ปวดท้องเฉียบพลัน (Acute abdominal pain)
อาการปวดท้องเฉียบพลัน (Acute abdominal pain) หมายถึง อาการปวดท้องที่เพิ่งเป็นมาไม่ถึง 3 สัปดาห์ ในทางการแพทย์ กลุ่มนี้จะมีอีกภาวะฉุกเฉินอีก 2 คำ คือ "ภาวะปวดท้องเฉียบพลัน" (Acute abdomen) และ "การบาดเจ็บในช่องท้อง" (Abdominal trauma, Abdominal injury)
ภาวะปวดท้องเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะปวดท้องอย่างรุนแรงที่รู้สึกได้ถึงความผิดปกติภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีมูลเหตุต้องสงสัยมาก่อน และแพทย์สามารถตรวจพบอาการแสดงที่นำไปสู่การวินิจฉัยได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 วัน
ส่วนการบาดเจ็บในช่องท้อง หมายถึง ความเสียหายของอวัยวะในช่องท้องอันเกิดมาจากอุบัติเหตุ อุบัติภัย การทำร้าย หรือการทำอันตรายตัวเอง
* อาการปวดท้องเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง หรือทราบปัจจัยที่ทำให้เกิดแล้ว หรือตรวจไม่พบพยาธิสภาพภายใน 5 วันหลังเริ่มปวดจะไม่เข้าข่ายของภาวะปวดท้องเฉียบพลัน
สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดท้องเฉียบพลันโดยทั่วไป ได้แก่ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ท้องผูก ปวดประจำเดือน โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคกรวยไตอักเสบ โรคตับอักเสบ โรคปอดบวม โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
สาเหตุที่พบบ่อยของโรคทำให้เกิดภาวะปวดท้องเฉียบพลัน ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ แผลที่กระเพาะทะลุ ถุงที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท้องนอกมดลูก รังไข่บิดเกลียว เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้ขาดเลือด ลำไส้บิดตัว ม้ามแตก นิ่วอุดท่อไต ผนังเส้นเลือดเอออร์ตาโป่งหรือฉีกขาด เป็นต้น
การบาดเจ็บในช่องท้องมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างจากภาวะปวดท้องเฉียบพลัน เช่น ความสกปรกของวัตถุที่รุกล้ำเข้ามาในช่องท้อง การบาดเจ็บที่มักเกิดมากกว่าหนึ่งอวัยวะ การตกเลือดอย่างมากภายในช่องท้อง และการคั่งค้างของวัตถุแปลกปลอมในช่องท้อง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะปวดท้องเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมที่ต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินภาวะนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลันทุกรายที่ไม่ได้มีประวัติการบาดเจ็บมาก่อนหน้านี้ และมาพบแพทย์ภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ
แนวทางการประเมินภาวะปวดท้องเฉียบพลัน
อาการสำคัญที่ช่วยในการแยกภาวะปวดท้องเฉียบพลันออกจากอาการปวดท้องเฉียบพลันโดยทั่วไปเมื่อเริ่มปวดท้อง ได้แก่
- อาการปวดที่เกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีมูลเหตุและไม่สัมพันธ์กับอะไร (เช่น อาหาร ท้องผูก ท้องเสีย โรคที่ทำให้ปวดท้องประจำ การเจ็บป่วยอย่างอื่น อุบัติเหตุ ฯลฯ)
- อาการปวดที่ค่อนข้างรุนแรงและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วในเวลาเป็นชั่วโมง
- เมื่อกดท้องตรงที่ปวดจะรู้สึกเจ็บมาก
- มีไข้ ใจสั่น เหงื่อออก ก้าวเดินได้ไม่เหมือนปกติ
สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดท้องเฉียบพลัน
- โรคกระเพาะ (กระเพาะเป็นแผล, กระเพาะอักเสบจากอาหารที่ระคาย) ลักษณะจะเป็นการปวดแบบแสบร้อนที่ท้องส่วนบน มักเป็นตอนท้องว่างกับตอนหลังกินอาหารแล้ว และจะเป็นแบบนี้เกือบทุกมื้อ
