ปวดข้อเข่า (Knee pain)

ข้อเข่าเป็นข้อที่เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยที่สุดในร่างกาย ตัวข้อประกอบด้วยกระดูก 4 ชิ้น คือ กระดูกต้นขา (femur) กระดูกสะบ้า (patella) กระดูกขาทิเบีย (tibia) และกระดูกขาฟิบูลา (fibula) ภายในข้อยังมีกระดูกอ่อนเมนิสคัส (meniscus) คอยรับแรงกระแทกเวลาที่เราเคลื่อนไหว มีเส้นเอ็นครูซิเอต (cruciate) สองเส้นยึดไขว้กันเป็นรูปกากบาทเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเหยียดหรืองอมากเกินไป ด้านข้างมีเส้นเอ็นโคลแลเทอรอลอีกสองเส้นยึดให้ข้อกระชับกันยิ่งขึ้น ด้านหลังมีถุงน้ำกันกระแทกขณะที่กระดูกสะบ้าที่อยู่ทางด้านหน้าคอยป้องกันไม่ให้ผิวข้อของกระดูกต้นขาสัมผัสพื้นเวลาเราที่คุกเข่า โครงสร้างทั้งหมดนี้ถูกหุ้มอย่างแน่นหนาอีกชั้นด้วยเอ็นของกลุ่มกล้ามเนื้อควอไดรเซปส์ (quadriceps) ทางด้านหน้า เอ็นของกลุ่มกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์ (hamstrings) ทางด้านข้าง และหัวของกลุ่มกล้ามเนื้อแกสตร็อกนิเมียส (gastrocnemius) ทางด้านหลัง

หากดูจากโครงสร้างภายใน ตำแหน่งของการปวดเข่าอาจบอกได้ถึงพยาธิสภาพที่เกิดกับโครงสร้างของตำแหน่งนั้น เช่น

สาเหตุของการปวดเข่า

สาเหตุของอาการปวดเข่าแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. การบาดเจ็บ เป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดเข่าอย่างฉับพลัน การบาดเจ็บของข้อเข่าอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา กรณีที่รุนแรงอาจทำให้
    • กระดูกหัก ซึ่งจะมีปัญหาเข่ารับน้ำหนักไม่ได้ด้วย
    • เส้นเอ็นขาด จะปวดและรู้สึกว่าเข่าไม่มั่นคง เดินแล้วมีเสียง จากนั้นข้อจะบวมภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ควรทิ้งไว้ เพราะจะเกิดการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนเมนิสคัสตามมา
    • กระดูกอ่อนเมนิสคัสฉีกขาด จะปวดและรู้สึกว่ากระดูกกระทบกันเวลาเดิน แต่อีก 2-3 วันเข่าจะบวมมาก ข้อติด เหยียดและงอได้ไม่สุด เพราะเศษกระดูกอ่อนอาจเข้าไปขัดกระดูกไว้
    • ข้อเคลื่อนหรือลูกสะบ้าเคลื่อน เข่าจะผิดรูปไป
  2. การอักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาท์ โรคซูโดเกาท์ ข้อติดเชื้อ ปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ (Osgood-Schlatter disease) เส้นเอ็นลูกสะบ้าอักเสบ ถุงน้ำด้านหน้าข้อเข่าอักเสบ ฯลฯ อาการปวดมักไม่รุนแรงในทันที และมักมีไข้ร่วมด้วย
  3. ความเสื่อม เช่น ข้อเข่าเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น กระดูกอ่อนของลูกสะบ้าเสื่อม (มักพบในเด็กหรือหนุ่มสาวที่เคยมีอุบัติเหตุต่อข้อเข่า จะเกิดอาการเมื่อนั่งงอเข่านาน ๆ พอเหยียดเข่าจะปวด แต่พอเดินไปสักพักจะหายเป็นปกติ) อาการปวดในกลุ่มนี้จะไม่มาก แต่เป็นเรื้อรัง
  4. ปัญหาเชิงกล ได้แก่การมีแนวรับน้ำหนักไม่ตรงพอดี อาจเกิดจากมีหัวเข่าผิดรูปมาก่อน, การมีเศษกระดูกอยู่ภายในข้อ, การมีถุงน้ำอยู่หลังเข่าทำให้มีปัญหาในการงอเข่า, การปวดสะโพกหรือปวดข้อเท้า ทำให้เปลี่ยนแปลงท่าเดิน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหัวเข่า, การมีน้ำหนักตัวมากเกินกว่าที่เข่าแต่ละข้างจะรับน้ำหนักไหว เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้จะนำไปสู่การบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกลายเป็นข้อเสื่อมในที่สุด

การดูแลตนเองเมื่อปวดเข่า

กรณีที่เกิดจากการบาดเจ็บให้ประคบน้ำแข็งนานอย่างน้อย 15 นาที หรือจนหายปวด ถ้าไม่สามารถลงน้ำหนักขาข้างนั้นได้ หรือมีข้อบวมมากต้องรีบไปพบแพทย์

กรณีที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ

หากการปวดเป็นซ้ำ ๆ และยังไม่เคยได้รับการเอกซเรย์หรือวินิจฉัยที่แน่นอนก็ควรไปโรงพยาบาลก่อน