สองในสามของผู้มีอายุเกิน 65 ปี มีความลำบากในการพึ่งพาตัวเองแบบง่าย ๆ เช่น การลุกขึ้นจากเตียงหรือเก้าอี้ การเดิน การหมุนตัวกลับหลัง และการขึ้นลงบันได คนทั่วไปอาจเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงการเปลี่ยนแปลงในการเดินที่ถือว่าช้าหรือเสื่อมตามวัยมีเพียง 5 เรื่อง และพบเมื่ออายุ 70 ปี ขึ้นไป ผิดเกินไปจากนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติทั้งหมด
ผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีโรคประจำตัวใดใดจะมีการเปลี่ยนแปลงในท่าทาง จังหวะการเดิน และการเคลื่อนไหวของข้อดังต่อไปนี้
- ความเร็วในการเดิน (Gait velocity)
พบว่าความเร็วในการเดินของคนเราไม่ลดลงจนกระทั่งอายุ 70 ปี แล้วถึงค่อย ๆ ลดลง 15-20% ในทุก 10 ปีนับจากนั้น ความช้าลงในการเดินเป็นตัวทำนายอายุขัยของคนได้ค่อนข้างแม่นยำ หากความเร็วในการเดินยังคงปกติ โอกาสที่จะเสียชีวิตจากอายุขัยในอีก 10 ปีข้างหน้าค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันหากอายุยังไม่ถึง 70 ปี แต่เริ่มเดินช้าลงกว่าเมื่อตอนอายุ 30-40 ปี อย่างเห็นได้ชัดก็ควรต้องมาศึกษาหาพยาธิสภาพ
- จำนวนก้าวต่อนาที (Cadence)
เช่นเดียวกัน จำนวนก้าวต่อนาทีมิได้เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ คนเราทุกคนจะมีจำนวนก้าวเดินต่อนาทีที่มั่นคงของตนเอง ซึ่งขึ้นกับความยาวของขาและพละกำลังของแต่ละคน คนสูงจะก้าวยาว ทำให้จำนวนก้าวต่อนาทีน้อย ขณะที่คนตัวเตี้ยก้าวได้สั้นกว่า จำนวนก้าวต่อนาทีจึงมักมากกว่าคนสูง แต่ก็ขึ้นกับพละกำลังของแต่ละคนอีก
ความเร็วในการเดินที่ช้าลงไปเกิดจากระยะก้าวเท้าที่สั้นลง ไม่ใช่จำนวนก้าวต่อนาทีที่ลดลง เนื่องจากกล้ามเนื้อน่องของเราจะอ่อนแรงเมื่ออายุมากขึ้น คนวัยกลางคนที่ยังมีพละกำลังจะพยายามใช้กล้ามเนื้อต้นขาและสะโพกช่วยในการเดินเพื่อรักษาความเร็วให้คงที่ แต่เมื่อเข้าวัยสูงอายุ มวลกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อต้นขาก็มักจะอ่อนแรงตามไปด้วย ความเร็วในการเดินจึงช้าลง
คนเราควรบันทึกความเร็วในการเดินและจำนวนก้าวต่อนาทีของตนเองเมื่อยังแข็งแรงไว้ และคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น
- มีช่วงจังหวะยืนสองขา (Double stance time)
วงจรการเดินของคนประกอบด้วยช่วงที่เท้าเหยียบพื้น (stance time) กับช่วงที่เท้าลอยเหนือพื้น (swing time) เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า stance time ของขาขวาจะเท่ากับ swing time ของขาซ้าย ช่วงตรงกลางเป็นช่วงที่เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้น ซึ่งจะสั้น-ยาวตามความเร็วของการเดิน การวิ่งจะไม่มี double stance time การเดินทอดน่องหรือเดินอย่างระมัดระวังจะมี double stance time ที่ยาวขึ้น การเดินตามปกติจะมีช่วง double stance time เพียง 18% ของวงจรการเดิน แต่ในคนสูงอายุจะมีช่วง double stance time ยาวขึ้นเป็น 25-30% โดย swing time จะสั้นลงเนื่องจากระยะก้าวเท้าที่สั้นลงดังได้กล่าวแล้ว
- ท่าทางการเดิน (Walking posture)
ท่าทางการเดินของผู้สูงอายุก็อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ไม่มาก โดยจะเดินแอ่นหลังเล็กน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง กล้ามเนื้อกลุ่มที่งอสะโพกตึงตัว และมีการเพิ่มขึ้นของไขมันหน้าท้อง ขณะก้าวปลายเท้าของผู้สูงอายุจะหันออกทางด้านข้างมากกว่าวัยหนุ่มสาวประมาณ 5 องศา เนื่องจากกล้ามเนื้อกลุ่มที่หมุนสะโพกเข้าในอ่อนแรง และต้องทรงตัวไม่ให้ล้มไปทางด้านข้าง และสุดท้าย จังหวะการเหวี่ยงเท้าก้าวไปข้างหน้าก็จะเบากว่าเมื่อก่อน
- การเคลื่อนไหวของข้อ (Joint motion)
ปกติการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกและข้อเข่าจะยังคงเดิม แต่ข้อเท้าจะกระดกลงได้น้อยกว่าปกติเล็กน้อย ทำให้การถีบตัวออกเดินไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ การเดินเร็ว ๆ จึงเหนื่อยง่ายกว่าคนหนุ่มสาว นอกจากนั้นกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลังยังลดการขยับในทุก ๆ ด้าน การเอี้ยวตัว การปีนขึ้นที่สูง จึงดูช้าลง และการลงบันไดมักต้องใช้มือจับราวเพื่อให้มั่นคงขึ้น
ผู้ที่มีความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อนวัย หรือผู้สูงอายุที่เดินแปลกไปจากนี้ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ เพราะหลายโรครักษาได้แม้จะเข้าสู่วัยชราแล้ว
ในผู้ป่วยทุกวัย ก่อนอื่นต้องตัดภาวะทางจิตใจ (ซึมเศร้า กลัว นอนไม่พอ) การติดสุราหรือสารเสพติด และภาวะความดันต่ำออกไปให้ได้ก่อน จากนั้นจึงจะมาดูว่าเป็นจากผลข้างเคียงของยาที่รับประทานประจำได้หรือไม่ (เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ ยากันชัก ยารักษาโรคจิต ยาต้านซึมเศร้า และยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงทั้งหลาย) หากไม่มีสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้แน่ ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดอาจสามารถวินิจฉัยแยกโรคเองได้ (หรือให้ข้อมูลที่สำคัญแก่แพทย์ได้) จากอาการที่เกิดร่วมไปกับอาการเดิน/ทรงตัวลำบาก ดังตารางข้างล่างนี้
อาการร่วม | โรคที่นึกถึง |
สูญเสียการทรงตัว เดินส้นเท้าแยกห่างจากกัน (wide-based gait) ใช้มือช่วยในการทรงตัว ไม่สามารถเดินต่อเท้าเป็นเส้นตรงได้ ยืนตัวตรงเท้าชิดกันก็จะล้ม | รอยโรคที่สมองน้อย (cerebellum) |
ปวดหลัง ปวดมากเวลายืดตัวตรง ดีขึ้นเวลาก้มตัว | โรคโพรงไขสันหลังส่วนเอวตีบ (Lumbar spinal stenosis) |
ปวดคอ แขนขาแข็งเวลาเดิน กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ รีเฟล็กซ์ไว | โรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylosis) |
มือสั่น ตัวสั่นเวลาเดิน | โรค Essential tremor |
ทำอะไรช้า เคลื่อนไหวช้า ตัวแข็ง สีหน้าไร้อารมณ์ มือสั่นขณะพัก (นิ้วมือขยับเหมือนกำลังปั้นลูกกลอน) หยุดสั่นเวลาใช้มือทำกิจกรรม | โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) |
กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ราดบ่อย เดินช้า ก้าวสั้น ๆ บางครั้งหยุดนิ่ง ก้าวเท้าไม่ออก เหมือนมีแม่เหล็กดูดเท้าเอาไว้ หลง ๆ ลืม ๆ | โรค Normal pressure hydrocephalus |
เดินก้าวสั้น ๆ ทรงตัวไม่ดี ล้มบ่อย กลอกลูกตาขึ้นลงได้ไม่สุด เห็นภาพซ้อนเวลาเดินลงบันได | ภาวะ Progressive supranuclear palsy |
แน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลัง | โรคหัวใจ |
