โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมความจริงเป็นขบวนการต่อเนื่องหลังหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน (fibrocartilage) เปรียบเสมือนโช้คกันกระแทกเวลาที่กระดูกสันหลังชิ้นบนลงน้ำหนักลงบนกระดูกสันหลังชิ้นล่าง หมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 25 ปีขึ้น อายุและน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นกิจกรรมที่เราทำทุกวัน เช่น ก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก หรือเคยมีอุบัติเหตุ/การบาดเจ็บ ก็เสริมส่งให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป เมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อมตัวมันจะบางลง อาจฉีกขาด ปูดออก หรือหลุดไปด้านหลัง กดเส้นประสาท ในระยะยาวกระดูกสันหลังชิ้นบนและล่างที่ขาดโช้คจะเสียดสีกันง่ายขึ้น เกิดการถลอก แตกหัก ร่างกายจะซ่อมแซมด้วยการดึงแคลเซียมมาพอก จึงเกิดเงี่ยงหินปูน (spurs, osteophytes) มากมายตามขอบกระดูกที่เสียดสีกัน เงี่ยงหินปูนเหล่านี้จะยิ่งทำให้กระดูกเสียดสีกันเองมากขึ้น อีกทั้งยังคอยเกี่ยวเนื้อเยื่อที่ยึดโดยรอบกระดูกสันหลังเวลาที่เราเคลื่อนไหว จึงสร้างความเจ็บปวดให้ไม่หยุดหย่อน

อาการของโรค

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นโรคที่พบบ่อย อาการจะมาจาก 3 สาเหตุ คือ

  1. กระดูกเสียดสีกันเองเวลาเคลื่อนไหว ทำให้ปวดเรื้อรังตรงตำแหน่งที่เสื่อม
  2. หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแปล๊บขึ้นมาเป็นพัก ๆ มักจะลงแขนหรือขาข้างที่เส้นประสาทไปเลี้ยง หากหมอนรองกระดูกหลุดไปมากจนกลับเข้ามาที่เดิมไม่ได้ก็จะปวดมากจนขยับไม่ได้ กล้ามเนื้อที่เส้นประสาทเส้นนั้นมาเลี้ยงจะอ่อนแรง แบบนี้ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อเอาหมอนรองกระดูกออก
  3. กระดูกสึกจนยุบ ทำให้แนวกระดูกสันหลังผิดรูป ผู้ป่วยจะเดินตัวเอียงหรือหลังค่อม และเดินไกลไม่ได้เพราะจุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักตัวผิดแนวไป

กระดูกสันหลังของมนุษย์แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ ส่วนคอ (Cervical, C) มี 7 ชิ้น ส่วนอก (Thoracic, T) มี 12 ชิ้น ส่วนเอว (Lumbar, L) มี 5 ชิ้น ส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum, S) เชื่อมติดกันเป็นชิ้นเดียวและเชื่อมติดกับกระดูกเชิงกรานด้วย จึงขยับได้น้อย และสุดท้ายส่วนก้นกบ (Coccyx) เป็นที่ยึดของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกราน กระดูกสันหลังที่เสื่อมง่ายมักเป็นส่วนเอวและส่วนคอ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมจะปวดคอ กล้ามเนื้อไหล่ และปวดท้ายทอย กระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมจะปวดหลังส่วนเอวเวลานั่งนาน ๆ ก้ม/เงย/เอี้ยวตัวลำบาก

ตารางข้างล่างแสดงอาการของเส้นประสาทถูกกดทับ ตามตำแหน่งกระดูกสันหลังเสื่อมที่พบบ่อย

กระดูกสันหลังข้อที่กดเส้นประสาทที่อาการ (มักเป็นข้างเดียว)
C2-3C3ปวดท้ายทอย ต้นคอ อาจปวดร้าวไปหลังหู (โอกาสพบน้อยมาก)
C3-4C4ปวดและชาบริเวณบ่า, หัวไหล่, สะบัก ยักไหล่ไม่ขึ้น หายใจลำบาก (โอกาสพบน้อย)
C4-5C5ปวดและชาบริเวณหัวไหล่และต้นแขน
C5-6C6ปวดและชาแขน กระดกข้อมือขึ้นไม่ค่อยได้ นิ้วหัวแม่มือชาและอ่อนแรง
C6-7C7ปวดและชาด้านหลังของต้นแขน กระดกข้อมือลงไม่ค่อยได้ ชานิ้วชี้+กลาง+นาง ยกกระเป๋าขึ้น-ลงหิ้งไม่ค่อยได้
C7-T1C8นิ้วมืออ่อนแรง โดยเฉพาะนิ้วชี้และกลาง (ติดกระดุมลำบาก) ชานิ้วก้อย
L2-3L3ปวดและชาต้นขาด้านหน้า ไม่ค่อยมีแรงหุบขา
L3-4L4ปวดและชาบริเวณเข่าลงมาถึงขาด้านใน ยกขาเตะไม่ค่อยไหว
L4-5L5ปวดและชาขาด้านหน้า กระดกข้อเท้าและนิ้วโป้งเท้าไม่ค่อยขึ้น กางขาไม่ค่อยได้
L5-S1S1ปวดและชาต้นขาด้านหลังถึงส้นเท้า กระดกข้อเท้าลงไม่ค่อยไหว (เต้นบัลเล่ย์ไม่ได้)

