อาเจียนเป็นเลือด (Hematemesis)

อาการอาเจียนเป็นเลือด หมายถึง การอาเจียนออกมาเป็นเลือดสดหรือเป็นลิ่มเลือดเล็ก ๆ สีน้ำตาลปนน้ำ ที่ภาษาแพทย์เรียกว่า "coffee grounds" ลักษณะนี้แสดงถึงการมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน เลือดที่ออกจากทางเดินอาหารส่วนบนบางครั้งอาจไม่อาเจียนออกมา แต่จะผ่านลงไปจนถึงทวารหนักและถ่ายออกมาเป็นอุจจาระเหลว ๆ สีดำคล้ายยางมะตอย ทั้งสองภาวะนี้ต้องได้รับการประเมินความรุนแรงและหาสาเหตุอย่างรีบด่วน

ความรุนแรงมิได้ประเมินจากปริมาณเลือดที่ออกมาให้เห็นภายนอก แต่จากการวัดความดันโลหิตและชีพจร ความดันค่าบนที่ลดต่ำกว่าค่าพื้นฐานของบุคคลนั้น 20 mmHg หรือชีพจรที่เต้นเร็วกว่า 100 ครั้ง/นาที ถือว่ามีการตกเลือดภายในอย่างมาก การใส่สายยางเข้าไปล้างเลือดในช่องท้องก็เป็นวิธีการประเมินอีกอย่างหนึ่ง เลือดที่ดูดออกมายังเป็นสีแดงฉานแสดงว่าปัจจุบันยังไม่หยุดไหล ต้องทำให้เลือดหยุดตอนนี้ก่อน เลือดที่ดูดออกมาเป็น coffee grounds แสดงว่าเลือดอาจหยุดแล้ว สามารถรอการตรวจหาสาเหตุต่อไปได้

สาเหตุของการอาเจียนเป็นเลือด

สี่ภาวะที่ทำให้มีการอาเจียนเป็นเลือดที่พบบ่อยที่สุดคือ

  • เลือดออกจากแผลในกระเพาะ
  • กระเพาะอักเสบจากภาวะเครียด ยา (โดยเฉพาะยาแก้ปวด) หรือสารระคายอื่น ๆ
  • การฉีกขาดของเยื่อบุบริเวณรอยต่อของกระเพาะและหลอดอาหาร (Mallory-Weiss Syndrome)
  • การฉีกขาดของหลอดเลือดดำขอดที่หลอดอาหาร (Esophageal varices)

สองภาวะหลังพบในผู้ป่วยที่ดื่มสุรามากและผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง

นอกจากนั้นการอาเจียนเป็นเลือดยังพบในโรคหลอดอาหารอักเสบ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะ ภาวะที่มีกลุ่มหลอดเลือดแดงรวมตัวกันผิดปกติในผนังของทางเดินอาหาร และภาวะที่มีเลือดออกง่ายในโรคตับ โรคไต โรคเลือดต่าง ๆ

แนวทางตรวจรักษา

ประวัติก่อนที่จะอาเจียนเป็นเลือดค่อนข้างสำคัญ เช่น ภาวะ Mallory-Weiss Syndrome มักเกิดเมื่อผู้ป่วยดื่มสุรามากจนอาเจียนอย่างรุนแรงหลายครั้ง ครั้งหลัง ๆ จะมีเลือดปนออกมา ซึ่งส่วนใหญ่ออกไม่มาก, ประวัติที่มีอาการแสบท้องเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายวันก่อนอาเจียนเป็นเลือดทำให้นึกถึงแผลในกระเพาะ หรือกระเพาะอักเสบจากการระคาย การอาเจียนเป็นเลือดในผู้ป่วยตับแข็งเป็นสัญญาณอันตรายของโรค ผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติต่าง ๆ ดังกล่าวต้องตรวจเลือดดูภาวะการแข็งตัวของเลือดด้วย

ผู้ป่วยที่อาเจียนเป็นเลือดมักถูกรับไว้รักษาและติดตามอาการในโรงพยาบาล ในระยะแรกผู้ป่วยจะได้รับน้ำเกลือและการใส่สายล้างท้องก่อน เพื่อดูว่ายังมีเลือดออกอยู่หรือไม่ จากนั้นเมื่อสัญญาณชีพคงที่และผลเลือดกลับมา อาจได้รับการเติมเลือดถ้าซีดมาก และจะได้รับการส่องกระเพาะเพื่อหาสาเหตุที่เลือดออกต่อไป

ผู้ป่วยตับแข็งที่สงสัยว่าจะมี Esophageal varices จะได้รับการส่องกล้องฉุกเฉินและฉีดสารให้หลอดเลือดดำที่โป่งพองแข็งตัว (Sclerotherapy) ในที่ที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องใส่สายที่มีบอลลูนกดหลอดเลือดไว้ และรอส่งต่อเมื่อสัญญาณชีพคงที่

ปัจจุบันยารักษาแผลในกระเพาะและกระเพาะอักเสบมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก รวมทั้งวิธีการรักษา Esophageal varices ด้วยการส่องกล้องฉีดยาทำให้ความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดฉุกเฉินในกรณีที่มีเลือดออกในทางเดินอาหารลดน้อยลง แต่การผ่าตัดก็ยังจำเป็นอยู่ในกรณีที่เลือดออกไม่หยุด เลือดออกซ้ำหลังหยุดไปไม่นาน หรือรอยโรคที่จำเป็นต้องตัดออกเพื่อป้องกันเลือดออกซ้ำอีก