เจ็บอก (Chest pain)
อาการเจ็บอกหรือแน่นอกเป็นอาการยอดฮิตที่พบในเว็บไซต์สุขภาพแทบจะทุกแห่ง และส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่โรคหัวใจ แต่ในหน้านี้จะกล่าวถึงสาเหตุที่พบได้บ่อยทั้งหมดและความแตกต่างของอาการเจ็บอกในแต่ละสาเหตุ โดยหวังว่าผู้อ่านจะเห็นภาพได้กว้างขึ้น และไม่เหมารวมกล้วว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเสียทุกครั้งที่มีอาการเจ็บอก
สาเหตุของอาการเจ็บอก
สาเหตุของอาการเจ็บอกแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 5 กลุ่มคือ จากโรคของผนังทรวงอก (ตั้งแต่กล้ามเนื้อ กระดูกซี่โครง ผิวหนังและเนื้อเยื่อ) พบบ่อยที่สุด ถัดไปคือจากโรคของปอดและอวัยวะภายในทรวงอกอื่น ๆ นอกจากหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบพอ ๆ กับสาเหตุจากจิตใจหรือพวกที่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ สุดท้ายคือจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบพอ ๆ กับโรคของทางเดินอาหาร จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุเพียง 1 ใน 5 ของอาการเจ็บอกทั้งหมด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็เป็นเพียงหนึ่งในนั้น
หากจะลงไปในรายละเอียดของแต่ละกลุ่ม โรคที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้
โรคของผนังทรวงอก
- โรคงูสวัด อาการเจ็บแสบที่ผิวหนังจะมาก่อนตุ่มน้ำใสประมาณ 1-2 วัน ผิวหนังบริเวณนั้นจะขึ้นรอยแดงก่อน สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน และไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว การหายใจ การออกกำลัง หรือมื้ออาหาร
- ภาวะกล้ามเนื้อและเอ็นเคล็ดหรืออักเสบจากการออกกำลัง เป็นกลุ่มที่พบบ่อยมาก ลักษณะจะเป็นแบบปวดเมื่อยเวลาขยับแขนหรือเอี้ยวตัว อาการไม่รุนแรง ได้พักไม่กี่วันก็หาย
- จากการบาดเจ็บ เช่น ทรวงอกถูกอัด ซี่โครงหัก ถ้าไม่กระทบปอดการรักษาจะเพียงการพักและให้ยาบรรเทาอาการ กระดูกซี่โครงที่หักจะสามารถติดได้เองภายในเวลา 6 สัปดาห์ ไม่ต้องดามหรือเข้าเฝือกอก
- โรคกระดูกซี่โครงอักเสบ มักพบในคนหนุ่มสาว การอักเสบจะเกิดขึ้นมาเองตรงบริเวณรอยต่อของกระดูกอ่อนกับกระดูกอก (หมายเลข 1 ในรูป) หรือรอยต่อของกระดูกอ่อนกับกระดูกซี่โครง (หมายเลข 2 ในรูป) ข้างใดข้างหนึ่ง อาจเป็นพร้อม ๆ กันหลายซี่ ถ้าเอานิ้วกดตรงตำแหน่งนั้นจะเจ็บมาก อาการปวดสามารถทุเลาได้ด้วยยาแก้ปวดลดอักเสบกลุ่ม NSAIDs การอักเสบจะเป็นไม่เกิน 7 วัน ถ้าปวดไม่มากเพียงคอยระวังไม่ให้ถูกกระแทกบริเวณนั้นอาการปวดก็จะค่อย ๆ ทุเลาได้เอง