การวินิจฉัยโรค

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมวินิจฉัยได้จากอาการดังกล่าวข้างต้นบวกกับเอกซเรย์ธรรมดา

จากรูปข้างบน ด้านซ้ายเป็นกระดูกสันหลังส่วนคอ ด้านขวาเป็นกระดูกสันหลังส่วนเอว ทั้งสองรูปมีลักษณะเหมือนกันคือ ช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง (ซึ่งหมายถึงหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมจนยุบแบนลงมา) และเงี่ยงหินปูน (spurs) ยื่นออกมาคล้ายรูปวาดข้างบนสุด

MRI ของกระดูกสันหลังจำเป็นเฉพาะในรายที่ศัลยแพทย์กระดูกเห็นควรจะผ่าตัดเนื่องจากเส้นประสาทที่ถูกกดทับแสดงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้เห็นแล้ว

การรักษา

หากยังไม่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแพทย์มักให้ใส่ปลอกคอหรือสายรัดเอวเพื่อลดการเคลื่อนไหว ให้ยารับประทาน และให้ทำกายภาพบำบัดดูก่อน การทำกายภาพบำบัดได้แก่ การถ่วงน้ำหนักดึงคอ/เอว การนวดคลายกล้ามเนื้อ การประคบร้อน และการใช้ deep heat ด้วย ultrasound, dithermy หรือ electrotherapy ส่วนใหญ่อาการมักจะดีขึ้น

การผ่าตัดจะสงวนไว้เฉพาะกรณีที่มีอาการแสดงของการกดทับเส้นประสาทชัดเจน หรือปวดไม่ทุเลาด้วยยาและกายภาพบำบัด ซึ่งแพทย์อาจเลือกใช้วิธีเลาะเอาหมอนรองกระดูกออก (Discectomy), ตัดหลังคาของกระดูกสันหลังชิ้นนั้นทิ้ง (Laminectomy), เปิดช่องลอดของเส้นประสาทให้กว้างขึ้น (Foraminotomy or foraminectomy), ตัดเงี่ยงหินปูนที่กดเส้นประสาท (Osteophyte removal), หรือเชื่อมกระดูกสันหลังสองชิ้นเข้าด้วยกัน (Spine fusion) กรณีที่ข้อต่อไม่มั่นคง เป้าหมายการผ่าตัดเพียงเพื่อลดความเจ็บปวดและลดการกดทับเส้นประสาท ไม่สามารถทำให้สภาพกระดูกที่เสื่อมหายไปได้ หลังผ่าตัดผู้ป่วยยังคงมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวคอและลำตัว

ยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดมักเป็นยารับประทานกลุ่มเอ็นเสด, และกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์บางท่านอาจใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าช่องเหนือไขสันหลัง (epidural) หรือเข้าข้อต่อบริเวณที่ปวดเพื่อลดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทในรายที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้

เมื่ออาการปวดดีขึ้น ในระยะยาวควรฝึกท่าที่ถูกต้องในการทำกิจวัตรประจำวัน และหมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอและหลังเพื่อลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นอีก

บรรณานุกรม

  1. "Anatomy of the Spine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayfield Clinic. (21 มีนาคม 2562).
  2. "Cervical Radiculopathy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ortho Bullets. (21 มีนาคม 2562).
  3. "Lumbar Disc Herniation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ortho Bullets. (21 มีนาคม 2562).
  4. Ahmad Hassan Al-Shatoury. 2018. "Cervical spondylosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (21 มีนาคม 2562).
  5. Bruce M Rothschild. 2018. "Lumbar spondylosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (21 มีนาคม 2562).