ความดันโลหิตสูง (Hypertension, High blood pressure)

ความดันโลหิตสูงเป็นคำที่ใช้เรียกทั้ง "อาการแสดง" และ "โรค"

โรคความดันโลหิตสูง (Essential hypertension หรือ Primary hypertension) หมายถึง โรคที่มีความดันในหลอดเลือดแดงเฉลี่ยขณะพัก จากการวัดทางอ้อม (ที่แขนหรือขา) มากกว่า 1 ครั้ง สูงกว่าค่าปกติของคนวัยเดียวกันตลอดเวลา จากการนัดตรวจซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป โดยที่หาสาเหตุของความดันโลหิตที่สูงขึ้นตลอดเวลานั้นไม่ได้

ส่วนการตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงชั่วคราว หรือมีโรคที่ทำให้ความดันโลหิตในร่างกายสูงขึ้นตลอดเวลา จะถือเป็นเพียงอาการแสดงของภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว หรือเป็นอาการแสดงแทรกซ้อนของโรคดั้งเดิมที่เป็นสาเหตุเท่านั้น

ความดันโลหิตประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท (mmHg)

  • ตัวบน (systolic) คือความดันภายในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจฉีดเลือดออกไป ผนังหลอดเลือดจะโป่งออกอย่างที่เรารู้สึกเวลาจับชีพจร
  • ตัวล่าง (diastolic) คือความดันพื้นฐานภายในหลอดเลือดแดงเวลาที่หัวใจคลายตัว

การวัดความดันทางตรงคือการสอดสายเข้าไปวัดภายในหลอดเลือดแดงโดยตรง ซึ่งจะทำในหอผู้ป่วยหนักกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติและจำเป็นต้องเฝ้าดูความดันโลหิตตลอดเวลาเท่านั้น ส่วนการวัดทางอ้อมก็คือการวัดโดยใช้ผ้าเก็บลมพันที่ต้นแขนแล้วจับเสียงเต้นของหลอดเลือดแดงที่อยู่ต่ำลงมาอย่างที่เราเห็นกันทั่วไป ค่าความดันตัวบนจากการวัดทางอ้อมอาจต่ำกว่าค่าที่วัดได้ทางตรง 5-25 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นกับความไวของหูคนฟังหรือตัวจับสัญญาณเสียงเต้นแรกของชีพจร

ค่าความดันโลหิตปกติของคนในแต่ละวัยเมื่อวัดที่แขนจะเป็นดังนี้

ความดันโลหิต (มิลลิเมตรปรอท)
ตัวบน (systolic)ตัวล่าง (diastolic)
วัยทารกไม่ควรเกิน 90ไม่ควรเกิน 60
วัย 3 – 6 ปีไม่ควรเกิน 110ไม่ควรเกิน 70
วัย 7 – 10 ปีไม่ควรเกิน 120ไม่ควรเกิน 80
วัย 11 – 17 ปีไม่ควรเกิน 130ไม่ควรเกิน 80
วัย 18 ปีขึ้นไปไม่ควรเกิน 140ไม่ควรเกิน 90

ประเภทของความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ความดันโลหิตสูงเฉพาะตัวบน (Isolated systolic hypertension) คือความดันโลหิตที่ตัวล่างไม่เคยเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท แต่ตัวบนสูงเกิน 130 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งพบได้ในภาวะดังต่อไปนี้
    • ภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ขาดความยืดหยุ่น (atherosclerosis) มักพบในคนสูงอายุ และเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ หากตรวจไม่พบสาเหตุอื่น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรักษาเหมือนเช่นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป
    • ภาวะที่มีการเพิ่มขึ้นของปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที (cardiac output) เช่น ภาวะไข้สูง โลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
    • ภาวะที่มีการเพิ่มปริมาตรเลือดที่หัวใจบีบออกไปต่อครั้ง (stroke volume) เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เป็นต้น
    • โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาคอด (Coarctation of aorta) อาจทำให้ความดันโลหิตที่แขนสองข้างไม่เท่ากัน
  2. ความดันโลหิตตัวล่างสูง (Diastolic hypertension) ซึ่งหมายถึงความดันพื้นฐานของทั้งระบบไหลเวียนสูง และเกือบทั้งหมดจะมีความดันตัวบนสูงด้วย สาเหตุอาจเป็นได้จาก
    • โรคไต ได้แก่
      • รอยโรคภายในหลอดเลือดแดงที่ไต เช่น Atherosclerotic plaque, Fibromuscular hyperplasia, Aneurysm, Thrombosis, Embolism, Arteriovenous fistula, Takayasu's arteritis เป็นต้น
      • หลอดเลือดแดงที่ไตถูกกดทับจากภายนอก เช่น เนื้องอกที่ไต, มีพังผืดรัดหลอดเลือด เป็นต้น
      • พยาธิสภาพที่เนื้อไต เช่น ไตพิการแต่กำเนิด, นิ่ว, กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis), หน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis), มะเร็งไต, ไตวาย, โรคเกาท์, โรคเบาหวาน, Amyloidosis, Polycystic disease, Connective tissue diseases, ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
    • โรคของระบบต่อมไร้ท่อ พบได้ค่อนข้างน้อย ได้แก่
      • โรคของต่อมหมวกไต เช่น Primary aldosteronism, Pheochromocytoma, Cushing's syndrome
      • โรคของต่อมใต้สมอง เช่น Acromegaly, Cushing's disease
      • โรคของต่อมไทรอยด์ เช่น Hypothyroidism
      • โรคของต่อมพาราไทรอยด์ เช่น Hyperparathyroidism
    • ยา เช่น ยาคุมกำเนิด, ยาบ้า, ยาม้า, โคเคน, ยารักษาไมเกรนบางชนิด, ยาลดอาการคัดจมูกที่มีตัวยา pseudoephedrine, ยาแก้หอบหืด, ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs, ยาต้านซึมเศร้าและยารักษาโรคจิตบางชนิด, ยาสมุนไพรหรือยาจีนที่มีพืชพวกอีเฟดรา (ephedra คนจีนเรียก "มาฮวง") โสม (ginseng) หรือสเตียรอยด์ (steroid) ผสมอยู่ด้วย, รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มชูกำลังทุกชนิด
    • สาเหตุอื่น ๆ เช่น
      • มีความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น จากเนื้องอกสมอง ฝีในสมอง เลือดออกในสมอง เป็นต้น
      • มีภาวะเลือดข้น (Polycythemia) มักพบในคนสูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของไขกระดูก
      • โรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีการหยุดหายใจในขณะหลับ (Sleep apnea)
      • ภาวะติดสุรา
      • ภาวะเครียดรุนแรง ทั้งทางอารมณ์และการป่วยหนัก

ระดับความรุนแรงของความดันโลหิตสูง

ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ (ดูรูปใต้ตารางประกอบ)

ความดันโลหิต (มิลลิเมตรปรอท)
ตัวบน (SBP)ตัวล่าง (DBP)
เริ่มสูง120-130< 80
สูงระยะที่ 1130-14080-90
สูงระยะที่ 2140-18090-120
สูงขั้นวิกฤติตั้งแต่ 180 ขึ้นไปตั้งแต่ 120 ขึ้นไป

ปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงเร็วขึ้น คือ ความดันที่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท ก็จัดเป็นความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 แล้ว ผู้ที่ความดันขึ้น ๆ ลง ๆ ในช่วง 125-135/80-85 อาจใช้ค่าความดันเฉลี่ย (mean arterial pressure, MAP) เป็นตัวช่วยวินิจฉัย

MAP = ความดันค่าล่าง + ⅓ (ความดันค่าบน - ความดันค่าล่าง) ถ้า > 100 มิลลิเมตรปรอท เป็นประจำถือว่ามีความดันโลหิตสูง

สำหรับระดับความดันที่เริ่มสูงและตรวจไม่พบสาเหตุอาจใช้วิธีปรับวิถีชีวิตดังกล่าวข้างต้นก่อนสัก 1-2 เดือน หากไม่ได้ผลถึงค่อยเข้าสู่การติดตามและเฝ้าระวังความดันโลหิต (โดยใช้ความดันเฉลี่ยเป็นตัวช่วยวินิจฉัย)

