ภาวะไตเสื่อมหรือวายเรื้อรัง
(Chronic kidney disease, CKD)
ขณะที่ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันเป็นผลแทรกซ้อนของโรคอื่นที่รุนแรง คนไข้จึงมีอาการหนัก แต่ภาวะไตเสื่อมหรือวายเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง การทำงานของไตเสียจะไปอย่างช้า ๆ คนไข้จึงไม่ค่อยแสดงอาการ ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการตรวจร่างกายประจำปีหรือแพทย์นัดติดตามอาการ
ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไตเสื่อมดังต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจการทำงานของไตอย่างน้อยปีละครั้ง
- เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงอยู่
- เคยเกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันมาก่อน
- มีโรคหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลวเรื้อรัง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน
- มีถุงน้ำหรือนิ่วที่ไต หรืออัลตราซาวด์พบโครงสร้างไตผิดปกติ
- มีต่อมลูกหมากโตหรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- มีโรคทางภูมิคุ้มกันที่สามารถทำให้ไตเสียหายด้วย เช่น เอสแอลอี
- มีญาติสายตรงเป็นโรคไตวาย
- มีความผิดปกติของไตแต่กำเนิด
- มีประวัติปัสสาวะเป็นเลือด
ความรุนแรงของภาวะไตเสื่อม
การทำงานของไตอาจดูคร่าว ๆ ได้จากค่าครีเอตินีน (creatinine, Cr) ในเลือด ค่าที่เกิน 1.2 mg% ในผู้หญิง และเกิน 1.4 mg% ในผู้ชาย ถือว่าเริ่มมีไตเสื่อม แต่จะให้ชัดเจนควรคำนวณเป็นอัตราการกรองของไต (Glomular filtration rate, GFR) ซึ่งแปรผันตามอายุ เพศ และเชื้อชาติ นอกจากนั้นจะใช้อัตราส่วนของอัลบูมินต่อครีเอตินีนในปัสสาวะ (Urine albumin/creatinine ratio, UACR) เป็นตัวบอกระยะที่ไตถูกทำลายด้วย
จากรูปข้างบน สีเขียวหมายถึงผู้ที่เสี่ยงน้อยที่จะกลายเป็นไตวายระยะสุดท้าย และหากไม่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ไม่มีโครงสร้างไตผิดปกติจากอัลตราซาวด์ ไม่มีพยาธิสภาพไตผิดปกติจากการตรวจชิ้นเนื้อ ไม่ถือเป็นภาวะไตเสื่อม อาจเป็นผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรือรับประทานเนื้อสัตว์มากโดยเฉพาะเนื้อวัว
สีเหลืองและสีส้มเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะแย่ลงจนเป็นไตวายเรื้อรังในอนาคต จึงต้องควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตให้ดี งดทานยาที่ไม่จำเป็น บริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และคอยตรวจติดตามค่าครีเอตินีนในเลือดและอัลบูมินในปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากเป็นโรคไตอยู่ก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง (แม้จะทำดีที่สุดแล้ว บางรายก็ยังอาจทรุดต่อจนเข้ากลุ่มสีแดง)
สีแดงหมายถึงกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องกับอายุรแพทย์โรคไตโดยเฉพาะ เพราะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งจะต้องฟอกเลือดเป็นประจำ
สาเหตุ อาการ และภาวะแทรกซ้อนของภาวะไตเสื่อมหรือวายเรื้อรัง
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะไตเสื่อมหรือวายเรื้อรังกว่าร้อยละ 70 คือโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (แม้จะคุมได้ดี) ถัดมาเป็นโรคของหน่วยไต และโรคถุงน้ำที่ไต สุดท้ายคือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคนิ่วและการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ โรคไตจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคไตจากพันธุกรรม โรคไตจากยาหรือสารพิษ โรคหลอดเลือดไตอุดตัน โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น
อาการของภาวะไตเสื่อมเทียบตามระยะของ GFR ตามรูปข้างบน
ระยะ G1-2 มักไม่มีอาการอะไร บางคนที่ช่างสังเกตอาจรู้สึกว่ามีปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยขึ้น หรือมีอาการคันตามตัว แต่อาการเหล่านี้ก็ไม่จำเพาะกับโรคไต โรคอื่นก็มีอาการแบบนี้ได้
ระยะ G3-4 จะมีอาการบวม ปัสสาวะออกน้อยลง ซีดลง เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูงขึ้น คันตามตัวโดยไม่มีผื่น
