ข้อเท้าประกอบด้วยกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) กระดูกน่อง (Fibula) และกระดูกTalus ที่วางอยู่บนกระดูกส้นเท้า (Calcaneus) ส่วนเท้าประกอบด้วยกระดูกเท้า 7 ชิ้น กระดูกฝ่าเท้าหรือโคนนิ้วเท้า 5 ชิ้น เรียงกันเป็นรูปโค้งเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้หลายเท่าของน้ำหนักตัว และเพื่อให้พื้นที่แก่เนื้อเยื่อที่มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นได้รองอยู่ใต้ฝ่าเท้า ในท่ายืนน้ำหนัก 50% จะตกอยู่ที่ส้นเท้า อีก 50% จะกระจายไปที่โคนนิ้วเท้าทั้งห้า ในท่าเดินหรือวิ่งน้ำหนักทั้งหมดจะลงที่ส้นเท้าก่อน แล้วถ่ายผ่านฝ่าเท้าไปยังนิ้วเท้าทั้งห้าอย่างรวดเร็ว กระดูกเท้าทั้งหมดสามารถจัดระเบียบให้การถ่ายน้ำหนักพอเหมาะพอดีเมื่อเท้าสัมผัสกับทุกพื้นผิว และไม่ว่าเราจะกระโดด ปีนป่าย เขย่ง หรือต่อตัว เท้าของมนุษย์จัดเป็นโครงสร้างที่ละเอียดซับซ้อนจนยังไม่มีมนุษย์รายใดจะสร้างให้เหมือนได้
โรคข้ออักเสบแทบทั้งสิ้นสามารถเป็นได้ที่ข้อเท้า แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือโรคเกาท์ โรคข้อเสื่อม และโรค Reactive arthritis รายละเอียดของโรคเหล่านี้อ่านได้ที่อาการปวดข้อโดยทั่วไป ในหน้านี้จะกล่าวถึงการบาดเจ็บที่มักเกิดกับข้อเท้าโดยเฉพาะ
- ข้อเท้าแพลง เป็นการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นบริเวณข้อเท้า มักเกิดใต้ตาตุ่มด้านนอกจากการที่ข้อเท้าพลิกเข้าในด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาการแบ่งเป็น 3 ระดับคือ
- ระดับ 1 เอ็นฉีก ข้อเท้าบวมและเจ็บเล็กน้อย แต่ยังพอเดินได้ ช่วง 2-3 วันแรกให้ประคบเย็นบ่อย ๆ จนอาการบวมยุบลง จากนั้นให้ค่อย ๆ ลองเดินออกกำลังดู ไม่ต้องเข้าเฝือก มักจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์
- ระดับ 2 เอ็นขาดบางส่วน ข้อเท้าบวมชัดเจน ปวดมากเวลาลงน้ำหนัก ต้องเดินกระเผลก มีรอยช้ำเขียว ข้อเท้าขยับเคลื่อนไหวได้น้อยลง ระยะแรกให้ประคบเย็น พันผ้ายืด ยกขาสูง พักการใช้เท้าจนกว่าจะหายบวม แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ใส่เฝือกลม (air splint) หรือเฝือกอ่อนที่ถอดได้ เมื่ออาการปวดดีขึ้นจึงค่อยฝึกเดิน อาจใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ในการรักษา
- ระดับ 3 เอ็นขาดจากกันทั้งเส้น ข้อเท้าจะบวมและปวดมาก เดินแทบไม่ได้เพราะรู้สึกข้อเท้าไม่มั่นคง มีรอยช้ำเขียว ข้อเท้าขยับเคลื่อนไหวได้เพียงเล็กน้อย กรณีนี้แพทย์จะให้ใส่เฝือกแข็งเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่องดการใช้เท้าโดยเด็ดขาด ระยะแรกต้องประเมินอาการบวมด้วยตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าเฝือกคับหรือชาเท้าต้องกลับไปพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนเฝือกใหม่ เมื่อครบระยะเวลาและอาการปวดหายสนิทแล้วจึงค่อยฝึกเดิน แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ใส่เฝือกลม (air splint) เมื่ออาการปวดดีขึ้นจึงค่อยฝึกเดิน ใช้เวลารักษาได้ถึง 3-4 เดือน บางรายอาจต้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นที่ขาดถ้าข้อเท้าหลวมมากและไม่ดีขึ้นด้วยการทำกายภาพบำบัด
