รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ (Irregular menstrual bleeding)

อาการนี้กินความค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไปหมายถึงสตรีที่มีรอบเดือนอยู่เรื่อย ๆ แต่ระยะเวลาในแต่ละรอบต่างกันมากกว่า 20 วัน เช่น อาจมามากกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือนแล้วหายไปหลายเดือน หรือสองสามเดือนมาสักครั้ง แม้ส่วนใหญ่จะไม่มีพยาธิสภาพ แต่หากปริมาณและจำนวนวันผิดปกติด้วยก็ควรเข้ารับการตรวจหาสาเหตุ

ระดูที่ออกกะปริดกะปรอยช่วงกลางรอบเดือนมักเป็นเลือดที่ออกมาจากการตกไข่ เพราะช่วงนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดระดับลงเล็กน้อย จึงอาจทำให้ผิวของเยื่อบุมดลูกลอกตัวบางส่วน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันระดับของเอสโตรเจนก็จะกลับสูงขึ้นมาใหม่ ระดูจากการตกไข่จึงออกเพียง 1-2 วัน

รอบเดือนไม่สม่ำเสมอที่มาห่างขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติในปริมาณเลือดที่ออกมักมีสาเหตุมาจากการไม่ตกไข่ (anovulation) ภาวะนี้มักพบในสตรีที่ยังอายุน้อย แต่ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ทั้งหลายก็เกิดภาวะไม่ตกไข่ได้ในบางช่วงของชีวิตเช่นกัน หากเป็นอยู่นานหลายปีจะเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยาก การที่ไข่ไม่ตกนี้อาจเกิดจาก

  1. ความเครียด ภาวะเครียดจะกดการหลั่ง GnRH ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากไฮโปธาลามัสที่กระตุ้นการตกไข่
  2. ร่างกายอ้วนหรือผอมเกินไป ระดับของฮอร์โมน Gn จากต่อมใต้สมองจะลดลง
  3. ออกกำลังกายหนักเกินไป ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง
  4. นอนหลับไม่พอ, เปลี่ยนกะการทำงาน
  5. สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เบียร์ หรือกาแฟมาก
  6. มีโรคอื่น เช่น เบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคของต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่หลั่งฮอร์โมน Prolactin และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
  7. ใช้ยาบางชนิด เช่น Phenothiazines, Tricyclic antidepressants, Metoclopramide, Antipsychotics, Morphine, Dextroamphetamine, Alpha-methyldopa, Verapamil, Cimetidine และยาประเภทฮอร์โมน เป็นต้น

แต่กระนั้น ความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งครรภ์แล้วแท้งแต่เนิ่น ๆ เนื้องอกที่มดลูก กลุ่มอาการถุงน้ำที่รังไข่ (Polycystic ovarian syndrome) รังไข่เสื่อมสภาพก่อนวัย (Primary ovarian insufficiency) เหล่านี้ก็เป็นโรคที่ควรจะได้รับการรักษาหากมีอยู่จริง

นอกจากนั้นวัยเริ่มมีประจำเดือน วัยทอง ช่วงหลังคลอดที่ยังให้นมบุตร และ 6 เดือนแรกของการหยุดยาคุมกำเนิด ก็เป็นอีก 4 ช่วงชีวิตของผู้หญิงที่อาจมีความไม่สม่ำเสมอของรอบเดือนจากการไม่ตกไข่ได้

แนวทางการวินิจฉัย

สิ่งแรกที่แพทย์จะพิจารณาคือ ความไม่สม่ำเสมอนั้นยังอยู่ในช่วงความแปรปรวนปกติได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนต้องอาศัยการบันทึกวันและระยะเวลาที่มีประจำเดือนอย่างน้อย 3 รอบ (นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ผู้หญิงควรมีการทำปฏิทินรอบเดือนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ) จากนั้นแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตส่วนตัว อาชีพ การบริโภคอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ การมีกิจกรรมทางเพศ โรคประจำตัวและการใช้ยาต่าง ๆ รวมทั้งประวัติโรคที่เป็นในเครือญาติโดยเฉพาะโรคเลือด

ผู้ที่มีอาการของโรคไทรอยด์ เช่น เฉี่อยชา/หงุดหงิด ขี้หนาว/ขี้ร้อน ใจสั่น/มือสั่น ตาโปน ท้องผูก, โรคของต่อมใต้สมอง เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง เห็นภาพซ้อนหรือเห็นไม่ครบ มีน้ำนมไหลผิดปกติ, อาการของกลุ่มอาการถุงน้ำที่รังไข่ เช่น ขนดก ผมร่วง สิวขึ้นมาก, ปัจจัยที่อาจทำให้รังไข่เสื่อมสภาพก่อนวัย เช่น ได้รับการฉายรังสีในอุ้งเชิงกราน ได้รับยาเคมีบำบัดมาก่อน โรคติดเชื้อในช่องท้อง อุ้งเชิงกรานอักเสบ เคยผ่าตัดรังไข่หรือท่อรังไข่ เหล่านี้ก็ควรที่จะแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

ในการตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจวัดชีพจร น้ำหนักตัว แล้วดูว่ามีจ้ำเลือด ภาวะซีด ก้อนในท้องหรือไม่ นอกจากนั้นจะประเมินสภาพผิวหนังและกายภาพทั่วไปของสตรีก่อนที่จะทำการตรวจภายใน สำหรับวัยรุ่นที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์อาจข้ามการตรวจภายในไปทำการตรวจอัลตราซาวด์ของอุ้งเชิงกรานแทน

การตรวจภายในมีความสำคัญ เพราะนอกจากจะบอกความผิดปกติเชิงโครงสร้างของอวัยวะภายใน เช่น เนื้องอก ถุงน้ำ การอักเสบ การตั้งครรภ์ ฯลฯ ได้ดีพอ ๆ กับการตรวจอัลตราซาวด์แล้ว ยังสามารถเก็บชิ้นเนื้อของเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติในระดับเซลล์ได้ด้วย หญิงที่อายุ > 35 ปี ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกของเยื่อบุโพรงมดลูก การวินิจฉัยได้ตั้งแต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น

นอกจากนั้นแพทย์จะส่งตรวจเลือดหาระดับของฮอร์โมน FSH, LH, TSH, Prolactin, และ Testosterone (เฉพาะในรายที่สงสัย Polycystic ovarian syndrome) ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อดูภาวะเบาหวาน ตรวจการทำงานของตับและไต ตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ในหญิงที่มีกิจกรรมทางเพศปกติ และอาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มหากประวัติและการตรวจร่างกายสงสัยโรคอื่น ๆ

หากการตรวจทุกอย่างปกติ (รวมทั้งไม่ได้ตั้งครรภ์) แพทย์อาจให้ลองทานฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อกระตุ้นความหนาของเยื่อบุมดลูกสัก 2 สัปดาห์ แล้วให้หยุดดู หากหยุดแล้วประจำเดือนมาตามปกติก็แสดงว่ามดลูกยังทำงานได้ตามปกติ