ท้องโต (Abdominal distension)

อาการท้องโตเป็นได้ทั้งจากการมีลม มีน้ำ หรือมีก้อนผิดปกติในท้อง สิ่งสำคัญคือต้องแยกความแตกต่างให้ได้ก่อนว่าท้องโตขึ้นจากอะไร ในคนผอมอาจจะประเมินได้ง่ายกว่าคนที่อ้วนลงพุง

ลมในท้อง

ส่วนใหญ่การมีลมในท้องมักรู้สึกได้เร็วกว่าการมีน้ำหรือก้อนในท้อง ลมในท้องอาจอยู่เฉพาะภายในทางเดินอาหาร ซึ่งจะทำให้รู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อเท่านั้น หรืออาจออกมาอยู่ในช่องท้องถ้าทางเดินอาหารมีรูทะลุ ซึ่งในกรณีนี้จะปวดท้องมาก โดยปกติอากาศจะลอยขึ้นด้านบน ดังนั้นในท่ายืนเราจะรู้สึกว่ามีลมดันขึ้นจนรู้สึกอึดอัดและอยากเรอ (ส่วนของท้องที่ป่องออกมากที่สุดจะอยู่ด้านบนดังรูป) ในท่านอนลมก็จะลอยขึ้นด้านบนเช่นกัน ทำให้เวลาที่แพทย์ใช้นิ้วเคาะลงบนนิ้วตัวเองที่วางอยู่บนผนังหน้าท้องจะเกิดเสียงโปร่งเหมือนตีกลอง

สาเหตุของการมีลมในทางเดินอาหารมากมาจากการดื่มน้ำอัดลม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือกินอาหารที่สร้างแก๊สได้สูง เช่น ถั่ว ขนมขบเคี้ยว ผักสดและผลไม้ นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตส โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ ภาวะลำไส้อุดตัน หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

ลมที่ยังอยู่ภายในทางเดินอาหารเมื่อเอกซเรย์ดูจะเห็นดังรูป A แต่ในกรณีที่มีการแตกทะลุของทางเดินอาหาร เช่น แผลที่กระเพาะทะลุ, ไส้ติ่งแตก ลมจะออกมาอยู่ในช่องท้อง ในท่ายืนลมจะลอยขึ้นดันกระบังลมขึ้นด้านบนทำให้เห็นขอบของกระบังลมชัดเจนดังรูป B (ซึ่งปกติขอบล่างของกระบังลมจะมองไม่เห็นเพราะวางอยู่บนตับและกระเพาะ) และนี่เป็นท่าเอกซเรย์บ่งชี้ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะมีทางเดินอาหารทะลุ

น้ำในท้อง

การมีน้ำในช่องท้องเป็นภาวะที่เรียกว่า "ท้องมาน" น้ำในช่องท้องทางการแพทย์เรียกว่า "ascites" สาเหตุของท้องมานที่พบบ่อยคือโรคตับแข็ง ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวาย โรคตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งระยะรุนแรงที่โรคกระจายเข้าช่องท้อง และภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้มีโปรตีนในเลือดต่ำ เช่น ภาวะขาดอาหารโปรตีนจากกินอาหารได้น้อย ภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น

การมีน้ำในช่องท้องให้ความรู้สึก "หนัก" มากกว่า "จุก" หรือ "อึดอัด" เพราะเป็นภาวะที่ค่อย ๆ เกิด และผิวหนังของเราค่อย ๆ ยืดรับน้ำเหล่านี้มาเป็นเวลานาน ในท่ายืนจะเห็นท้องโตขึ้นแบบยานลงดังรูปข้างบน เพราะน้ำจะลงมากองรวมกันด้านล่าง ลักษณะจะคล้ายคนอ้วนลงพุงมาก แต่ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีผนังหน้าท้องบางกว่า เนื่องจากภาวะทุพพลภาพดั้งเดิมที่ทำให้เกิดท้องมาน บางรายอาจเห็นเส้นเลือดคดเคี้ยวพาดไปมาบนผนังหน้าท้อง