- กระดูกข้อเท้าหัก ส่วนใหญ่เป็นการหักของปลายกระดูกฟิบูลาหรือทิเบีย (ส่วนที่ระบายสีฟ้า) พบบ่อยทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และนักกีฬา อาการปวดและบวมที่ข้อเท้าจะเหมือนกับการเกิดข้อเท้าแพลงระดับ 2-3 คือลงน้ำหนักเท้าไม่ได้ หากไม่มีเอกซเรย์จะยากมากที่จะแยกทั้งสองภาวะนี้ออกจากกัน เว้นแต่กระดูกที่หักจะทิ่มออกมานอกผิวหนัง
ถ้ากระดูกที่หักไม่เคลื่อนหรือเคลื่อนที่จากกันน้อยกว่า 2 มม. การรักษาจะใช้การใส่เฝือกชนิด short leg cast เป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ แต่หากกระดูกที่หักมีการเคลื่อนตัวมากกว่า 2 มม. ควรให้แพทย์ผ่าตัดดามกระดูก
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นหนาที่เชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้า สามารถคลำได้เป็นลำที่หลังข้อเท้า เส้นเอ็นนี้อาจเกิดการอักเสบจากการวิ่งหรือใช้เท้ามาก ซึ่งมักเป็นในคนหนุ่ม กรณีนี้จะเกิดอาการปวดและบวมที่เอ็นส่วนบน ในคนสูงอายุก็อาจเกิดจากการที่มีหินปูนเกาะอยู่ที่กระดูกส้นเท้าทำให้เอ็นถูกับหินปูนเวลาเดิน นานเข้าก็เกิดการอักเสบ กรณีนี้จะเกิดอาการปวดและบวมที่เอ็นส่วนล่าง
การรักษาจะให้พักขา ใช้ยาแก้อักเสบ และค่อย ๆ ทำกายภาพบำบัดก่อนประมาณ 3-6 เดือน หากอาการปวดยังคงอยู่จึงค่อยพิจารณาผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นหรือตัดหินปูนทิ้ง
- เอ็นร้อยหวายฉีกขาด หากเส้นเอ็นขาดอาจได้ยินเสียงแตกดังป๊อบและจะรู้สึกเจ็บปวดมากที่หลังเท้า มีน่องบวม มีรอยช้ำหลังข้อเท้า ไม่สามารถยันปลายเท้ากับพื้นเพื่อก้าวเดินได้ และไม่สามารถยืนด้วยปลายเท้าข้างนั้นได้
การตรวจว่าเอ็นร้อยหวายขาดหรือไม่ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ งอเข่าขึ้น แล้วแพทย์จะบีบที่กล้ามเนื้อน่อง ปกติปลายเท้าจะกระดกไปทางฝ่าเท้าทุกครั้งที่ออกแรงบีบน่อง หากเอ็นร้อยหวายขาดจะไม่มีการกระดกเท้าเวลาที่บีบ
การรักษาสามารถใช้วิธีใส่เฝือกในท่ากดข้อเท้าลงพื้นเพื่อให้เส้นเอ็นต่อกันเอง หรือจะใช้วิธีการผ่าตัดต่อเส้นเอ็นก็ได้ ขึ้นกับอายุ สุขภาพร่างกาย การใช้งานในแต่ละวัน และความรุนแรงของการขาด หากเอ็นร้อยหวายฉีกขาดเพียงบางส่วน วิธีการใส่เฝือกน่าจะมีความเหมาะสมกว่าการผ่าตัดรักษา
การใส่เฝือกจะใช้เวลา 6-12 สัปดาห์เส้นเอ็นถึงจะเริ่มติดกัน จากนั้นจึงค่อยให้หัดเดินถ่ายน้ำหนักและฝึกยึดกล้ามเนื้อน่อง โดยรวมแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ข้อเสียคือเส้นเอ็นมีโอกาสขาดซ้ำในช่วงที่ถอดเฝือกและเริ่มทำกายภาพได้ถึง 40%
การผ่าตัดต่อเส้นเอ็นอาจหายเร็วกว่าเล็กน้อย คือใช้เวลาพักฟื้นและทำกายภาพบำบัดทั้งสิ้นประมาณ 3-4 เดือน แต่ก็เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทซูรัล (sural nerve) ในระหว่างการผ่าตัด การติดเชื้อหลังผ่าตัด การอุดตันของเส้นเลือดดำที่ขาเนื่องจากต้องนอนนาน และการมีรอยผ่าตัดที่ด้านหลังของขา
