ท้องเสีย (Diarrhea)

ท้องเสียเป็นอาการที่เป็นกันง่ายในเมืองร้อนอย่างบ้านเรา ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ อาการที่ควรจะไปพบแพทย์คือเมื่อ

สิ่งสำคัญในการดูแลตนเองเมื่อท้องเสียคือการดื่มน้ำชดเชยทุกครั้งที่ไปถ่าย ถ้าไม่สามารถหาผงเกลือแร่ได้ ในวันแรกอาจใช้เพียงน้ำเปล่าก็พอ ในวันที่สองอาจผสมน้ำ 750 ซีซี กับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะและเกลือ 1/2 ช้อนชา ดื่มแทนน้ำไปเรื่อย ๆ ผู้ใหญ่หลายท่านแนะให้ดื่มน้ำชาแก่ ๆ สักหนึ่งแก้วเมื่อเริ่มท้องเสียจะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น

สาเหตุของอาการท้องเสีย

สาเหตุของอาการท้องเสียเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งการติดเชื้อในทางเดินอาหารเองหรือการติดเชื้อในระบบอื่นที่ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียด้วย คราวนี้มีผู้สงสัยว่าเมื่อส่วนใหญ่เป็นจากการติดเชื้อแล้วทำไมถึงไม่ควรทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อตั้งแต่แรกที่ท้องเสีย คำตอบคือเนื่องจากในทางเดินอาหารของเรามี IgA แอนติบอดีเป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งสามารถกำจัดได้ทั้งไวรัส แบคทีเรีย สารพิษ และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ขณะที่ยาปฏิชีวนะฆ่าได้เพียงเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น นอกจากนั้นร่างกายเรายังมีกลไกการขับของเสียออกไปด้วยตัวมันเองที่แสนวิเศษ การที่เราท้องเสียก็เพราะเยื่อบุลำไส้ไม่ดูดซึมของเสียเหล่านั้น แต่กลับหลั่งน้ำเข้ามาเจือจางแล้วยังเพิ่มการบีบตัวให้ของเสียเหล่านั้นผ่านออกไปเร็วขึ้น การปล่อยให้ถ่ายจนหมด (ไม่กินยาหยุดถ่าย), การปล่อยให้ภูมิคุ้มกันได้ทำงานตามหน้าที่ที่มันถูกสร้างมา, การดื่มน้ำชดเชย, การงดอาหารสัก 1-2 มื้อ, การพักผ่อนให้เพียงพอ เหล่านี้เป็นการสนับสนุนกลไกตามธรรมชาติในการพลิกฟิ้นร่างกายของเรา

อย่างไรก็ตามทางการแพทย์พบว่าอาการท้องเสียที่เป็นนานกว่า 3 วัน, อุจจาระมีมูกเลือดปน, มีไข้ อาเจียน และปวดท้องมากสมควรได้รับการตรวจเลือดและอุจจาระเพิ่ม เพราะแสดงว่าโรคมีความรุนแรงจนทำให้ระบบอื่น ๆ รวนไปด้วย

นอกจากการติดเชื้อแล้ว อาการท้องเสียเฉียบพลันยังอาจเกิดจากอาหารที่ระคายกระเพาะและลำไส้, การรับประทานอาหารที่ไม่เคยทานมาก่อน, การแพ้อาหารบางชนิด, เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์, ยาและอาหารเสริม, เห็ดพิษ, ปลามีพิษ, และสารเคมีต่าง ๆ สุดท้ายคือเป็นโรคของทางเดินอาหารหรือโรคระบบอื่นที่ทำให้มีท้องเสียด้วย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, ลำไส้อักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, เบาหวาน, คอพอกเป็นพิษ, ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน เป็นต้น

สาเหตุของอาการท้องเสียเรื้อรัง นับว่ามีหลากหลายมาก ส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ นานกว่า 3 สัปดาห์ และยังไม่ทราบว่ามีโรคประจำตัวอะไร ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด โดยต้องให้ประวัติให้ชัดว่าเป็นการท้องเสียเรื้อรัง สาเหตุต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างของพยาธิสภาพที่ทำให้มีอาการท้องเสียเรื้อรัง

  1. พยาธิสภาพที่กระเพาะ เช่น Atrophic gastritis, Pernicious anemia, Zollinger-Ellison syndrome
  2. พยาธิสภาพที่ลำไส้เล็ก
    • การอักเสบ: เช่น Crohn's disease, Radiation enteritis, Whipple's disease, Amyloidosis, SLE, Scleroderma, Polyarteritis nodosa
    • เสียการดูดซึม: เช่น Non-tropical sprue, Tropical sprue, Disaccharidase deficiency, Intestinal lymphoma, Pancreatic insufficiency, Hypogammaglobulinemia, การผ่าตัดเอาลำไส้ออกไปมาก
    • ทำงานผิดปกติ: เช่น โรคลำไส้แปรปรวน, โรคเครียด
  3. พยาธิสภาพที่ลำไส้ใหญ่ เช่น Ulcerative colitis, Diverticulitis, Villous adenoma, Colonic carcinoma
  4. การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น Giardiasis, Amebiasis, Tuberculosis
  5. ท้องเสียเรื้อรังในคนไข้เอดส์
  6. โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวานที่มีพยาธิสภาพที่ปลายประสาทที่ไปเลี้ยงลำไส้, ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, มะเร็งต่อมไทรอยด์, เนื้องอกตับอ่อนบางชนิด, Carcinoid tumor, โรคของต่อมพาราไทรอยด์
  7. จากยาที่ใช้ประจำ เช่น ยาลดกรดชนิด Antacid, ยาปฏิชีวนะ, Colchicine, ยาต้านซึมเศร้า, ยาระบาย
  8. พยาธิสภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะที่มีทางต่อระหว่างท่อน้ำดีกับลำไส้ หรือทางลัดจากกระเพาะลงลำไส้ใหญ่, ภาวะที่มีเลือดไปเลี้ยงลำไส้ไม่พอ

สาเหตุต่าง ๆ ข้างต้นจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษอีกมาก และส่วนใหญ่จะทำเป็นขั้น ๆ เพื่อไม่ให้เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไปโดยไม่จำเป็น