โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

โรคความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยไม่ได้มีสาเหตุจากเครียด อดนอน ความเจ็บปวด โคลงเคลงบ้านหมุน โรคหืดหอบ โรคทางสมอง โรคทางต่อมไร้ท่อ โรคไต โรคเอออร์ตาตีบ (Aortic coartation) หรือจากยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ยากระตุ้นจิตประสาท เป็นต้น (หากเป็นจากสาเหตุดังกล่าว เมื่อกำจัดสาเหตุนั้น ๆ ไป ความดันควรจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม)

โรคความดันโลหิตสูงที่หาสาเหตุไม่ได้เป็นภาวะที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด อุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ น้ำหนักตัว การใช้ชีวิตที่รีบเร่ง การไม่ออกกำลังกาย และการบริโภคสิ่งที่ให้ร้ายต่อร่างกาย เพศชายและพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดโรคนี้ง่ายขึ้นในคนที่มีรูปแบบชีวิตดังกล่าว จัดเป็นโรคเสื่อมที่นำความหายนะมาสู่อวัยวะต่าง ๆ ทั้งสมอง หัวใจ ไต ดวงตา และแขน-ขา การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตอาจช่วยลดอุบัติการณ์ของเส้นเลือดแตกและชะลอความล้มเหลวของอวัยวะเหล่านั้นให้ช้าลง แต่ในระยะยาวหัวใจที่ทำงานหนักจะโตขึ้นและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดที่เสื่อมลงก็จะลำเลียงเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดี เสี่ยงต่อภาวะขาดเลือดของทุกอวัยวะในที่สุด

นิยามใหม่ของโรคความดันโลหิตสูง

ในปี 2560 สมาคมแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา (ACC, AHA, ASA, etc) ได้กำหนดระดับความดันปกติใหม่ เพื่อให้คนตระหนักถึงโรคความดันโลหิตสูงและเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมทั้งรับประทานยาควบคุมความดันให้เร็วขึ้น จากนิยามใหม่ ความดันโลหิตที่ปกติคือ ค่าบน (หรือความดันในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบตัว) ต้องต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และ ค่าล่าง (หรือความดันในหลอดเลือดขณะหัวใจคลายตัว) ต้องต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดขณะผ่อนคลาย ดีที่สุดคือที่บ้าน (Home blood pressure monitoring) ดังนั้น ผู้ที่มีความดันโลหิต 125/79, 119/83 หรือแม้แต่ 120/80 พอดี ในยามผ่อนคลาย ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น

ผู้ที่ความดันโลหิตค่าบนอยู่ในช่วง 120-129 และค่าล่างไม่เกิน 80 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นผู้ที่เริ่มมีความดันสูง (Elevated blood pressure) อาจยังไม่ต้องเริ่มรับประทานยา แต่ควรปรับวิถีชีวิตให้ช้าลง นอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง ลดอาหารเค็ม มัน หวาน รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น เลิกบุหรี่ ละเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วน คิดดี พูดดี ไม่สร้างอารมณ์กลัว เกลียด โกรธ ในแต่ละวัน ให้ทาน ให้อภัย และหมั่นหัวเราะทุกวัน ฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย

ส่วนใหญ่แพทย์จะเริ่มใช้ยาลดความดันโลหิตเมื่อเข้าสู่โรคความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 โดยเป้าคือให้ความดันต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เว้นแต่ผู้ป่วยมีโรคเบาหวานหรือมีหลอดเลือดตีบตันของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มให้ยาตั้งแต่ความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 โดยเป้าคือให้ความดันต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท

อาการของโรค

โรคความดันโลหิตสูงระยะแรกไม่มีอาการอะไร โดยเฉพาะช่วงที่ความดันโลหิตค่าบนยังอยู่ระหว่าง 120-140 มิลลิเมตรปรอท แต่การแพทย์แผนจีนได้บรรยายถึง 3 กลุ่มอาการที่บ่งถึงความผิดปกติของพลังภายใน ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในภายหลัง ได้แก่