- ภาวะอาหารเป็นพิษ ลักษณะจะเป็นแบบมวนท้อง ปวดท้องบิดเป็นพัก ๆ ระบุตำแหน่งที่แน่นอนไม่ได้ แต่เวลาบิดถ้ากดท้องไว้จะดีขึ้น แล้วจะมีท้องเสียตามมา พอถ่ายออกไปหลาย ๆ ครั้งอาการปวดท้องจะลดลง แต่จะอ่อนเพลียตามมาแทน
- โรคไส้ติ่งอักเสบ เริ่มแรกจะปวดมวนบริเวณรอบสะดือ สักพักอาการปวดจะย้ายไปที่ท้องด้านขวาล่าง ปวดอยู่ตลอดเวลา กดดูจะเจ็บ เมื่อผ่านไป 1-2 วันอาการปวดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนแตะท้องบริเวณนั้นไม่ได้ เดินตัวตรงเหมือนปกติไม่ได้ เมื่อเข้าวันที่ 3-4 ไส้ติ่งจะเริ่มแตก อาการปวดจะลามไปทั่วท้อง หายใจก็ปวด ไข้ขึ้นสูง ผู้ป่วยจะทำอะไรไม่ได้นอกจากนอนอยู่นิ่ง ๆ กล้ามเนื้อท้องจะแข็งเกร็งตลอดเวลา ช่วงนี้อันตรายมาก ไม่ควรรอไม่ปวดถึงระยะนี้
- โรคถุงน้ำดีอักเสบ ผู้ป่วยมักเป็นหญิงเจ้าเนื้อวัย 30-50 ปี อาการปวดมักเริ่มหลังทานอาหารมื้อใหญ่ที่มีความมันมาก ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่ที่ท้องด้านขวาบน แถวใต้ชายโครงหรือใต้ลิ้นปี่ กดดูจะเจ็บโดยเฉพาะเมื่อกดตอนหายใจเข้าลึก ๆ บางคนอาจปวดร้าวไปที่สะบักหลังด้านขวา โรคนี้พอหยุดรับอาหารไปสัก 8-12 ชั่วโมงอาการก็จะดีขึ้น บางคนจึงใช้วิธีนี้รักษาตัวเอง แต่ก็จะปวดท้องแบบนี้ขึ้นมาอีกเมื่อทานของมัน ๆ และบางครั้งถุงน้ำดีที่อักเสบอาจมีการติดเชื้อซ้ำ ทำให้มีไข้และปวดท้องรุนแรงมาก อาจมีตาเหลืองให้เห็นเพราะส่วนใหญ่มักมีนิ่วที่ถุงน้ำดีร่วมด้วย
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคนี้มักเป็นในคนที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ อาการปวดจะอยู่ที่ท้องด้านซ้ายล่าง กดเจ็บ อาจคลำได้ก้อนที่เจ็บมาก มีไข้ กรณีนี้ต้องไปพบแพทย์โดยด่วน
- โรคตับอ่อนอักเสบ มักพบในคนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาการจะคล้ายกับอาการปวดหลังที่ทะลุมาถึงท้องส่วนบน ปวดอยู่ตลอดเวลาและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อแตก ไข้ขึ้น รายที่เป็นมากจะช็อคอย่างรวดเร็ว
- ภาวะแผลที่กระเพาะทะลุ ส่วนใหญ่จะมีประวัติเป็นโรคกระเพาะมาก่อน เมื่อแผลลึกจนทะลุ ทั้งกรดและอาหารในกระเพาะจะออกมาปนเปื้อนในช่องท้อง เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดท้องอย่างปุบปับ เป็นตลอดเวลาและมากขึ้นเรื่อย ๆ ขยับก็ปวด หายใจก็ปวด จนทำอะไรไม่ได้ ไข้ขึ้น ท้องอืด ส่วนใหญ่จะทนได้ไม่กี่ชั่วโมง
- โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะภายในสตรี เกิดหลังการมีเพศสัมพันธ์ 1-3 วัน ลักษณะเป็นการปวดท้องน้อย เดินตัวตรงไม่ได้ มีไข้ ตกขาวเป็นหนอง
- ภาวะถุงน้ำรังไข่บิดเกลียว อาการจะปวดบิดที่ท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งอย่างปุบปับ อาจคลำได้ถุงน้ำรังไข่นั้น
- ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ในวัฒนธรรมของคนไทย ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้แต่งงาน โอกาสที่ผู้เกี่ยวข้องจะทราบประวัติมีเพศสัมพันธ์และขาดประจำเดือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ จู่ ๆ จะมีอาการปวดท้องส่วนล่างอย่างรุนแรงและฉับพลันทันที อ่อนลงอย่างรวดเร็ว ซีด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
- โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่ด้านหลังของถุงอัณฑะ ตรงตำแหน่งฝีเย็บ ส่วนใหญ่อาการปวดจะไม่มาก ผู้ป่วยมักทนได้หลายวัน