- กลุ่มอาการกดรัดหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณทางออกช่องอก (Thoracic outlet syndrome, TOS) คือ ช่องที่อยู่ระหว่างกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 (ตรงที่ลูกศรชี้ในรูปข้างบน) ทั้งซ้ายและขวา เป็นทางผ่านของเครือข่ายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขนส่วนล่าง (Lower brachial plexus) และหลอดเลือดต่าง ๆ เวลาที่เรายกแขนขึ้นช่องนี้จะตีบแคบลง หากช่องนี้มีพังผืดหรือแคบอยู่แล้วตั้งแต่เกิด เมื่อเราทำกิจกรรมที่ต้องกางแขน ยกแขนอยู่บ่อย ๆ เส้นเลือดและเส้นประสาทที่ผ่านช่องนี้ก็จะถูกกด นานเข้าจะเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อไหล่และอก (ถ้าเป็นมากแขนข้างนั้นจะอ่อนแรงด้วย) โรคนี้รักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด ถ้าไม่ดีขึ้นก็ผ่าตัดเลาะพังผืดหรือเอาซี่โครงซี่แรกออก
- ข้อไหล่อักเสบ อาการปวดตั้งต้นที่ข้อไหล่แล้วลามมาที่กล้ามเนื้ออก จะปวดเวลาที่ขยับไหล่ข้างนั้น
- โรคของกระดูกสันหลังส่วนคอหรืออก อาการปวดจะอยู่ที่ด้านหลัง เจ็บเวลาก้มหรือหันคอ อาจมีอาการปวดหรือชาตามเส้นประสาทด้วย
โรคของปอดและเมดิแอสตินั่ม
- โรคหลอดลมอักเสบ อาการเจ็บอกเกิดจากการไอมาก ลักษณะจะเป็นการปวดสีข้างบริเวณเหนือเอวขึ้นมาเล็กน้อย ตรงตำแหน่งที่กระบังลมเกาะอยู่ ทั้งสองข้าง
- โรคปอดบวม อาการจะเป็นแบบเจ็บอกข้างเดียวเวลาหายใจ และมีอาการร่วมที่สำคัญ 3 อย่างของโรคปอดบวม คือ มีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย ยิ่งเวลาไอจะยิ่งเจ็บอกข้างที่เป็นปอดบวมมาก
- ภาวะที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ช่องเยื่อหุ้มปอดจะอยู่ระหว่างเนื้อปอดกับผนังทรวงอก ปกติจะเป็นสูญญากาศ เพื่อเวลาที่กระบังลมดันตัวลงต่ำและทรวงอกขยายเมื่อเราหายใจเข้า ช่องนี้จะมีแรงดันเป็นลบดึงอากาศเข้ามาในปอดได้ง่าย ในบางภาวะ เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ, วัณโรคของเยื่อหุ้มปอด, มะเร็ง, ไตวาย, ตับแข็ง, หัวใจล้มเหลว, หรือภาวะโปรตีนต่ำในเลือด ช่องนี้อาจมีน้ำซึมเข้ามาได้ ทำให้รู้สึกแน่น ๆ ในอก หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจก็จะเจ็บอกเวลาหายใจเหมือนโรคปอดบวม
- ฝีที่ปอด มักเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังในปอด อาการคล้ายปอดบวมแต่เป็นนานกว่า และเสมหะเป็นหนองหรือมีเลือดปน
- วัณโรคปอด อาการเจ็บอกมักไม่รุนแรง อาการหลักคือไอเรื้อรัง ผอมลง เหนื่อยง่าย มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ มักเป็นในคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
- ภาวะปอดแตก เวลาที่เราไอมากและรุนแรง ถุงลมในปอดอาจแตกได้ เวลาปอดแตกจะเจ็บอกแปล๊บขึ้นมาทันที จากนั้นจะเริ่มรู้สึกหายใจไม่อิ่มและเจ็บอกข้างที่มีปอดแตกนั้นทุกครั้งที่หายใจเข้า อาการจะคล้ายกับปอดอักเสบเพียงแต่ไม่มีไข้เท่านั้น ภาวะปอดแตกมักพบในคนผอมสูง
- มะเร็งปอด ก้อนที่ปอดช่วงแรกจะไม่แสดงอาการอะไร เมื่อเกิดอาการเจ็บอกนั่นคือถึงระยะลุกลามแล้ว
- โรคภายในเมดิแอสตินั่ม เมดิแอสตินั่มหรือที่บางคนเรียกว่า "ประจันอก" นั้นคือช่องที่อยู่ระหว่างเนื้อปอดทั้งสองข้าง ภายในมีหัวใจ หลอดเลือด ท่อน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง ต่อมไทมัส โรคของเมดิแอสตินั่มเช่น การอักเสบติดเชื้อ (mediastinitis) การมีลมเข้ามาขังอยู่ (pneumomediastinum) ซึ่งจะมีไข้ เจ็บกลางอกมากและเป็นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นเนื้องอกของอวัยวะภายในเมดิแอสตินั่มเองก็ทำให้มีอาการเจ็บอกแบบแน่นขึ้นอย่างช้า ๆ ได้
โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial ischemia) โรคยอดฮิตนี้พบได้น้อยมากในผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 35 ปี และในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 45 ปี หนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการเจ็บอกไม่ควรวิตกเกินเลยไป นอกจากอายุแล้วยังมักต้องมีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโคเลสเคอรอลในเลือดสูงที่ซ้ำเติมความเสื่อมของหลอดเลือด โรคนี้มีอาการได้ 2 ลักษณะคือ แบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งสองแบบจะเกิดตอนกำลังเดินหรือออกแรง แบบเฉียบพลันคือเป็นครั้งแรกก็มีกล้ามเนื้อหัวใจตายเลย โดยจะรู้สึกถูกบีบรัดในอกเหมือนมีของหนักมาก ๆ มาทับอกไว้ หายใจไม่สะดวก เหงื่อแตก ใจเต้นเร็ว ทำอะไรไม่ได้ นั่งพักก็ไม่หาย อาการปวดอาจร้าวไปที่คอ กราม หรือแขนซ้ายดังรูป หรืออาจปวดทะลุไปกลางหลัง แบบเรื้อรังจะมีอาการคล้ายกัน แต่พอนั่งพักสักครู่ก็จะค่อยดีขึ้น แล้วพอเริ่มออกแรงก็จะเป็นอีก บางทีมีอาการเป็นซ้ำวันละหลายครั้ง แบบเฉียบพลันควรไปโรงพยาบาลทันทีภายใน 20 นาที แบบเรื้อรังก็ควรรีบหาเวลาไปตรวจที่โรงพยาบาล
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การบาดเจ็บ การฉายรังสีที่อก ไตวาย วัณโรค มะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ อาการเจ็บอกจะเกิดขึ้นปุบปับ เสียดแทงอกอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเวลาหายใจเข้าลึก ๆ หรือนอนลงจะยิ่งเจ็บมากขึ้น เวลานั่งหรือเอนตัวไปข้างหน้าจะค่อยดีขึ้น ภาวะนี้ส่วนใหญ่เกิดไม่นาน แม้โรคตั้งต้นอาจยังไม่หายดีแต่อาการเจ็บอกจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจหายไปก่อน
- โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาโดยไม่ทราบสาเหตุ (Hypertrophic cardiomyopathy) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเบบ autosomal dominant พบในผู้ชายมากกว่า และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันขณะออกกำลังหรือเล่นกีฬาหนัก ๆ ในคนหนุ่ม เนื่องจากการหนาตัวของผนังจะกินที่เข้ามาด้านในของห้อง ทำให้พื้นที่รับเลือดภายในห้องล่างซ้าย (ซึ่งเป็นห้องที่ทำหน้าที่ฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายทั้งหมด) ลดลง นอกจากนั้นยังมักพบการหนาของผนังกั้นห้องด้านบนซึ่งใกล้กับทางออกของเลือดจากหัวใจ ทำให้เลือดออกจากหัวใจได้ช้าลงด้วย ในภาวะที่ออกกำลังมาก หัวใจจะเต้นเร็วและบีบตัวแรงทั้งที่ยังคลายตัวไม่สุด ปริมาตรเลือดที่ไหลเข้าห้องล่างซ้ายจะลดลงเรื่อย ๆ ปริมาณเลือดที่ฉีดออกไปก็จะลดลงตามกันจนไม่พอที่จะเลี้ยงอวัยวะทั้งหมด อวัยวะที่ทำงานหนักจะมีผลกระทบก่อน นั่นคือตัวหัวใจนี่เอง เด็กหนุ่มเหล่านี้จะมีอาการเจ็บอกคล้ายคนเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอาจเป็นลมหมดสติไปในทันที เด็กหรือหนุ่มสาวที่เป็นลมบ่อยขณะเล่นกีฬา เดินไกล หรือออกแรงมากควรที่จะต้องตรวจโรคนี้
- ภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis) ภาวะนี้อาจเป็นแต่กำเนิด หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้รูห์มาติก หรือเป็นการเสื่อมของลิ้นหัวใจจากการมีหินปูนมาเกาะในคนสูงอายุ อาการเจ็บอกจะคล้ายกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือเจ็บตอนออกกำลัง เพราะช่วงนั้นร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงมากแต่ทางออกของเลือดมีขนาดเล็กเกินไป แต่ภาวะนี้รักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ
- ภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลโผล่แลบ (Mitral valve prolapse) ลิ้นหัวใจไมตรัลเหมือนประตูเปิดทางเดียวให้เลือดจากหัวใจห้องบนซ้ายไหลลงมาห้องล่างซ้ายเมื่อหัวใจคลายตัว เมื่อหัวใจบีบตัวประตูนี้จะปิด ในภาวะนี้ลิ้นหัวใจไมตรัลปิดแบบมีการโผล่บางส่วนกลับเข้าไปในหัวใจห้องบนซ้าย แต่ยังไม่ถึงกับรั่วให้เลือดไหลย้อนกลับ ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่แพทย์อาจตรวจพบจากการตรวจร่างกายหรือตรวจคลื่นเสียงหัวใจ ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง คือมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นๆ หาย ๆ ใจสั่น เหนื่อยง่าย วิงเวียน เป็นลม
- โรคหลอดเลือดที่ปอดอุดตันจากลิ่มเลือด (Pulmonary embolism) โรคนี้ก็เป็นภาวะฉุกเฉินอีกโรคหนึ่ง มักพบในคนที่ป่วยจนต้องนอนนาน ๆ หรือมีประวัติหลอดเลือดที่ขาอุดตันมาก่อน อาการหลักคือเหนื่อยหอบขึ้นมาฉับพลัน หายใจเร็ว เหงื่อออก ไอ(เป็นเลือด) เจ็บอก และอาจหมดสติ
- ภาวะความดันเลือดที่ปอดสูง (Pulmonary hypertension) เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ที่สูบบุหรี่มาก อาการจะเหนื่อยง่าย (แค่เดินก็เหนื่อยแล้ว) ไอ มือ-เท้า-ปากเขียวคล้ำ แน่นอกเวลาหอบ ต้องการออกซิเจนตลอดเวลา
- โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาแตกเซาะ (Aortic dissection) เป็นโรคที่พบได้น้อย ส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดนี้เปราะ เกิดการฉีกขาดที่ผนังชั้นใน แรงดันเลือดจะช่วยเซาะให้รอยแตกนี้กว้างขึ้นจนผนังชั้นในแยกจากผนังชั้นกลาง ผนังชั้นในนี้จะกลายเป็นแผ่นปิดทางเดินของเลือดปกติ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะเจ็บอกฉับพลันอย่างรุนแรง ช็อก และเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว
โรคของทางเดินอาหาร
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease, GERD) เป็นโรคเรื้อรังที่กรดจากกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนกลางอก รู้สึกมีน้ำเปรี้ยว ๆ ขม ๆ ไหลขึ้นคอ ไอ เสียงแหบ อาการเหล่านี้จะเกิดเป็นพัก ๆ ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ มักเป็นเวลาเอนกายหรือนอนหลังทานอาหารจนอิ่ม อาการจะดีขึ้นเมื่อลุกนั่ง
- โรคของหลอดอาหาร เช่น หลอดอาหารบีบเกร็ง (spasm), หลอดอาหารฉีกขาด (tear), หลอดอาหารตีบ (stricture), มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น โรคเหล่านี้ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก กลืนไม่ลง กลืนแล้วติด ต้องขย้อนกลับออกมา อาการจะสัมพันธ์กับการกินอาการ การจุกอกเกิดจากการที่อาหารติดค้างอยู่ในหลอดอาหาร โรคหลอดอาหารฉีกขาดมักเป็นที่ส่วนล่าง เกิดหลังการอาเจียนมากจนกรดในกระเพาะขึ้นมากัดหลอดอาหารจนเป็นแผล อาการจะแสบร้อนหลังอกส่วนล่าง การอาเจียนครั้งหลัง ๆ จะมีเลือดปนออกมา
- โรคแผลในกระเพาะ (Peptic ulcer) ตำแหน่งที่แสบร้อนจะอยู่แถวลิ้นปี่ สัมพันธ์กับอาหาร ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไอ ไข้ หรือใจสั่น
- โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่ตรงชายโครงขวา กดเจ็บ อาจร้าวไปที่สะบักขวา มักพบในหญิงท้วมวัยกลางคน และมักเกิดหลังทานอาหารมื้อที่มีไขมันมาก
- โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่แถวลิ้นปี่ทะลุไปด้านหลัง ท้องอืด อาเจียนมาก มักพบในผู้ที่ดื่มสุรามาก
โรคทางจิตใจและไม่ทราบสาเหตุ
ได้แก่ กลุ่มอาการ Hyperventilation ที่มักเป็นในหญิงสาว โดยมีอาการหายใจหอบลึก มือชา และเจ็บหน้าอก และกลุ่มที่มีอาการเจ็บอกแบบแปล๊บ ๆ ขึ้นมาเป็นวินาทีแล้วหายไป แล้วก็เป็นขึ้นมาใหม่ แม้ในกลุ่มหลังนี้เราจะยังไม่ทราบสาเหตุของอาการเจ็บอก แต่ขอให้ท่านมั่นใจว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไรหากท่าน...
- เอามือกดที่กระดูกอก, กระดูกซี่โครงแล้วไม่เจ็บ ก้ม-เงย-หันคออย่างใดก็ไม่เจ็บ ไม่ชา (เพราะแสดงว่าไม่ใช่โรคของผนังทรวงอก)
- หายใจเข้า-ออกได้สะดวกดี ไม่เจ็บ ไม่ไอ (เพราะแสดงว่าไม่ใช่โรคของปอด)
- อาการเจ็บอกไม่สัมพันธ์กับการกินอาหาร ไม่ปวดท้อง ไม่อาเจียน (เพราะแสดงว่าไม่ใช่โรคของทางเดินอาหาร)
- อายุอยู่ในช่วง 15-35 ปี ออกแรงได้ไม่เหนื่อยง่าย ไม่เคยเป็นลม ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย (ผู้ชาย < 40 ปี, ผู้หญิง < 50 ปี) หรือเคยตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วปกติ (เพราะโอกาสจะเป็นโรคหัวใจที่ร้ายแรงน้อยมาก)
โดยทั่วไปทางการแพทย์เชื่อว่าอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมาจากจิตใจก่อน หากจิตใจสบาย ไม่มีภาระ ร่างกายก็จะสมานความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เอง หากทิ้งภาระไม่ได้และความผิดปกติดูจะใหญ่ขึ้นก็จะมีอาการของระบบนั้นให้เห็นในเวลาต่อมา ถึงตอนนั้นการตรวจวินิจฉัยถึงจะพบพยาธิสภาพทางร่างกายจริง ๆ