- ถุงน้ำหลังข้อเท้าอักเสบ หลังข้อเท้าของเรามีถุงน้ำที่สำคัญ 2 อัน อยู่หน้าและหลังต่อเอ็นร้อยหวาย ถุงน้ำทั้งคู่นี้อาจเกิดการอักเสบขึ้นมาได้จากการใส่รองเท้าที่คับเกินไป อาการจะคล้ายเอ็นร้อยหวายอักเสบหรือฉีกขาดมาก การวินิจฉัยต้องอาศัยการทำอัลตราซาวด์หรือ MRI
การรักษาเพียงการพักขา ประคบเย็น ทานยาแก้อักเสบ และเปลี่ยนรองเท้าให้พอดีกับขนาดของเท้า
การปวดบวมที่นิ้วเท้าหากไม่ได้มีสาเหตุจากการบาดเจ็บมักเกิดจากโรคเกาต์ ซึ่งมักกำเริบหลังทานอาหารที่มีสารพิวรีนมากประมาณ 8-12 ชั่วโมง ผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด ส่วนผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วก็ควรรับประทานยาเป็นประจำและงดเว้นอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ผักขม หน่อไม้ ถั่ว กะหล่ำดอก เหล้า เบียร์ ฯลฯ ควรสังเกตตัวเองว่าทานอะไรเข้าไปแล้วอีก 12 ชั่วโมงข้อจะบวม แดง ปวด ก็ให้งดเสีย
- โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis)
เอ็นฝ่าเท้ายึดจากกระดูกส้นเท้าไปยังนิ้วเท้า ทำหน้าที่ช่วยรักษารูปทรงของเท้า และช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเราเดินหรือวิ่ง จุดที่เกิดการอักเสบได้บ่อยที่สุดคือจุดที่เอ็นเกาะใกล้กับส้นเท้า ทำให้เกิดอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า พอกระดกข้อเท้าขึ้นก็จะปวด ในระยะแรกอาจมีอาการเฉพาะเวลาลุกขึ้นเดิน 2–3 ก้าวแรก แต่พอเดินไประยะหนึ่ง เอ็นฝ่าเท้าจะค่อย ๆ ยืดหยุ่นขึ้น อาการเจ็บส้นเท้าจึงค่อย ๆ ทุเลาลง แต่เมื่อเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา และจะเริ่มปวดตึงที่กล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย เนื่องจากจังหวะการเดินถ่ายน้ำหนักผิดปกติไปเพราะเจ็บส้นเท้า ที่สำคัญโรคนี้ไม่มีอาการชา
การรักษาจะใช้ยาลดการอักเสบก่อน ผู้ป่วยควรลดน้ำหนัก และลดการออกกำลังกายที่หนักเกินไป เปลี่ยนรองเท้าให้มีส้นหนาขึ้น หรือใช้แผ่นรองส้นเท้าที่นุ่ม ๆ มาติดเสริมในรองเท้า ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบน อาจเลือกใช้แผ่นรองที่บริเวณอุ้งเท้า และควรใส่รองเท้าเดินในบ้านด้วย
อุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาอาการมีตั้งแต่ถุงเท้าที่มีซิลิโคนเจลหรือเบาะหนุนที่ส้น ดังในรูปที่หนึ่งและสองตามลำดับ หรือเป็นอุปกรณ์นิ่ม ๆ เสริมส้นในรองเท้าเวลาเดิน ดังในรูปที่สามและสี่ ไปจนถึงกายอุปกรณ์ค้ำให้ฝ่าเท้าตั้งได้ฉากเสมอเวลานอนอย่างในรูปที่ห้า
ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นใน 2-6 เดือน รายที่อาการไม่ดีขึ้นอาจเป็นเพราะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นบางส่วน มีเงี่ยงหินปูนที่กระดูกส้นเท้าตรงที่เอ็นเกาะอยู่ จึงทำให้เกิดการอักเสบซ้ำ ๆ หรือมีรูปเท้าที่ผิดปกติ เช่น เท้าแบน เท้าบิด กรณีดังกล่าวนี้แพทย์จะผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อที่อักเสบ และตัดหินปูนที่เกาะบริเวณกระดูกส้นเท้าออก