ในท่านอนหงาย น้ำในช่องท้องจะแผละไปด้านข้าง เมื่อเคาะท้องจะรู้สึกโปร่งเฉพาะด้านบนตรงกลาง แต่พอให้นอนตะแคง น้ำก็จะไปกองรวมกันด้านเดียว เมื่อเคาะท้องก็จะรู้สึกโปร่งเฉพาะด้านบนข้างที่อยู่สูงกว่า ดังรูป

น้ำ หนอง หรือเลือดภายในช่องท้องสามารถตรวจยืนยันได้ด้วยการทำอัลตราซาวด์

ก้อนในท้อง

อาการท้องโตจากการมีก้อนในท้องก็เป็นภาวะที่ค่อย ๆ เกิด ตัวผู้ป่วยเองควรที่จะสำรวจร่างกายของตัวเองเป็นประจำ ในกรณีที่ก้อนอยู่ตื้นอาจมองเห็นหรือคลำได้ง่าย แต่ในกรณีที่ก้อนอยู่ลึก ลักษณะการโตของท้องจะรู้สึก "หนัก" อย่างไม่สมดุล คือข้างที่มีก้อนจะรู้สึกหนักกว่าอีกข้าง เมื่อก้อนโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะปวดตึงและมีอาการของระบบนั้นให้เห็นด้วย ก้อนบางก้อนเวลาคลำจะรู้สึกว่ามันเต้นขึ้นลงตามชีพจร นั่นคือก้อนของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องหรือก้อนที่วางอยู่บนหลอดเลือดแดงนี้พอดี

สาเหตุของก้อนในท้องที่พบบ่อยตามกลุ่มอายุได้แก่

แรกเกิด - 1 เดือน

  • ไตบวมน้ำ
  • ถุงน้ำที่ไต
  • เส้นเลือดดำที่ไตอุดตัน
  • เนื้องอกที่ไต
  • เนื้องอกที่ตับ
  • ลำไส้บิดเกลียว
  • ถุงน้ำที่รังไข่
  • เนื้องอกที่รังไข่

1 เดือน - 4 ปี

  • ไตบวมน้ำ
  • ถุงน้ำที่ไต รังไข่ ท่อน้ำดี ม้าม
  • เนื้องอกที่ไต ตับ รังไข่
  • ปลายกระเพาะอุดตัน
  • ลำไส้กลืนกัน
  • ลำไส้บิดเกลียว
  • เนื้องอกซาร์โคมา
  • ก้อนอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ (ท้องผูก)

อายุ 5-15 ปี

  • เนื้องอก: ที่ไต, ตับ, รังไข่, Neuroblastoma, Lymphoma, Rhabdomyosarcoma, Teratoma, Carcinoid tumor
  • ไตบวมน้ำ
  • ตับโต
  • ม้ามโต
  • ฝีที่ตับ
  • ถุงน้ำที่ตับอ่อน รังไข่ ท่อน้ำดี ม้าม
  • ฝีไส้ติ่งอักเสบ
  • ตั้งครรภ์
  • ก้อนอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ (ท้องผูก)

อายุ 15 ปีขึ้นไป

  • ตับโต
  • ม้ามโต
  • ตั้งครรภ์
  • เนื้องอกที่ตับ ตับอ่อน ลำไส้ มดลูก รังไข่ ไต
  • ฝีที่ตับ
  • ถุงน้ำที่ตับอ่อน ไต รังไข่
  • หลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพอง
  • ฝีไส้ติ่งอักเสบ
  • ก้อนอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ (ท้องผูก)
  • ลำไส้อุดตัน
  • ลำไส้บิดเกลียว

การตรวจอัลตราซาวด์สามารถแยกก้อนเนื้อออกจากพวกถุงน้ำ ฝี และหลอดเลือดได้ ในกรณีที่ก้อนมีขนาดเล็กอาจตรวจด้วยเครื่องซีทีหรือเอ็มอาร์ไอแทน