ระยะ G5 ปัสสาวะจะออกน้อยลงมาก คลื่นไส้อาเจียน กินไม่ค่อยได้ อาการบวม ซีด เหนื่อยจะเห็นอย่างชัดเจน มักนอนราบไม่ได้ ต้องนอนศรีษะสูง มิฉะนั้นจะตื่นมาไอหรือหอบตลอดคืน
ระยะเวลาจาก G1 ถึง G5 โดยทั่วไปกินเวลานานหลายสิบปี แต่เมื่อไตเข้าระยะ G3a แล้วมักจะถอยหลังกลับไปเป็นปกติเหมือนเดิมไม่ได้
ภาวะแทรกซ้อนเมื่อไตเสื่อมหรือวาย
- การใช้ยายุ่งยากขึ้น ต้องปรับขนาดใหม่ เกิดพิษจากยาง่ายขึ้น (โดยเฉพาะพวกยาแก้ปวดและต้านการอักเสบซึ่งหาซื้อง่ายตามร้านขายยาทั่วไป)
- มีภาวะซีด เนื่องจากไตไม่สามารถสร้างฮอร์โมน erythropoietin ได้ตามปกติ (ฮอร์โมนนี้กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง)
- ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจต้องเพิ่มขนาดหรือเพิ่มยาอีกตัวเพื่อควบคุมความดัน
- ฟอสฟอรัสในเลือดสูงขึ้น เพราะไตขับออกไม่ได้ ฟอสฟอรัสที่สูงนี้ทำให้หลอดเลือดแข็ง หัวใจทำงานหนักขึ้น มีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายโต
- มีภาวะน้ำเกินเพราะปัสสาวะออกน้อยลง เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
- แคลเซียมในเลือดลดลง เพราะไตสร้างวิตามินดีน้อยลง (วิตามินดีกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร) และฟอสฟอรัสในเลือดที่สูงขึ้นก็จับแคลเซียมในเลือดไปฟอกที่กระดูกอีก
- เกิด secondary hyperparathyroidism เพราะแคลเซียมในเลือดต่ำ
- มีภาวะกรดและโพแทสเซียมคั่งในเลือด เพราะไตกำจัดออกไม่ทัน โพแทสเซียมในเลือดที่สูงมาก ๆ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
- มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
- ร่างกายขาดสารอาหาร เพราะกินไม่ค่อยได้และซึมลงลงเนื่องจากของเสียคั่ง
แนวทางการตรวจวินิจฉัย
ผู้ที่ตรวจเลือดหรือปัสสาวะพบความผิดปกติของไตควรได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจสอบถามเรื่อง
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ในเด็กอาจสอบถามเรื่องการเป็นไข้ เจ็บคอ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ในผู้ใหญ่อาจถามเรื่องการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไวรัสเอดส์ และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ในเพศหญิงแพทย์อาจสอบถามอาการออกผื่นร่วมกับปวดข้อ ซึ่งบ่งบอกโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระยะเวลาที่เป็น รวมถึงยาที่ใช้อยู่
- ประวัติโรคไตในครอบครัว เพื่อดูโรคไตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น Polycystic kidney disease, Alport syndrome เป็นต้น
- ประวัติการเจ็บป่วยอื่น ๆ ในอดีต เช่น เคยเกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันมาก่อน ประวัติการผ่าตัด ฉายรังสีรักษา ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น
จากนั้นเมื่อประวัติชี้นำไปทางไหนก็จะตรวจเกี่ยวกับโรคนั้น ๆ เพิ่ม หากไม่มีประวัติใดให้ชวนสงสัยก็ถึงคราวที่ต้องตรวจแล็บขั้นต้นอย่างครบถ้วน ซึ่งได้แก่
- ตรวจนับเม็ดเลือดสัมบูรณ์ (CBC)
- ตรวจเลือดหาระดับของ BUN, Creatinine, electrolytes, (หากไตเสื่อมมากควรหาระดับของ Calcium และ Phosphorus ด้วย)
- ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร และน้ำตาลสะสม
- ตรวจการทำงานของตับ
- ตรวจปัสสาวะ (UA) และหาระดับของ total protein, microalbumin, creatinine, electrolytes ในปัสสาวะ
จากนั้นควรได้รับการเอกซเรย์ดูนิ่วที่ไต รวมทั้งนัดตรวจอัลตราซาวด์ของระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อดูความผิดปกติด้านโครงสร้าง เช่น ถุงน้ำที่ไต นิ่วที่ไม่เห็นจากเอกซเรย์ธรรมดา สภาพเนื้อไตและขนาดไต ขนาดของต่อมลูกหมากในเพศชาย เป็นต้น
แนวทางการรักษา
นอกเหนือจากการรักษาสาเหตุของโรคแล้ว ยังมีแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อชะลอความเสื่อมของไตตามระยะของไตวายดังนี้
ไตวายระยะที่ 1-2 (GFR ≥ 60 ml/min/1.73m2)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่มีอาการของโรคไต แต่ทราบเพราะบังเอิญตรวจพบข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- ค่า BUN และ/หรือ Creatinine ในเลือด สูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
- ตรวจพบโปรตีนหรือเม็ดเลือดในปัสสาวะ
- ตรวจพบหลักฐานของโรคไตจาก MRI, CT-scan, ultrasound, หรือ contrast x-ray
- มีประวัติครอบครัวเป็น Polycystic kidney disease
แนวทางปฏิบัติตัวในระยะนี้คือ
- การรับประทานอาหารสุขภาพ ซึ่งได้แก่
- ผัก ผลไม้ ธัญพืช ให้มาก
- รับประทานไขมันแต่น้อย เลี่ยงไขมันอิ่มตัวจากสัตว์
- ลดปริมาณโปรตีนลงเหลือ 0.6-0.8 g/kg/day เลี่ยงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หันมารับประทานโปรตีนจากพืช ไข่ นม และเนื้อปลาแทน
- ลดอาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมหรือน้ำตาลมาก ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน (เท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา, น้ำปลา 4 ช้อนชา, ซีอิ๊วขาวหรือซอสถั่วเหลือง 5 ช้อนชา) และน้ำตาลไม่ควรเกิน 37.5 กรัม/วันในเพศชาย และไม่เกิน 25 กรัม/วันในเพศหญิง
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม (เพศชาย = ส่วนสูงเป็น ซม. - 100, เพศหญิง = ส่วนสูงเป็น ซม. - 110)
- การควบคุมความดันโลหิต ให้ไม่เกิน
- 125/75 ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือไม่มีเบาหวานแต่ปัสสาวะเริ่มมีโปรตีนรั่วออกมาแล้ว
- 130/85 ในคนที่ไม่มีเบาหวานและไม่มีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ
- การควบคุมน้ำตาลในเลือด ให้ปกติทั้งผู้ที่เป็นและไม่เป็นเบาหวาน
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาทีทุกวัน
- รับประทานยาที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง โดยเฉพาะยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด
- เลิกสูบบุหรี่
ไตวายระยะที่ 3 (GFR 30-59 ml/min/1.73m2)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มแสดงอาการของไตวาย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาบวม ปริมาณปัสสาวะต่อวันน้อยลง เป็นตะคริวตอนกลางคืน ซีดและคันตามตัว
แนวทางปฏิบัติตัวในระยะนี้คือ
- การรับประทานอาหารสำหรับโรคไต ซึ่งได้แก่
- ผัก ผลไม้ ธัญพืช เป็นหลัก
- จำกัดอาหารที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม องุ่น ลูกเกด แคนตาลูป แอปริคอต ลูกพรุน อินทผลัม มะเขือเทศ เครื่องดื่มเกลือแร่
- จำกัดอาหารที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง เช่น เบียร์ น้ำอัดลมสีชา ช็อกโกแลต นม เนย ชีส เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว อาหารทะเล
- รับประทานไขมันแต่น้อย เลี่ยงไขมันอิ่มตัวจากสัตว์
- ลดปริมาณโปรตีนลงเหลือ 0.6-0.8 g/kg/day เลี่ยงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หันมารับประทานโปรตีนจากพืช ไข่ และเนื้อปลาแทน
- งดอาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมหรือน้ำตาลมาก ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัม/วัน (เท่ากับเกลือ ¾ ช้อนชา, น้ำปลา 3 ช้อนชา, ซีอิ๊วขาวหรือซอสถั่วเหลืองไม่เกิน 4 ช้อนชา) และน้ำตาลไม่ควรเกิน 37.5 กรัม/วันในเพศชาย และไม่เกิน 25 กรัม/วันในเพศหญิง
- จำกัดปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวัน = ปริมาณปัสสาวะที่ออกแต่ละวัน + 500 ml
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 20-30 นาทีทุกวัน
- เลิกสูบบุหรี่
- ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับประทานเฉพาะยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- เตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมคนที่จะช่วยดูแลไว้ด้วย
ไตวายระยะที่ 4-5 (GFR < 30 ml/min/1.73m2)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการชัดขึ้น เหนื่อยง่าย บวมทั้งตัว ซีด ผิวคล้ำขึ้น คันตามตัว ปัสสาวะออกน้อย คลื่นไส้อาเจียน กินไม่ค่อยได้ บางครั้งเวลานอนราบจะไอ หอบ ต้องนอนหมอนสูง ลมหายใจมีกลิ่นยูเรีย ชาตามปลายมือปลายเท้า ซึม คิดช้า ตอบช้า
แนวทางปฏิบัติตัวในระยะนี้คือ
- ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาไตวายระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีวิธีการฟอกเลือด (Hemodialysis) ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 4-6 ชั่วโมง, วิธีล้างทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) ซึ่งดูแลเองที่บ้านได้ และวิธีปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation) ซึ่งต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ให้เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของทั้งสามวิธี แล้วเลือกที่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง
- การรับประทานอาหารสำหรับโรคไต จะเหมือนกับระยะที่ 3 ยกเว้นถ้าเข้าโปรแกรมฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องต้องเพิ่มโปรตีนในอาหารเป็น 1.3 g/kg/day (เพิ่มไข่ขาว ปลา ถั่วต่าง ๆ กุ้งตัดหัว หมู ไก่) ส่วนใหญ่จะรับประทานได้ดีขึ้นจนลืมควบคุมปริมาณน้ำ ปริมาณเกลือ และอาหารที่มีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง
- บริหารร่างกายด้วยการเดิน มีกิจกรรมกับครอบครัว เพื่อนฝูงบ้าง
- ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับประทานเฉพาะยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากมีไข้ หอบเหนื่อย อาเจียน ให้รีบไปพบแพทย์
ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะที่ 3 ขึ้นไป
** เน้นผัก ปลา ไม่เค็ม ไม่มัน ผลไม้ที่หวานน้อย
- แกงจืดวุ้นเส้น ใส่เห็ด เต้าหู้ หมูสับ ผักกาดขาว
- แกงจืดมะระต้มกระดูกหมู
- มะระผัดเต้าหู้
- แกงจืดใบตำลึง ใส่หัวไช้เท้า แครอท เห็ดหอม หมูสับหรือเนื้อปลา
- ข้าวกล้องหุงกับข้าวโพดแกะเมล็ด ใส่แครอท ถั่วลิสง เนื้อไก่สับ
- ข้าวอบธัญพืช
- ปลานึ่งเต้าเจี้ยว ใส่เห็ดหอม ขิงหั่นฝอย ต้นหอม ผักชี
- ปลานึ่งมะนาว ใส่น้ำซุป โรยคึ่นช่าย
- ขนมจีนน้ำยาปลา
- ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหมูหรือกุ้ง
- ปลาดุกฟู ผักสลัด ราดน้ำจิ้ม
- น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ที่ไม่หวานจัด
- เต้าทึงร้อน
** เลี่ยงขนมหวาน ขนมใส่กะทิ ขนมอบ เพราะมักใส่เนยและผงฟูซึ่งมีสารฟอสเฟตสูง
** งดกาแฟ ชา เบียร์
บรรณานุกรม
- Andrew S. Levey, et. al. 2015. "Glomerular Filtration Rate and Albuminuria for Detection and Staging of Acute and Chronic Kidney Disease in Adults: A Systematic Review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา JAMA. 2015 Feb 24; 313(8): 837–846. (12 พฤศจิกายน 2561).
- Josette A. Rivera, et. al. 2012. "Update on the Management of Chronic
Kidney Disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2012 Oct 15;86(8):749-754. (5 พฤศจิกายน 2561).
- Amir Qaseem, et. al. 2013. "Screening, Monitoring, and Treatment of Stage 1 to 3 Chronic Kidney Disease: A Clinical Practice Guideline From the American College of Physicians." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. (5 พฤศจิกายน 2561).
- David A Ferenbach and Joseph V Bonventre. 2016. "Acute kidney injury and chronic kidney disease: from the laboratory to the clinic." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nephrol Ther. 2016 Apr; 12(Suppl 1): S41–S48. (5 พฤศจิกายน 2561).
- "Chronic kidney disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (5 พฤศจิกายน 2561).
- "Chronic Kidney Disease - Identification, Evaluation and Management of Adult Patients." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Columbia. (12 พฤศจิกายน 2561).
- "Chronic kidney disease
frequently asked questions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา BMA. (12 พฤศจิกายน 2561).
- "Stage 1 of Chronic Kidney Disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Davita.com. (19 พฤศจิกายน 2561).