ระดับความดันที่สูงระยะที่ 1 ขึ้นไปจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยา หรือสภาวะแวดล้อม และควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุต่าง ๆ ข้างต้น หากตรวจไม่พบสาเหตุจึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งไม่สามารถแก้ที่สาเหตุได้ จำเป็นต้องรับประทานยาคุมความดันไปตลอด เพราะความดันโลหิตที่สูงอยู่ตลอดเวลาจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาอีกมากมาย ขณะเดียวกันภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นผลมาจากสาเหตุอื่นที่แก้ไขไม่ได้ก็รักษาด้วยยาคุมความดันเช่นเดียวกัน

ความดันโลหิตที่ต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ลงไปถือเป็นความดันต่ำ (hypotension) ในหน้านี้จะไม่กล่าวถึง

อาการของความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ดังนั้นหากไม่วัดเป็นประจำก็จะไม่ทราบ ในรายที่ความดันตัวล่างสูงอาจมีอาการหนักท้ายทอยในตอนเช้าหลังตื่นนอน ในรายที่ความดันตัวบนสูงมาก ๆ (สูงกว่า 180 mmHg ขึ้นไป) อาจมีอาการวิงเวียน หนักศีรษะ เหนื่อยง่าย ในรายที่มีสาเหตุมาจากความดันในกะโหลกศีรษะสูงจะปวดศีรษะ ซึม การตอบสนองช้า อาเจียน ในรายที่มีสาเหตุมาจากโรคไตมักมีอาการของโรคไตด้วย (ดูที่ตารางข้างล่าง) และบางรายก็เกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนหลังจากที่มีความดันโลหิตสูงมานาน (โดยที่ไม่เคยทราบว่ามีความดันโลหิตสูงมาก่อน) เช่น เจ็บหน้าอก อัมพฤกษ์-อัมพาต ต้อหิน หัวใจโต หัวใจล้มเหลว เป็นต้น

ปัญหาที่พบบ่อยคือความดันโลหิตที่สูงไม่มากในวัยหนุ่มสาว (19-39 ปี) เช่นประมาณ 140-150/80-90 มิลลิเมตรปรอท ส่วนใหญ่เป็นผลจากภาวะหรือโรคอย่างอื่น เช่น เครียด อดนอน ไมเกรน ฯลฯ มากกว่า ซึ่งภาวะหรือโรคเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ หนักหัว มึนงง ไม่สดชื่น คล้ายความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ต่างกันที่พอได้พักผ่อน ภาวะดังกล่าวดีขึ้น ความดันก็กลับมาเป็นปกติ

แนวทางการตรวจวินิจฉัย

ผู้ที่ตรวจด้วยตัวเองพบว่ามีความดันโลหิตเฉลี่ยขณะพักสูงโดยบังเอิญ ขั้นแรกควรทบทวนด้วยตัวเองก่อนว่ามีการใช้ยาหรือมีภาวะที่ทำให้ความดันขึ้นหรือไม่ หากเปลี่ยนแปลงได้ก็ควรจะทำ การหยุดยาบางชนิดอาจต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์กว่าความดันจะลงมาเป็นปกติ ขึ้นกับว่าใช้ยาตัวนั้นมานานเท่าใด

หากเป็นการตรวจพบโดยแพทย์ ถ้าเป็นเด็ก แพทย์จะตรวจหาสาเหตุทันที ถ้าเป็นผู้ใหญ่และความดันสูงไม่มาก แพทย์อาจให้คำแนะนำและนัดตรวจวัดความดันอีกครั้งในอีก 1-2 สัปดาห์ถัดมา การตรวจหาสาเหตุ แพทย์จะมุ่งไปที่โรคที่พบบ่อยในกลุ่มอายุต่าง ๆ ก่อน ในผู้ใหญ่โอกาสที่จะพบสาเหตุค่อนข้างน้อย

