ปวดท้องเรื้อรัง (Chronic abdominal pain)

อาการปวดท้องเรื้อรัง หมายถึง อาการปวดท้องที่เป็นติดต่อกันทุกวันนานเกิน 7 วัน หรืออาการปวดท้องที่เป็นพัก ๆ ติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์ อาการปวดในกลุ่มนี้มักไม่รุนแรง สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ ท้องผูก โรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือมีแผลในกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน โรคฝีที่ตับ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคเนื้องอกตามอวัยวะต่าง ๆ โรคถุงน้ำที่ไต โรคถุงที่ผนังลำไส้ใหญ่ โรคเอ็นโดเมตริโอสิส (ในผู้หญิง) เป็นต้น

โรคที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องเรื้อรัง

  1. โรคกระเพาะ โรคนี้พบบ่อยและเกิดซ้ำได้ง่ายแม้รักษาหายแล้ว เกิดจากสไตล์การกินอาหารและการดำเนินชีวิต อาการเป็นแบบแสบร้อนที่ลิ้นปี่เวลาหิวและหลังทานอาหารไปแล้ว บางคนจะปวดท้องตอนกลางคืน อาการปวดมักดีขึ้นเมื่อทานยาลดกรดหรือนม
  2. โรคกระเพาะที่รักษาไม่หายหรือหายแล้วกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ ควรได้รับการส่องกล้องดูให้แน่ชัด ในการส่องกระเพาะนอกจากจะสามารถเห็นแผลหรือรอยโรคอื่น ๆ ในกระเพาะแล้ว ยังสามารถตรวจชิ้นเนื้อกรณีที่เป็นก้อน และตรวจหาเชื้อ H. pylori ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณกระเพาะส่วนปลายและทำให้กระเพาะอักเสบเรื้อรังได้อีกด้วย ซึ่งการตรวจโดยวิธีกลืนแป้งเอกซเรย์จะไม่สามารถทำสองวิธีหลังได้

  3. โรคของถุงน้ำดี (นิ่ว, อักเสบเรื้อรัง) อาการปวดท้องด้านขวาบนมักเป็นหลังทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ ที่มันมาก ๆ พองดทานอาหารไปสัก 1-2 มื้อก็จะหาย ผู้ป่วยที่มีนิ่วหลุดมาอยู่ที่ท่อน้ำดีจะมีอาการตาเหลืองให้เห็นด้วย โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดี
  4. โรคฝีที่ตับ ตอนที่ฝียังมีขนาดเล็กอาการปวดท้องที่ด้านขวาบนอาจยังไม่มาก อาจรู้สึกมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ ต่อเมื่อฝีมีขนาดใหญ่ขึ้น ตับจะโต กดเจ็บ ปวดแน่นท้องมากขึ้น และอาจมีตาเหลือง
  5. โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มักเป็นในรายที่ดื่มสุราเป็นประจำ อาการปวดจะกำเริบหลังดื่มเหล้าหนัก ๆ ติดต่อกันหลายวัน โดยจะปวดท้องส่วนบนทะลุไปข้างหลัง คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด
  6. มะเร็งตับและท่อน้ำดี อาการปวดท้องจะเป็นแบบแน่น ๆ จุก ๆ ที่บริเวณลิ้นปี่และท้องด้านบนขวา บางคนอาการปวดอาจเป็นอยู่นานเป็นเดือนกว่าจะเริ่มมีอาการอื่น เช่น เบื่ออาหาร ผอมลง ตาเหลือง ตับโต เป็นต้น
  7. มะเร็งตับอ่อน อาการปวดท้องจะคล้ายมะเร็งตับ คือปวดจุก ๆ บริเวณลิ้นปี่ อาจปวดร้าวไปด้านหลัง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ผอมลง
  8. โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติ (มากไปหรือน้อยไป) แต่โครงสร้างทั่วไปปกติ อาการจะเป็นแบบปวดท้องเป็นพัก ๆ ท้องอืดเหมือนมีลม ถ่ายบ่อยเป็นช่วง ๆ และบางช่วงก็ไม่ถ่ายเลย อาการจะไม่แน่นอน ไม่รุนแรง แต่รำคาญ ไม่ทำให้น้ำหนักลด ตรวจร่างกาย ตรวจอุจจาระ เอกซเรย์ ส่องกล้อง ฯลฯ ในโรคนี้จะไม่พบความผิดปกติ
  9. มะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนใหญ่มะเร็งระยะแรกจะไม่แสดงอาการปวด มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีอาการปวดคือเมื่อก้อนโตขึ้นจนอุดทางเดินอาการแล้ว ตอนนั้นผู้ป่วยจะผอมลง เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือดบางครั้ง ปวดท้องเป็นพัก ๆ บางครั้งคลำได้ก้อน
  10. โรคพยาธิในลำไส้ แม้สุขอนามัยในปัจจุบันจะดีขึ้นมาก ทำให้โรคพยาธิในลำไส้พบน้อยลง แต่ตามชนบทที่ห่างไกลก็ยังคงพบโรคพยาธิได้อยู่ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โรคพยาธินอกจากจะทำให้ปวดท้องแล้วยังทำให้มีท้องเสียเรื้อรังด้วย
  11. วัณโรคในช่องท้อง (ลำไส้, เยื่อบุช่องท้อง) วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย แต่วัณโรคในช่องท้องพบได้น้อยกว่าวัณโรคที่ปอดมาก อาการจะมีไข้ ปวดท้อง ท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ ผอมลง การวินิจฉัยต้องตรวจหาเชื้อจากชิ้นเนื้อ

สิ่งสำคัญที่ควรทราบ

ตรงข้ามกับอาการปวดท้องเฉียบพลันที่ยิ่งปวดมาก รวดเร็ว ปวดตลอดเวลา และมีไข้ร่วมด้วย จะยิ่งอันตราย อาการปวดท้องเรื้อรังที่แค่แน่น ๆ จุก ๆ เป็นไม่มาก ช้า ๆ เป็นพัก ๆ และแทบไม่มีอาการอื่นร่วมเลย (เช่น ไข้ ท้องเสีย อาเจียน) จะยิ่งอันตราย เพราะส่วนใหญ่เป็นโรคของพวกเนื้องอก ซึ่งเป็นภัยเงียบที่พบบ่อยขึ้นมากในปัจจุบัน ดังนั้นอาการปวดท้องที่เป็นเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะปวดมากหรือน้อย ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และ/หรือ ตรวจติดตามจนได้คำตอบที่แน่ชัดทุกครั้ง