- ภาวะเส้นประสาท Posterior tibial ถูกกดทับ (Tarsal tunnel syndrome)
ที่ข้อเท้าก็มีอุโมงค์เส้นเอ็นขึงให้เส้นเลือด เส้นประสาท และเอ็นของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ลอดผ่านเป็นชุดเดียวกันคล้ายกับที่ข้อมือ ในกรณีที่อุโมงค์นี้แคบลง อวัยวะที่ลอดผ่านจะเบียดกันเองและกดทับกับกระดูกเท้า ภาวะนี้จึงคล้ายกับภาวะเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับที่ข้อมือ
อาการของโรคนี้คือชาและปวดบริเวณฝ่าเท้าดังรูป โดยเริ่มแรกจะชาที่ด้านในของข้อเท้าก่อน แล้วลามลงไปใต้ฝ่าเท้าจนถึงนิ้วโป้ง-ชี้-กลาง เมื่อเป็นมากขึ้นจะรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มแทงหรือมีไฟฟ้าช็อตที่ฝ่าเท้าตลอดเวลา ถ้าเคาะตรงเส้นประสาทที่ลอดผ่านอุโมงค์จะทำให้ปวดและชามากขึ้น ที่สำคัญโรคนี้ไม่ปวดตรงส้นเท้า
ในการวินิจฉัยแพทย์จะเอกซเรย์ดูรูปเท้า หินปูน และกระดูกที่ผิดปกติ จากนั้นอาจส่งทำ MRI หรืออัลตราซาวด์ เพื่อดูอวัยวะที่งอก บวม หนา หรือกินที่ภายในอุโมงค์ และสุดท้ายจะส่งตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (EMG and/or NCV) เพื่อแยกเส้นประสาทที่ถูกกดทับให้ละเอียด
การรักษามักใช้ยาแก้อักเสบแบบกินหรือฉีดเข้าอุโมงค์ก่อน แล้วใส่เฝือกอ่อนเพื่อพักการใช้เท้าข้างนั้น ถ้าดีขึ้นก็ค่อย ๆ ทำกายภาพบำบัด ในระหว่างนั้นอาจใส่รองเท้าที่มี arch support ช่วยพยุงฝ่าเท้า หรือใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้า ถ้าไม่ดีขึ้นถึงค่อยผ่าตัดเปิดเส้นเอ็น Flexor retinaculum เว้นแต่ในรายที่มีก้อนเนื้ออยู่ภายในอุโมงค์ก็ต้องผ่าตัดออก
- โรคปมประสาทนิ้วเท้าหนาตัว (Morton's neuroma, Intermetatarsal neuroma)
ที่โคนนิ้วเท้าของเรามีเส้นประสาทลอดผ่านเอ็นที่ขึงระหว่างนิ้วเท้า เส้นประสาทนี้อาจหนาตัวขึ้นเป็นปมเวลาที่มีการบาดเจ็บ บีบอัด หรือกดทับของปลายเท้า โรคนี้มักพบในผู้หญิงที่ใส่รองเท้าคัทชู เส้นที่เป็นบ่อยที่สุดคือเส้นที่ผ่านระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วนาง
อาการจะเป็นลักษณะปวดตั้งแต่โคนนิ้วเท้าไล่ไปจนถึงปลายนิ้ว ปวดมากขึ้นเวลาใส่รองเท้าเดิน กดเจ็บระหว่างโคนนิ้วเท้า ซึ่งต่างจากโรคข้อนิ้วเท้าอักเสบโดยทั่วไป บางคนอาจมีอาการชาด้วย อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ
การวินิจฉัยจำเป็นต้องทำ MRI เพื่อดูปมประสาทที่หนาตัว ส่วนการรักษาเริ่มแรกจะใช้การเปลี่ยนรองเท้า ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงหรือที่มีหัวคับเกินไป อาจใส่แผ่นรองนิ้วเท้าเพื่อลดการกดทับเวลาเดิน กรณีที่เป็นมากแพทย์อาจฉีดยาลดอาการอักเสบให้ แต่ถ้าเป็นเรื้อรังมานานมักไม่ค่อยได้ผล สุดท้ายต้องผ่าตัดเอาปมประสาทที่เสียหายถาวรออกไป
- ภาวะรูปฝ่าเท้าผิดปกติ มี 2 แบบ ส่วนใหญ่มักเป็นเหมือนกันทั้งสองข้าง