ตารางแสดงโอกาสที่จะตรวจพบสาเหตุของความดันโลหิตสูง และโรคที่พบบ่อยในกลุ่มอายุต่าง ๆ
กลุ่มอายุโอกาสพบสาเหตุสาเหตุที่พบบ่อย
วัยเด็ก (แรกเกิด-12 ปี)70-85%โรคไต หรือโรคที่มีผลต่อไตแทบทุกชนิด
โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาคอด
วัยรุ่น (12-18 ปี)10-15%โรคไต หรือโรคที่มีผลต่อไตแทบทุกชนิด
โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาคอด
วัยหนุ่มสาว (19-39 ปี)5%โรคของต่อมไทรอยด์
โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาคอด
โรค Takayasu's arteritis
วัยกลางคน (40-64 ปี)8-12%Primary aldosteronism
โรคของต่อมไทรอยด์
Obstructive sleep apnea (จากภาวะอ้วน)
Cushing's syndrome
Pheochromocytoma
วัยสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป)17%Atherosclerotic renal artery stenosis
โรคไตวาย
Hypothyroidism

โรคที่เป็นสาเหตุดังกล่าวข้างต้นควรมีอาการแสดงอื่นดังต่อไปนี้ด้วย ถึงจะคุ้มค่าที่จะทำการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัย

ตารางแสดงโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง อาการแสดง และการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัย
โรคอาการ/อาการแสดงการตรวจพิเศษ
หลอดเลือดแดงเอออร์ตาคอด
(Coarctation of aorta)
- ความดันโลหิตตัวบนของแขนกับขาต่างกัน > 20 mmHg
- ชีพจรที่ขาหนีบมาช้าหรือเบามากเมื่อเทียบกับชีพจรที่แขน
- ฟังได้เสียงฟู่ตามทางที่เส้นเลือดเอออร์ตาทอดผ่าน
- MRI (ในผู้ใหญ่)
- Transthoracic echocardiography (ในเด็ก)
หลอดเลือดแดงไตตีบ
(Renal artery stenosis)
- ฟังได้เสียงฟู่ที่บริเวณไต
- Serum creatinine สูงขึ้น ≥ 0.5-1.0 mg/dL หลังให้ยา Angiotensin-converting enzyme inhibitor หรือ Angiotensin receptor blocker
- CT angiography
- Doppler ultrasonography ของหลอดเลือดแดงไต
โรค Takayasu's arteritis
(มักพบร่วมกับ renal artery stenosis)
- ตามัว
- ปวดหรือเวียนศีรษะ ชัก อัมพาต
- ชีพจรเบาหรือคลำไม่ได้
- ฟังได้เสียงฟู่ตามหลอดเลือดแดงในทรวงอกหรือช่องท้อง
- Aortography
- ESR
โรคถุงน้ำที่ไต
(Polycystic kidney disease)
- คลำได้ก้อนในท้องส่วนบน 2 ข้างอัลตราซาวด์ไต
โรคไตอื่น ๆ- ปัสสาวะเป็นเลือด
- หนังตาบวม ปัสสาวะออกน้อย น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ซีด ผิวแห้งและคล้ำ
- ไข้ ปวดเอวด้านหลัง อาเจียน
ตรวจ serum creatinine และปัสสาวะ
โรคของต่อมไทรอยด์
(ทั้งที่เป็นพิษและขาดฮอร์โมน)
- หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ
- ขี้ร้อนหรือขี้หนาว
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มามาก หรือขาดหายไป
ตรวจระดับของ TSH และการทำงานของต่อมไทรอยด์
โรค Primary aldosteronism- กล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา หรือต้นคออ่อนแรง
- ปัสสาวะมาก กระหายน้ำ เป็นตะคริวบ่อย
- ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)
- ตรวจระดับฮอร์โมน Renin และ Aldosterone เพื่อคำนวณ aldosterone/renin ratio
ภาวะ Obstructive sleep apnea- อ้วน
- นอนกรน
- เหงาหลับในตอนกลางวัน
- ถ้าเฝ้าดูตอนหลับจะพบช่วงเวลาที่หยุดหายใจ
- Polysomnography (sleep study)
- Sleep Apnea Clinical Score with nighttime pulse oximetry
Pheochromocytoma- หน้าแดง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก
- ปวดศีรษะ ตามัว
- ความดันโลหิตสูงเป็นพัก ๆ
- ความดันลดจนหน้ามืดขณะยืนขึ้น (Orthostatic hypotension)
- เป็นลมบ่อย
- 24-hour urinary fractionated metanephrines
- Plasma free metanephrines
Cushing's syndromeผู้ป่วยจะมีรูปร่างหน้าตาแบบเฉพาะ คือ หน้ากลม (Moon facies), ไหล่หนา (Buffalo hump), อ้วนบริเวณลำตัวแต่แขนขาลีบ (Central obesity), หน้าท้องลาย (Striae)- 24-hour urinary cortisol
- Late-night salivary cortisol
- Low-dose dexamethasone suppression test

