ไอเป็นเลือด (Hemoptysis)

ไอเป็นเลือดเป็นอาการสำคัญทางคลินิก โดยทั่วไปต้องแยกให้ได้จากการอาเจียนเป็นเลือดและการบ้วนน้ำลายเป็นเลือดเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนไม่ยาก แต่ในภาวะตกใจที่เห็นเลือด ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดอาจไม่สามารถจำแนก 3 ภาวะนี้ออกจากกันได้ ซึ่งมีผลต่อการสืบค้นของแพทย์เป็นอย่างมากกรณีที่เลือดหยุดแล้วและตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ

ในการไอเป็นเลือดนั้น เลือดที่ออกจากปากจะมาจากการไอ ส่วนใหญ่จะออกไม่มาก แค่ติดเสมหะหรือเป็นละอองฝอย ดูเป็นฟอง และ/หรือ มีการกระจายตัว ออกเป็นครั้งตามจังหวะการไอซึ่งมักจะกลั้นไม่ได้ และผู้ป่วยมักมีอาการหายใจลำบากด้วย

ในการอาเจียนเป็นเลือดนั้น เลือดที่ออกจากปากจะมาจากการมีเลือดล้นกระเพาะจนเกิดอาการคลื่นไส้และอยากอาเจียนออกมา มีการหดตัวของกระเพาะหรือกล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อผลักดันมันออกมา ส่วนใหญ่จะออกมาในปริมาณที่น่าตกใจกว่า และอาจมีเศษอาหารหรือเลือดที่แข็งตัวแล้วปนออกมาด้วย ผู้ป่วยมักไม่มีอาการหายใจลำบากแต่อย่างใด

ส่วนการบ้วนน้ำลายเป็นเลือดอาจเป็นการขากเสมหะเพื่อทำความสะอาดคอธรรมดา เลือดที่ออกมาอาจมาจากเหงือก, ฟัน, โพรงจมูก, ไซนัส, คอหอย, กล่องเสียง, หรือหลอดลมส่วนต้นก็ได้ ที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่มีอาการหายใจลำบากหรือคลื่นไส้แต่อย่างใด

การไอที่มีเลือดออก > 200 ซีซี ต่อการไอหนึ่งครั้ง หรือเลือดออก > 600 ซีซี ต่อวัน มีอัตราตายสูงมาก ต้องรีบให้การวินิจฉัยและรักษาทันที

สาเหตุของการไอเป็นเลือด

การไอเป็นเลือดอาจมีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพที่ปอด หัวใจ หรือระบบเลือด ดังนี้ (สีแดงคือสาเหตุที่พบบ่อย)

1. จากพยาธิสภาพที่ปอด

  • การบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุที่ทรวงอก, การมีวัตถุตกลงไปในหลอดลม
  • การติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ, วัณโรค, ฝีที่ปอด, bronchiectasis, ปอดติดเชื้อราหรือพยาธิ
  • เนื้องอก เช่น เนื้องอกไม่ร้ายที่ปอด, มะเร็งปอด, มะเร็งจากที่อื่นลามมาที่ปอด
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดที่มาเลี้ยงปอดอุดตัน (pulmonary embolism), โรคที่มีภาวะหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis), หลอดเลือดดำและแดงต่อกันผิดปกติ (AV fistula, AV malformation)
  • อื่น ๆ เช่น Diffuse interstitial fibrosis, Sarcoidosis, Hemosiderosis, Cystic fibrosis, Goodpasture's syndrome, Catamenial hemoptysis เป็นต้น

2. จากพยาธิสภาพที่หัวใจ

  • โรคหัวใจที่ส่งผลให้ความดันของหลอดเลือดจากปอดเข้าหัวใจสูง (pulmonary venous hypertension) เช่น ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ, Eisenmenger's syndrome, aortic aneurysm, ภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเลือดเข้าหัวใจไม่ได้จะท้นกลับไปที่ปอด เกิดภาวะที่แพทย์เรียกกันว่า "ปอดบวมน้ำ" (pulmonary edema) ผู้ป่วยจะไอเป็นฟองเลือด

3. จากพยาธิสภาพที่ระบบการแข็งตัวของเลือด

  • ผู้ที่ต้องทานยาต้านแข็งตัวของเลือดเป็นประจำ
  • โรคเลือดที่ทำให้มีเลือดออกง่าย เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น

แนวทางการวินิจฉัย

ผู้ที่มีอาการไอเป็นเลือดทุกคนควรได้รับการเอกซเรย์ทรวงอกและเจาะเลือดดูระดับเกล็ดเลือดและเวลาในการแข็งตัวของเลือด หากเอกซเรย์ทรวงอกปกติ สาเหตุจะอยู่ที่หลอดลม, หลอดเลือด และระบบการแข็งตัวของเลือด ที่พบบ่อยที่สุดคือหลอดลมอักเสบ (ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง) เมื่อไอมากหรือไอแรง ๆ ก็อาจเกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดฝอยที่หลอดลม ถ้าไม่มีอาการไอมาก่อนเลยและผลเลือดยังปกติทั้งหมดจะต้องสืบค้นต่อที่ความผิดปกติของหลอดเลือด

โรค Catamenial hemoptysis เป็นโรคที่พบน้อยมาก แต่ควรนึกถึงในผู้หญิงที่มีอาการไอเป็นเลือดเป็นประจำทุกเดือน โรคนี้เกิดจากการมีเซลล์เยื่อบุของมดลูกไปอยู่ที่หลอดลมด้วย เซลล์จึงมีการหนาตัวและหลุดลอกตามฮอร์โมนของรอบเดือน

กรณีที่เอกซเรย์ทรวงอกผิดปกติที่ปอดก็อาจต้องมีการตรวจเสมหะ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และส่องกล้องเพิ่ม กรณีผิดปกติที่หัวใจก็จะตรวจหาสาเหตุที่หัวใจ (หากยังไม่เคยทราบมาก่อนเลย)