วิตามินในธรรมชาติ (Natural vitamins)
วิตามิน คือ สารอาหารขนาดเล็กที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่จำเป็นสำหรับขบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย หน้าที่หลักของวิตามินคือ
- เป็นตัวช่วยเอนไซม์ทำปฏิกิริยาต่าง ๆ
- ทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากขบวนการเผาผลาญภายในเซลล์ ซึ่งอนุมูลอิสระ (free radicals) เป็นตัวทำให้ดีเอ็นเอในเซลล์ผิดปกติ และส่งผลให้เซลล์ที่แบ่งตัวต่อ ๆ ไปผิดปกติด้วย
- เป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมน
แม้จะมีหน้าที่สำคัญ แต่ปริมาณวิตามินที่ร่างกายต้องการต่อวันมีเพียงไมโครกรัม-มิลลิกรัม กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ออกประกาศแนะนำปริมาณวิตามินที่ควรบริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ดังรูปข้างล่าง
วิตามินส่วนใหญ่อยู่ในอาหารที่เรารับประทานทุกวัน โดยเฉพาะในผักผลไม้ สำหรับวิตามินดีร่างกายสามารถสร้างได้เองที่ผิวหนังเมื่อเราโดนแสงแดด ส่วนวิตามิน B3 หรือไนอะซิน (Niacin) ร่างกายสามารถสร้างเองได้จากกรดอะมิโนทริปโตแฟน (Tryptpphan) แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ก็ช่วยเราสร้างวิตามินหลายตัว การขาดวิตามินจึงเป็นไปได้น้อยมากถ้าเราไม่เลือกรับประทาน
วิตามินแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ วิตามินที่ละลายในไขมัน (ได้แก่ เอ ดี อี เค) กับวิตามินที่ละลายในน้ำ (ได้แก่ บีและซี) วิตามินที่ละลายในไขมันสามารถสะสมในร่างกายจนเกิดพิษได้หากเรารับประทานมากเกินไป โดยเฉพาะจากวิตามินในรูปเม็ดยา วิตามินที่ละลายน้ำหลายตัวก็มีผลข้างเคียงหากรับประทานในรูปเม็ดยาในขนาดสูงติดต่อกันนาน ๆ
วิตามินที่ละลายในน้ำส่วนใหญ่จะสูญไปกับน้ำหุงต้มหากเราเทน้ำทิ้ง เช่น การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ การต้มผักแล้วเทน้ำทิ้งบางส่วน ทางที่ดีเราไม่ควรเทน้ำหุงต้มทิ้งไปเลย ควรแบ่งมารับประทานพร้อมอาหาร หรือดื่มแทนน้ำ
วิตามินหลายตัวถูกทำลายได้เมื่อโดนแสง ภาชนะเก็บอาหารทุกชนิดจึงควรทึบแสง ซึ่งเป็นหลักในการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เราจะเห็นได้จากภาชนะบรรจุนม อาหารกระป๋อง รวมทั้งเม็ดยาต้องบรรจุในขวดทึบ
กลุ่มของวิตามินบีส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นเอนไซม์ร่วม (co-enzyme) ในแทบทุกขบวนการเคมีของร่างกาย และต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในการออกฤทธิ์ หากร่างกายขาดตัวใดดัวหนึ่งก็มักจะขาดตัวอื่น ๆ ด้วย
บรรณานุกรม
- "Vitamins." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).