ผู้ที่ได้เคยรับการตรวจพิเศษเหล่านี้มาแล้วและไม่พบความผิดปกติก็ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนด้วย

ไม่ว่าจะพบหรือไม่พบสาเหตุ หากมีความดันโลหิตสูงขณะพักอยู่ตลอดเวลาแน่ชัดแล้ว แพทย์จะประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีจากภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังด้วย โดยส่งให้จักษุแพทย์ตรวจเส้นเลือดที่จอตา ตรวจเลือดและปัสสาวะดูการทำงานของไต เอกซเรย์ทรวงอกดูขนาดของหัวใจ หากผลตรวจขั้นต้นสงสัยว่าอาจมีพยาธิสภาพก็จะส่งตรวจพิเศษเพิ่มต่อไป

แนวทางการรักษา

การรักษาขึ้นกับสาเหตุ หากตรวจไม่พบสาเหตุหรือเป็นสาเหตุที่แก้ไม่ได้ถึงค่อยเริ่มยาควบคุมความดัน เว้นแต่ว่าความดันโลหิตนั้นสูงมากจนเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดสมองแตก จึงจะให้ยาลดความดันควบคู่ไปด้วยในระหว่างที่รักษาสาเหตุ

ในแง่ของผู้ป่วย วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีความดันโลหิตสูงไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตามคือ

  1. งดอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ไข่เค็ม กะปิ เต้าเจี้ยว หมูเค็ม ปรุงอาหารด้วยเกลือหรือน้ำปลาให้น้อยที่สุด เพราะอาหารรสเค็มมีเกลือโซเดียม ซึ่งเมื่อดูดซึมเข้าสู่ระบบเลือดจะดูดน้ำเข้ามาในหลอดเลือดมาก ทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้นและหัวใจต้องทำงานหนัก
  2. ลดอาหารมันทุกชนิด เช่น ของทอด แกงที่มีกะทิหรือน้ำมันเป็นส่วนประกอบมาก เพราะอาหารเหล่านี้จะเสริมภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดของภาวะความดันโลหิตสูงให้เกิดง่ายขึ้น
  3. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ควรมีดัชนีมวลกายเกิน 25 (คำนวณจาก น้ำหนักเป็นกิโลกรัม / ส่วนสูงเป็นเมตร2) โดยรับประทานผักและผลไม้ให้มากแทนอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
  4. งดบุหรี่ เหล้า เบียร์
  5. ควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิด โมโห ทุกสิ่งถ้ามองบางมุมก็ขำได้ และอาจเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในสถานการณ์นั้น
  6. ออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ โดยเริ่มทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น การออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียดและทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรออกกำลังกายประเภทที่ต้องออกแรงดึง ดัน กลั้นหายใจ หรือเบ่ง เช่น ชักเย่อ ยกน้ำหนัก เป็นต้น
  7. สตรีที่มีความดันโลหิตสูงจากยาคุมกำเนิดควรหยุดยา และปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมต่อไป
  8. รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำและมาตรวจให้ตรงตามนัด ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตไว้สำหรับตรวจสอบความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน แล้วจดบันทึกไว้เป็นระยะ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามการรักษาเป็นอย่างมาก

บรรณานุกรม

  1. Richard E. Klabunde. 2016. "Mean Arterial Pressure." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiovascular Physiology Concepts. (5 มิถุนายน 2563).
  2. Willie Lawrence. 2017. "New guidelines broaden definition of hypertension." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Healio.com. (5 มิถุนายน 2563).
  3. Lesley Charles, et al. 2017. "Secondary Hypertension: Discovering the Underlying Cause." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2017 Oct 1;96(7):453-461. (5 มิถุนายน 2563).