  1. กลุ่มอาการหยาง (Fire syndrome) คล้าย "ร้อนใน" โดยไม่มีไข้
    • Liver fire syndrome มีอาการวิงเวียน มึนศีรษะ ใบหน้าร้อน เหงื่อออกมาก ตาแดง ปากขม กระหายน้ำ หงุดหงิด กระสับกระส่าย ชีพจรแรงและเร็ว
    • Heart fire syndrome มีอาการใบหน้าร้อน เหงื่อออกมาก ปากขม กระหายน้ำ นอนไม่หลับ ปลายลิ้นแดง ชีพจรเร็ว
    • Stomach and intestine fire syndrome มีอาการปากแห้ง อยากดื่มน้ำเย็นตลอดเวลา หิวบ่อย มีกลิ่นปาก ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก อุจจาระมีกลิ่นเหม็นมาก
  2. กลุ่มอาการไหลเวียนติดขัด (Phlegm-fluid retention syndrome)
    • Phlegm and dampness syndrome มักพบในคนอ้วน มีอาการวิงเวียน แน่นอก ปากเหนียว ปากแห้ง ลิ้นเลี่ยน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องอืด อุจจาระอ่อน ง่วงนอน ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
    • Fluid retention syndrome มีอาการวิงเวียนเมื่อเปลี่ยนท่า แน่นอก ใจสั่น ปากแห้ง ลิ้นเลี่ยน รู้สึกลิ้นหนา เบื่ออาหาร ท้องอืด หนักเนื้อหนักตัว ขาบวม ง่วงนอน ตกขาว เบาขัด
  3. กลุ่มอาการขาดพลัง (Deficiency syndrome)
    • Spleen deficiency syndrome มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร อุจจาระอ่อน
    • Kidney deficiency syndrome มีอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าที่บั้นเอวและขา วิงเวียน มีเสียงดังในหู อ่อนเพลีย เสื่อมสมรรถนะทางเพศ เบาขัด

เมื่อความดันสูงขึ้น อาการก็จะชัดขึ้น โดยเฉพาะอาการวิงเวียน มึนศีรษะ แน่นอก เหนื่อยง่าย เลือดกำเดาไหล

การวินิจฉัยโรค

เมื่อตรวจพบว่าความดันในขณะผ่อนคลายสูงเกิน 130/90 มิลลิเมตรปรอทอยู่เรื่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุออกไปก่อน สาเหตุเหล่านั้นได้แก่

  • Polycystic kidney disease มักพบก้อนในท้องส่วนบน 2 ข้าง
  • Takayasu’s disease ตรวจพบชีพจรของแขน ขา หรือ คอข้างใดข้างหนึ่งหายไป หรือเบาลง
  • Coarctation of aorta ความดันแขนขวาสูงกว่าแขนซ้ายมาก ชีพจรแขนซ้ายและที่โคนขา 2 ข้างเบา อาจได้ยินเสียงฟู่ที่หน้าอก
  • Renal artery stenosis มีเสียงฟู่บริเวณหลังส่วนบนข้างใด ข้างหนึ่ง
  • Pheochromocytoma พบปานสีน้ำตาลที่ผิวหนัง (Café au lait spot) หรือมีติ่งเนื้อมากมาย (neurofibroma) ความดันโลหิตสูงมากและขึ้น ๆ ลง ๆ
  • Primary aldosteronism กล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา หรือต้นคออ่อนแรง โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • Von Hippel-Lindau disease มีความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่จอตา (hemangioma) ร่วมกับกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติสมองส่วน cerebellum
  • Chronic kidney disease ซีด เท้าบวม ผิวแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ค่าครีเอตินีนในเลือดสูง
  • Cushing’s syndrome ลำตัวอ้วน แต่แขนขาลีบ (truncal obesity) มีริ้วลายสีม่วงที่ผิวหนัง (purplish striae)

หากพบสาเหตุดังกล่าวข้างต้นให้รักษาสาเหตุนั้นก่อน หากไม่พบถึงจะวินิจฉัยเป็นโรคความดันโลหิตสูง (ที่หาสาเหตุไม่ได้) และเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินความรุนแรงของโรค และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

การประเมินความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง (Target organ damage, TOD)

เป็นการประเมินว่าโรคได้ทำความเสียหายต่ออวัยวะเป้าหมายไปมากน้อยเพียงไร โดยแพทย์จะตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดดูการทำงานของไต, ความเข้มข้นของเลือด, ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ตรวจจอประสาทตา วัดความแรงของชีพจรแขนขา วัดรอบเอวหาภาวะอ้วนลงพุง และสอบถามเกี่ยวกับอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต

อวัยวะเป้าหมายภาวะแทรกซ้อน - อาการ/อาการแสดง
หัวใจหัวใจห้องล่างซ้ายโต - เหนื่อยง่าย
หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอแบบ Atrial fibrillation - ใจสั่น รู้สึกใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
หัวใจล้มเหลว - เหนื่อยเวลานอนราบ หายใจมีเสียงวี้ด ขาบวม
ไตไตเสื่อม/วายเรื้อรัง - มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ค่าครีเอตินีนในเลือดสูงขึ้น ขาบวม ซีด ผิวแห้ง คันตามตัว
สมองหลอดเลือดสมองตีบ/แตก/ตัน - ปากเบี้ยว อัมพาตครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ภาวะสมองเสื่อม
ดวงตาจอประสาทตาเสื่อม - ตามัว การรับภาพเสียไป
หลอดเลือดแดงของแขนขาโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง - แขน/ขาเย็น มีสีเขียวคล้ำ ชีพจรที่แขน/ขาเบาหรือคลำไม่ได้ อาจมีปวด

การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

เป็นการรวบรวมปัจจัยเสี่ยงที่มีและตรวจพบทั้งหมด มาประเมินโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งความจริงใช้ได้กับผู้ที่อายุเกิน 40 ปีทุกคน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ตรวจโคเลสเตอรอลในเลือดให้ใช้เส้นรอบเอวหารครึ่งหนึ่งของความสูง (เป็นเซนติเมตร) แทน

ทุกคนควรควบคุมให้ความเสี่ยงของตัวเองอยู่ในระดับสีเขียว หรืออย่างน้อยก็สีเหลือง

การรักษา

การรักษาที่ถูกต้องคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อให้โรคความดันโลหิตสูงหายไป ด้วยการ...

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. คือให้อยู่ในช่วง 18.5-22.9 คูณส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง เช่น สูง 170 เซนติเมตร น้ำหนักควรจะอยู่ระหว่าง 18.5 x 1.7 x 1.7 ถึง 22.9 x 1.7 x 1.7 = 53.5-66.2 กิโลกรัม

    หรือใช้เกณฑ์รอบเอวสาหรับคนไทย คือ ผู้ชายน้อยกว่า 90 ซม. และผู้หญิงน้อยกว่า 80 ซม.

  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ ออกระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ระดับปานกลาง หมายถึง เมื่อออกกำลังกายเสร็จยังสามารถพูดเป็นประโยคต่อเนื่องได้ รูปแบบของการออกกำลังปานกลาง เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำเร็ว ตัดหญ้า เต้นแอโรบิกเบา ๆ ชี่กง (qi gong) ไท้เก็ก (tai chi) โยคะ เป็นต้น

    นอกจากนั้นในแต่ละวันควรกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างกระฉับกระเฉง ลดพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ

  5. รับประทานอาหารแบบแดช (DASH, Dietary Approaches to Stop Hypertension)
  6. โดยในหนึ่งวัน ให้รับประทานผัก 5 ส่วน (= ผักสด 10 ทัพพี หรือผักสุก 5 ทัพพี) + ผลไม้ 4 ส่วน (= ผลไม้วางเรียงชั้นเดียวบนจานรองกาแฟ 4 จาน) + นม 2-3 แก้ว (แก้วละ 240 มิลลิลิตร) + ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย เผือก มัน ถั่ว ก๋วยเตี๋ยว พาสตา มักกะโรนี รวม 7 ทัพพี + โปรตีนไม่เกิน 170 กรัม/วัน

  7. จำกัดการบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม/วัน โดย
  8. - เกลือแกง 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
    - น้ำปลา 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ 350-500 มิลลิกรัม
    - ซีอิ๊ว 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ 320-455 มิลลิกรัม
    - ผงชูรส 1 ช้อนชา มีโซเดียม 492 มิลลิกรัม

  9. จำกัดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  10. เลิกสูบบุหรี่

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตข้างต้นต้องปฎิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงจะเห็นผล ในระยะสั้น หากความดันโลหิตสูงมากหรือเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะเป้าหมายแล้ว จำเป็นต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตควบคู่ไปด้วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกให้ตามความเหมาะสม และมิใช่ทุกคนที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วจะสามารถหยุดยาลดความดันได้ หากลดยาแล้วความดันสูงขึ้นอีกแสดงว่าท่านเข้าสู่โรคแห่งความเสื่อมนี้โดยสมบูรณ์ จำเป็นต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อถนอมอวัยวะเป้าหมายมิให้บาดเจ็บจากแรงดันเลือดที่สูงอยู่เกือบตลอดเวลา

บรรณานุกรม

  1. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุง 2558. "แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. (16 พฤษภาคม 2562).
  2. โรงพยาบาลศิริราช. "ความดันโลหิตสูง." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Siriraj. (16 พฤษภาคม 2562).
  3. Max C. Reif. 2018. "What’s In the New Hypertension Guidelines?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ACP online. (16 พฤษภาคม 2562).