อัมพาตครึ่งซีก รีเฟล็กซ์ไว อาจไม่เข้าใจภาษาหรือพูดไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ | โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke) |
หลง จำเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อครู่ไม่ได้ ดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ ตัดสินใจไม่ได้ | โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) โรคสมองเสื่อมจากการขาดเลือดเรื้อรัง (Vascular dementia) |
เวียนศีรษะ บ้านหมุน ทรงตัวไม่ได้ อาจสูญเสียการได้ยินหรือได้ยินเสียงหึ่ง ๆ ในหูตลอดเวลา | ความผิดปกติที่อวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน |
วิงเวียนเวลาหันศีรษะ บางครั้งหันแล้วเป็นลม | ภาวะ Carotid sinus hypersensitivity |
วิงเวียนเวลาลุกขึ้นยืน หน้ามืดเป็นลมเวลาลุก | ภาวะ Orthostatic hypotension, ความดันโลหิตต่ำจากยา |
เป็นลมบ่อยโดยไม่วิงเวียน | ภาวะ Vertebrobasilar insufficiency |
ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อนหน้านี้ไม่นาน | มีเลือดคั่งในสมอง (Subdural hematoma) |
มีท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิดวิสัยคนทั่วไป โดยที่เจ้าตัวก็บังคับให้หยุดไม่ได้ | โรค Chorea, Huntinton's disease, ภาวะ Tardive dyskinesia, ใช้ยารักษาโรคทางจิตอยู่ |
ปวดข้อ ข้อบวมหรือผิดรูป ขยับข้อได้ไม่สุด | โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) |
หลังค่อม ถึงยึดตัวตรงความสูงก็ลดลงจากเดิม เอกซเรย์พบกระดูกจาง | โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) |
ต้นแขนต้นขาอ่อนแรง ลุกยืนจากเตียงหรือเก้าอี้เตี้ย ๆ ไม่ได้ ปวดกล้ามเนื้อ | โรค Polymyositis |
ต้นแขนต้นขาอ่อนแรง ลุกยืนจากเตียงหรือเก้าอี้เตี้ย ๆ ไม่ได้ ขี้หนาว หลับมาก ทำอะไรช้า น้ำหนักขึ้น ชีพจรช้า | ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) |
มีก้อนเนื้อแข็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเบียดทำลายอวัยวะเดิม จมูกโหว่ ใบหน้าผิดรูป กระดูกหักง่าย ปวดท้อง หลงลืม ชักกระตุก วิกลจริต ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หัวใจล้มเหลว
| โรคซิฟิลิสระยะที่สาม |
แขนขาชา ไม่รู้สึก | พยาธิสภาพที่ปลายประสาท (Peripheral neuropathy) |
การมองเห็นผิดไป | โรคทางตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จุดรับภาพชัดเสื่อม |
หากมีอาการร่วมดังกล่าวข้างต้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอาการหลายอย่างซ้ำซ้อนกัน แพทย์จึงต้องทราบประวัติการเจ็บป่วยครั้งก่อน ๆ ผลตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ที่เคยทำ โรคประจำตัว และยาที่กำลังใช้อยู่ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วต่อไป
ความจริงพวกเรากำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ รถราในซอยควรขับช้า ๆ คอยระวังผู้สูงอายุและเด็กที่จำเป็นจะต้องใช้ไหล่ทางแคบ ๆ ร่วมกับรถ ผู้สูงอายุมักพยายามดูแลตัวเองท่ามกลางสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นน้ำใจและความใจเย็นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะมีให้กันอยู่เสมอ