- ภาวะนิ่วที่ท่อไต นิ่วที่ไตอาจหลุดลงมาในท่อไตจนอุดตันท่อไตส่วนล่าง อาการตอนที่นิ่วเคลื่อนลงมาจะปวดท้องซีกใดซีกหนึ่งอย่างรุนแรงโดยไม่ทันตั้งตัว ถ้านิ่วมีขนาดเล็กจะหลุดลงไปถึงกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยจะยังคงค้างอยู่ในท่อไต แต่อาการปวดมักเป็นครั้งเดียวตอนที่นิ่วหลุดลงมา พอมาถึงโรงพยาบาลอาการปวดก็มักหายไปแล้ว
- โรคกรวยไตอักเสบ เป็นการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนบน มักพบในผู้หญิง อาการจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดเอวร้าวไปด้านหลัง ปัสสาวะขุ่น
- โรคลำไส้อุดตัน มักเป็นในคนที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน และส่วนใหญ่เป็นจากพังผืดภายในช่องท้องรัดลำไส้ ตอนแรกอาการจะเหมือนพวกอาหารเป็นพิษ คือปวดบิดเป็นพัก ๆ ท้องร้องตลอดเวลา คลื่นไส้อาเจียน กินอะไรไม่ได้ แต่เป็นวันก็ไม่ถ่ายออกมาสักที ท้องจะอืดและโตขึ้นเรื่อย ๆ และอาการปวดจะกลายเป็นปวดทั่วท้องตลอดเวลาและมีปวดบิดแทรกเป็นพัก ๆ
- ภาวะลำไส้ขาดเลือด เกิดจากการอุดตันเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงลำไส้ มักพบในคนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน อาการปวดจะค่อย ๆ เกิด ระบุตำแหน่งไม่ได้ ท้องจะอืดโตขึ้นเรื่อย ๆ และจะปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กดท้องหรือไม่กดไม่ต่างกัน บางรายมีอาเจียนและถ่ายเป็นเลือดด้วย
จะเห็นว่าแต่ละโรคมีลักษณะการเกิดและการดำเนินไปค่อนข้างจำเพาะ ดังนั้นการเล่าประวัติของโรคตั้งแต่เริ่มต้น ลักษณะที่ปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง การดำเนินไปของอาการ อาการร่วมและปัจจัยร่วมอื่น ๆ เพศ อายุ เคยได้รับการผ่าตัดอวัยวะใดมาก่อนหรือไม่ เหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้เร็วขึ้น
สิ่งสำคัญที่ควรทราบ
- โรคที่กดท้องแล้วเจ็บมักรุนแรงกว่าโรคที่กดท้องแล้วดีขึ้นหรือไม่ต่างกัน
- โรคที่ปวดท้องตลอดเวลามีความรุนแรงกว่าโรคที่มีอาการปวดเป็นพัก ๆ
- โรคที่มีอาการแสดงร่วมที่ท่านบังคับไม่ได้ เช่น ไข้ ท้องโต ตาเหลือง ฯลฯ มีความสำคัญกว่าโรคที่ยังไม่มีอาการแสดงอื่นให้เห็น
- อาการปวดท้องน้อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรให้ข้อมูลการมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ก่อนหน้านั้น การตั้งครรภ์ และการแท้งบุตรให้แพทย์ทราบด้วย
- อาการปวดแบบจุกแน่นที่ลิ้นปี่ในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไปควรนึกถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยทุกครั้ง ถ้านั่งพัก 15 นาทีแล้วไม่ดีขึ้นต้องรีบไปโรงพยาบาล
- อาการปวดท้องส่วนบนที่มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ควรนึกถึงโรคในทรวงอก (ปอดบวม น้ำในช่องปอด โรคหัวใจ) มากกว่าโรคในช่องท้อง
- การเอกซเรย์ช่องท้องมีประโยชน์ในรายที่สงสัยภาวะปวดท้องเฉียบพลันเท่านั้น ไม่จำเป็นในรายที่สงสัยภาวะอาหารเป็นพิษ ไข้หวัดลงกระเพาะ หรืออาการปวดท้องที่เกิดร่วมในโรคอื่น ๆ เพราะพยาธิสภาพของโรคเหล่านั้นไม่สามารถเห็นได้ด้วยเอกซเรย์ กรณีเหล่านั้นการตรวจเลือดและตรวจอุจจาระจะให้ข้อมูลมากกว่า
- อาการปวดท้องที่ผ่านการตรวจร่างกายและการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วยังไม่พบความผิดปกติ ในทางการแพทย์ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล