (30 มีนาคม 2563).
  11. James L. Lewis, III. 2018. "Hypokalemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (30 มีนาคม 2563).
  12. James L. Lewis, III. 2018. "Hyperkalemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (30 มีนาคม 2563).
  13. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Potassium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (30 มีนาคม 2563).