โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (Atherosclerosis)

หลอดเลือดแดงของคนเราเปรียบเสมือนท่อประปา คอยลำเลียงเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ แต่เมื่อท่อประปาถูกใช้ไปนาน ๆ ก็เสื่อม แข็ง เปราะ ทนแรงดันของน้ำภายในท่อไม่ค่อยได้ โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งก็เป็นภาวะเสื่อมที่ผนังหลอดเลือด โดยเริ่มจากการฉีกขาดของผนังด้านในจากแรงฉีดของกระแสโลหิต ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนใต้ผนังชั้น tunica intima ตะกอนเหล่านี้ได้แก่ไขมัน แคลเซียม เศษเม็ดเลือด และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เมื่อพอกพูนมากขึ้นทางไหลเวียนของโลหิตก็แคบลง อวัยวะส่วนปลายก็ได้รับเลือดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ความเสื่อมนี้ความจริงเริ่มเกิดตั้งแต่วัยรุ่น แต่กว่าที่หลอดเลือดจะตีบจนอวัยวะที่ไปเลี้ยงแสดงอาการขาดเลือดก็ใช้เวลาหลายสิบปี

สาเหตุของความเสื่อมนี้ยังไม่มีใครทราบ แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแข็งเร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่

ความเสื่อมของหลอดเลือดนี้เกิดทั่วไปหมด ไม่เฉพาะกับเส้นเลือดใด ทางการแพทย์เรียกว่า "Arteriosclerosis" (artery = หลอดเลือดแดง, sclerosis = ความเสื่อมแข็ง) โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (Atherosclerosis) ความจริงเป็นกลุ่มย่อยของภาวะ Arteriosclerosis ที่นอกจากจะมีผนังแข็ง (sclerosis) แล้ว ยังมีการสะสมของตะกอนภายในผนังชั้นในของหลอดเลือด (atheroma) ด้วย

อาการของโรค

เนื่องจากผนังหลอดเลือดไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกมาเลี้ยง โรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งจึงไม่มีอาการอะไร อาการที่แสดงเป็นอาการของอวัยวะสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากหลอดเลือดตีบ ตัน หรือแตก

การตีบ ทำให้อวัยวะขาดเลือดเรื้อรัง อาการมักเป็นน้อยแต่เป็นซ้ำบ่อย ๆ

การตัน เกิดจากตะกอนแตกเป็นก้อนเล็ก ๆ ลอยไปอุดหลอดเลือดที่ไกลออกไปที่มีขนาดเล็กกว่า เลือดผ่านไปไม่ได้เลย อาการจึงเกิดปุบปุบและรุนแรงกว่า แต่ถ้าโชคดีก้อนที่อุดนั้นหลุดไปเองอาการก็จะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่นาน

การแตก คือการที่ผนังหลอดเลือดที่เสื่อมทนแรงดันภายในหลอดเลือดไม่ไหวจึงฉีกขาด เลือดไหลออกจากระบบท่อประปา จึงมีทั้งอาการของอวัยวะที่เลือดออกและอาการวูบหรือหมดสติจากความดันโลหิตตกกะทันหัน บางครั้งผู้ป่วยจะเสียชีวิตทันที

ตารางข้างล่างแสดงอาการของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการตีบ แตก ตัน ของโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง

อวัยวะพยาธิสภาพ-อาการ
สมองตีบ, แตก - อัมพาตครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาจชัก หมดสติ (หากอ่อนแรงซีกขวาอาจสูญเสียการสื่อสารด้วย)
ตันแล้วหลุด - พูดไม่ชัด ชา ชัก อ่อนแรงครึ่งซีกชั่วคราว
ดวงตาตีบ, แตก - มองไม่เห็นภาพข้างนั้น
ตันแล้วหลุด - มองไม่เห็นชั่วคราว
หัวใจตีบ - แน่นอกเวลาออกกำลังหรือหลังกินอาหาร เป็นบ่อย พอพักก็ดีขึ้น
ตัน - แน่นอก หายใจไม่ได้ ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันโลหิตตก
ไตตีบ, ตัน - ค่าครีเอตินีนสูงขึ้น บวม เบื่ออาหาร ปัสสาวะออกน้อย ความดันโลหิตสูงขึ้น
หลอดเลือดแดงเอออร์ตาตีบแล้วผนังโป่ง - มีก้อนในท้องเต้นตามจังหวะของชีพจร
แตก - ปวดท้องหรือปวดหน้าอกมาก ช็อก มักเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง
ลำไส้ตีบ - ปวดท้อง ท้องอืด เป็น ๆ หาย ๆ อาหารไม่ย่อย
ตัน - ปวดท้องมาก ท้องอืด ถ่ายเป็นเลือด ลำไส้เน่า
อวัยวะเพศชายตีบ, ตัน - เสื่อมสมรรถนะทางเพศ
แขน, ขาตีบ - ปวดน่องเวลาเดินไกล
ตัน - มีอาการเย็น->ปวด->ชา บริเวณที่ขาดเลือด ปลายมือปลายเท้ามีสีเขียวคล้ำ

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคส่วนใหญ่ได้จากอาการของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบแล้ว ประกอบกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, ตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจ, อัลตราซาวด์หลอดเลือด เป็นต้น

แต่การวินิจฉัยโดยตรงคือการเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiography) ซึ่งเป็นการตรวจที่ค่อนข้างอันตราย และผลตรวจไม่สามารถรักษาได้ (เพราะความเสื่อมนี้จะดำเนินไปเรื่อย ๆ)

มีการตรวจบางอย่างสามารถบอกถึงโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งได้ก่อนที่จะมีอาการ ได้แก่

การรักษา

เนื่องจากความเสื่อมของหลอดเลือดนี้เกิดทั่วไปหมด การรักษาทำได้เพียงใส่ตัวถ่างหลอดเลือด หรือเปลี่ยนหลอดเลือดเฉพาะเส้นที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดของแขน-ขา นอกจากนั้นคือการประคับประคองอาการอัมพาต หัวใจล้มเหลว ไตวาย ตาบอด ฯลฯ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว

หากเป็นเส้นเลือดแตกที่สมอง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ แต่ส่วนใหญ่หลังผ่าจะไม่กลับมาปกติเหมือนเดิม ยังคงเป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือสูญเสียการทำงานของอวัยวะสำคัญอยู่

การป้องกัน

แม้โรคนี้จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่การลดปัจจัยเสี่ยงที่เสริมให้ความเสื่อมนี้เกิดเร็วขึ้นก็อาจช่วยให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายของเราดีขึ้น เช่น การเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเบียร์/สุรา/แอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ไม่มัน ไม่เค็ม ไม่หวานมาก หากมีโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงแล้วก็ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ที่เคยมีอาการของอวัยวะขาดเลือดจากโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งมาก่อน ควรรับประทานยาลดไขมันในเลือดและยาต้านเกร็ดเลือดเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันซ้ำ

บรรณานุกรม

  1. "Facts and figures of atherosclerosis disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medicine CMU. (2 เมษายน 2562).
  2. "Atherosclerosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (2 เมษายน 2562).
  3. "Atherosclerosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (2 เมษายน 2562).
  4. Joseph Nordqvist. 2017. "What to know about atherosclerosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medical News Today. (2 เมษายน 2562).
  5. "Arteriosclerosis / atherosclerosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (2 เมษายน 2562).