ท้องอืดท้องเฟ้อ (Dyspepsia)

อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องหลังรับประทาน อิ่มเร็ว มีลมในท้อง เรอบ่อย อาหารไม่ย่อย แสบร้อนลิ้นปี่ เป็นกลุ่มอาการของทางเดินอาหารส่วนบนที่รวมเรียกว่า "dyspepsia" ปัจจุบันพบมากถึงร้อยละ 10-30 ของประชากรเมือง ส่วนใหญ่อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ จนต้องไปพบแพทย์ และดูเหมือนแพทย์จะไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าสั่งยาโรคกระเพาะให้ไปกิน 1-2 สัปดาห์

ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุของอาการดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (Functional dyspepsia) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์ และส่องกล้องทางเดินอาหาร จะไม่พบความผิดปกติ การตรวจหาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้อื่น ๆ เช่น แผลในกระเพาะ ภาวะกรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งมะเร็ง มีค่าใช้จ่ายสูง สมาคมแพทย์ทางเดินอาหารของแทบทุกประเทศแนะนำให้สืบค้นเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ควรตรวจเพิ่ม

นิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี

  • เพศหญิง อายุ 50 ปีขึ้นไป
  • อ้วน
  • ชอบอาหารที่มีไขมันสูง
  • จุกเสียดใต้ชายโครงขวาบ่อย หลังอาหารมื้อใหญ่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  • มีโรคเบาหวาน
  • รับประทานยาลดไขมันในเลือด

มะเร็งตับหรือท่อน้ำดี

  • เป็นโรคตับแข็ง
  • เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี และ/หรือ ซี เรื้อรัง
  • มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับหรือท่อน้ำดี
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
  • ตาเหลือง คันตามตัว
  • มีจ้ำเลือดง่าย
  • สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

หากใครมีความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อตรวจเลือดดูการทำงานของตับ และ/หรือ อัลตราซาวด์ตับและทางเดินน้ำดี หานิ่วและมะเร็งต่อไป

นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีการอักเสบปัจจุบันไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลี่ยงอาหารมัน เพิ่มผักและธัญพืชแทน

มะเร็งทางเดินอาหาร

  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
  • ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระลีบเล็กลง ถ่ายเป็นมูกลื่น ถ่ายเป็นเลือดแดงหรือสีดำ
  • โลหิตจาง
  • อาเจียนต่อเนื่อง
  • กลืนลำบาก
  • มีโรคพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็งในครอบครัว
  • มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์มาก, อ้วน, ชอบกินเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ แบบปิ้ง ย่าง รมควัน, กินผัก ผลไม้ และธัญพืชน้อย
  • เคยเป็นติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ชนิด adenomatous หรือ hyperplastic polyp หรือเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และได้รับการรักษามาก่อน
  • เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ชนิด ulcerative colitis หรือ Crohn’s disease

แผลในกระเพาะอาหาร

  • ชอบรับประทานอาหารรสจัด
  • ชอบละเลยเวลาอาหารไปหลายชั่วโมง
  • เครียด
  • รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาแก้ปวดเป็นประจำ
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา

ภาวะกรดไหลย้อน

  • ชอบรับประทานจนอิ่มแปล้
  • กินเสร็จไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็เอนตัว
  • แสบร้อนกลางอก
  • มีน้ำรสขมหรือเปรี้ยวไหลย้อนขึ้นคอ
  • อ้วน
  • ตั้งครรภ์
  • มีไส้เลื่อนที่กระบังลม

หากใครมีความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อนัดส่องกล้องทางเดินอาหารต่อไป

แผลในกระเพาะอาหารและภาวะกรดไหลย้อนรักษาได้ง่าย แต่ก็กลับมาเป็นใหม่ง่ายถ้ายังมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่

เกณฑ์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน

มูลนิธิโรม (Rome) ได้กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (Rome IV) โดยไม่ต้องตรวจเพิ่ม หากมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 3 วันในหนึ่งสัปดาห์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเริ่มมีอาการเล็กน้อยกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา

และไม่มีสัญญาณอันตรายหรือปัจจัยเสี่ยงที่สมควรได้รับการสืบค้นด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร แพทย์สามารถให้ยาบรรเทาอาการได้เลย เมื่อผลการรักษาไม่ดีขึ้น หรือหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ ถึงค่อยส่องกล้องตรวจหาเชื้อ H. pylori

หากตรวจทุกอย่างแล้วไม่พบความผิดปกติก็จะจัดเป็นโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนโดยสมบูรณ์ ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) หรือภาวะกรดไหลย้อนร่วมด้วยในบางครั้งก็ได้ การรักษาอาจใช้ยาลดกรด ยาขับลม Prokinetics หรือยาสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เวลาที่มีอาการ