- ฝ่าเท้าโก่ง (High arched feet, Pes cavus) เป็นลักษณะของคนที่มีอุ้งเท้าสูงกว่าคนปกติ น้ำหนักตัวจะลงมากทางฝ่าเท้าด้านนอก กล้ามเนื้อขาด้านข้างจะทำงานมากกว่าด้านใน เวลาใส่รองเท้าเดิน นิ้วหัวแม่เท้าจะจิกพื้น และพื้นรองเท้าด้านนอกจะสึกก่อน ลักษณะนี้จะทำให้ปวดเมื่อยขา ข้อเท้า และโคนนิ้วเท้าได้บ่อย ผู้หญิงที่มีเท้าลักษณะนี้เมื่อพื้นส้นรองเท้าด้านข้างสึกจนเอียงแล้วควรเปลี่ยนแผ่นยางรองส้นใหม่ เพราะอาจทำให้ลื่นและเกิดข้อเท้าพลิกได้ง่าย
- ฝ่าเท้าแบน (Fallen arches, Flat feet, Pes planus) เป็นลักษณะของคนที่ไม่มีอุ้งเท้า เมื่อเอาเท้าที่เปียกน้ำเหยียดลงพื้น จะเห็นรอยฝ่าเท้าเต็ม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการลงน้ำหนักเวลาเดิน โดยน้ำหนักจะลงมาทางฝ่าเท้าด้านใน กล้ามเนื้อขาด้านในจะทำงานมาก ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยเท้า ข้อเท้าด้านในบวม ปวดน่อง นานเข้าจะมีปัญหาปวดหลังด้วย
รูปฝ่าเท้าที่ผิดปกติทั้งสองแบบนี้ยังไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ คนที่ฝ่าเท้าโก่งควรเลือกรองเท้าแบบที่มี high arch support (ซึ่งมักต้องสั่งตัดเฉพาะ) หรือใช้อุปกรณ์เสริมส้นในรองเท้า ส่วนคนที่มีฝ่าเท้าแบนก็ควรใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้าสำหรับคนเท้าแบน
- ภาวะหัวแม่เท้าเอียง (Hallux valgus, Bunion)
คือความผิดปกติที่มีก้อนแข็งนูนบริเวณโคนของนิ้วหัวแม่เท้าและหัวแม่เท้าเอียงเข้าหานิ้วชี้ มักพบร่วมกับภาวะเท้าแบน สาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด การใส่รองเท้าปลายแหลมเป็นประจำ หรือเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ เกาต์
คนที่มีภาวะนี้จะมีข้อโคนหัวแม่เท้าอักเสบบ่อย ๆ เพราะเกิดการเสียดสีกับรองเท้าหรือชนกับเท้าอีกข้างหนึ่งเป็นประจำ และนิ้วหัวแม่เท้าก็ขยับได้จำกัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนิ้วหัวแม่เท้าเกยกับนิ้วอื่น ๆ แนวการรับน้ำหนักตัวจะผิดไป แรงดึงของเส้นเอ็นที่เท้าก็จะเสียสมดุลไปด้วย ทำให้ปวดเมื่อยเท้าได้ง่าย
เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จึงมีเวลาป้องกันไม่ให้มันเอียงต่อได้ด้วยการใส่รองเท้าปลายกว้าง และใช้อุปกรณ์ เช่น bunion splint, toe spacer ไว้ภายในรองเท้าหรือเวลานอน แต่ในกรณีที่โรคดำเนินต่อจนนิ้วเอียงมากแล้วน่าจะใช้วิธีการผ่าตัด โดยแพทย์จะกระดูกที่นูนออก แล้วจัดกระดูกให้ตรง หรือเชื่อมข้อให้ตรงขึ้น
อุปกรณ์ bunion splint หรือ toe spacer มีหลายรูปแบบให้เลือกตามลักษณะของพยาธิสภาพเริ่มต้น
- แบบแรกคือป้องกันปุ่มกระดูกที่โคนนิ้วหัวแม่เท้าเสียดสีกับรองเท้าและแยกนิ้วโป้งออกจากนิ้วชี้
- แบบที่สองทางขวามือคล้ายกับแบบแรกแต่ใช้ในรายที่มีนิ้วชี้กับนิ้วกลางขี่กันด้วย
- แบบที่สามเหมาะสำหรับการจัดเรียงนิ้วเท้าให้เป็นระเบียบ
- แบบที่สี่เหมือนแบบที่หนึ่งแต่ช่วยจัดนิ้วเท้าด้วย
- แบบที่ห้าใช้ในรายที่เกิด Bunion ทางด้านนิ้วก้อย
- แบบสุดท้ายใช้ในกรณีปุ่มกระดูกที่โคนหัวแม่เท้านูนมากและยังไม่อยากผ่าตัด