กลุ่มอาการวัยทอง (Menopausal syndrome)

"วัยทอง" เป็นคำที่คนไทยตั้งขึ้นเองเพื่อเรียกช่วงเวลาของหญิงที่กำลังจะพ้นวัยเจริญพันธุ์ (ก่อนที่จะเข้าสู่วัยชรา) ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศจนอาจเกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจต่าง ๆ เหมือนตอนที่เป็นวัยรุ่น แต่ตรงกันข้ามกัน

ตามคำจำกัดความของกระทรวงสาธารณสุขไทย "วัยทอง" หมายถึงสตรีที่มีอายุระหว่าง 45-59 ปี ซึ่งกินคลุมตั้งแต่ช่วงปลายของวัยก่อนหมดระดู (Premenopause) วัยใกล้หมดระดู (Perimenopause) และช่วงต้นของวัยหลังหมดระดู (Postmenopause)

ในระยะ premenopause รังไข่จะมีการผลิต inhibin ลดลง ทำให้ต่อมใต้สมองขาดกลไกยับยั้งการสร้างฮอร์โมน FSH ส่งผลให้รังไข่ผลิต estrogen มากขึ้น และมีการตกไข่เร็วขึ้น จึงมีระดูถี่ขึ้นและมักมีเลือดออกกระปริกระปรอยก่อนระดูจริงจะมา

ในระยะ perimenopause รังไข่จะเสื่อมลงมาก ไข่เหลือน้อยและดื้อต่อ FSH ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ จึงไม่มีการสร้าง progesterone หลังตกไข่ มีแต่การสร้าง estrogen จึงอาจเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญมากไป (endometrial hyperplasia) ซึ่งทำให้มีเลือดออกมากผิดปกติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ในระยะท้ายช่วง 1 ปีก่อนหมดประจำเดือน รังไข่จะสร้าง estrogen น้อยมากจนไม่สามารถกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกได้

ส่วนวัยหลังหมดระดูจะเริ่มนับตั้งแต่ที่ขาดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งแสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานอย่างถาวรแล้ว โดยเฉลี่ยจะอายุประมาณ 51-52 ปี

ปัญหาสุขภาพของสตรีวัยทอง

นอกจากปัญหาระดูผิดปกติแล้ว หญิงวัยนี้จะประสบอีก 5 ปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน

  1. ปัญหาศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายทำงานผิดปกติ
  2. เป็นอาการทาง vasomotor หลอดเลือดตามผิวหนังจะขยายตัวเป็นพัก ๆ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกมาก อาจเป็นช่วงสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที แต่ก็ทำให้รำคาญ ยิ่งบางทีเหงื่อจะออกตอนกลางคืน หรือถ้าหลอดเลือดขยายตัวมาก ๆ ก็อาจมีอาการใจสั่น ปวดศีรษะ

  3. ปัญหาอวัยวะสืบพันธุ์ฝ่อ
  4. เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ช่องคลอดจะบาง แห้ง ไม่มีความยืดหยุ่น อักเสบง่าย เกิดอาการเจ็บเวลามีเพศ สัมพันธ์ ความต้องการทางเพศลดลง นอกจากนั้นอาจมีปัญหากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ บางครั้งอาจมีมดลูกหย่อนหรือปูดออกมาเวลาเบ่งอุจจาระ ไอ หรือจาม

  5. ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์
  6. มักเป็นอาการที่ไม่สามารถอธิบายได้จากภาวะพร่อง estrogen ส่วนใหญ่เป็นอาการขี้หงุดหงิด ซึมเศร้า นอนหลับยาก ปวดเมื่อย ไม่มีแรง หลง ๆ ลืม ๆ ฯลฯ

  7. ปัญหาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ในวัยหมดระดู
  8. สตรีจะมีมวลกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 30-40 ปี แล้วจะเริ่มเสียมวลกระดูกลงอย่างช้า ๆ และจะเสียอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรกหลังหมด ประจำเดือน ทำให้กระดูกหักง่ายเวลาเกิดอุบัติเหตุ

  9. ปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด
  10. สตรีวัยหมดระดูจะมีอุบัติการณ์ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคเส้นเลือดสมองตีบตันสูงขึ้นกว่าช่วงที่ยังมีรอบเดือนถึง 7 เท่า ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่มีระดับของโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL (low density lipoprotein, ไขมันตัวร้าย) เพิ่มขึ้น ขณะที่ HDL (high density lipoprotein, ไขมันตัวที่เป็นประโยชน์) ลดลง

แนวทางการวินิจฉัย

มิใช่ว่าผู้หญิงที่มีอาการดังกล่าวในช่วงอายุ 45-59 ปีจะเป็นกลุ่มอาการวัยทองไปเสียหมด อาการรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ระดูออกมากหรือออกกะปริดกะปรอยในช่วงนี้ก็ยังต้องตรวจหาสาเหตุอื่นด้วย อาการทาง vasomotor, ทางอารมณ์และจิตใจต่าง ๆ ยิ่งจำเป็นต้องมองหาปัจจัยรอบด้าน ทั้งโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ เหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ ปัญหาครอบครัว รวมทั้งความผิดปกติทางร่างกายอย่างอื่นที่เริ่มเกิดพร้อม ๆ กับกลุ่มอาการทาง vasomotor แพทย์อาจไม่สามารถถามปัจจัยเหล่านี้ได้ทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่จะชี้แจงรายละเอียดที่ต้องสงสัยของตัวเองหากจะขอคำวินิจฉัยจากแพทย์

การวินิจฉัยแยกโรคสำหรับกลุ่มอาการทาง vasomotor

แนวทางการรักษา

หากอาการที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มอาการวัยทองจริง แต่ไม่ถึงขั้นรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันแต่อย่างใด ในกรณีนี้แพทย์จะยังไม่ทำการรักษา เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ประมาณ 2-5 ปีเท่านั้น มีเพียงปัญหาโรคกระดูกพรุนและความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้นที่ยังคงอยู่เมื่อเข้าวัยชราภาพ ส่วนอาการอวัยวะสืบพันธุ์ฝ่อก็มักไม่รุนแรง อีกทั้งยังเกิดอย่างช้า ๆ เพื่อให้เวลาเราปรับตัว เรียกว่าหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเมื่อย่างเข้าวัยนี้แล้วจะสามารถผ่านไปได้แทบทุกคน

ในกรณีที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน แพทย์ก็จะดูว่าอาการแบบนี้จะได้รับประโยชน์จากการให้ฮอร์โมนชดเชยหรือไม่ และมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนหรือไม่ หากไม่มีประโยชน์หรือมีข้อห้ามใช้ แพทย์ก็อาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่น

ข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมนได้แก่

  • รักษาอาการของวัยทองที่เกิดขึ้นจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
  • ป้องกันภาวะ/โรคกระดูกพรุน (ซึ่งควรวัดมวลกระดูกก่อนตัดสินใจ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเมื่อใช้ไปนาน ๆ)
  • รักษาอาการหรือความผิดปกติของช่องคลอดหรือระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน

ข้อห้ามใช้ฮอร์โมนได้แก่ผู้ที่มีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

  • ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่
  • มีมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (ซึ่งในระยะแรกต้องตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์)
  • มีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)
  • เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลัน

สตรีวัยหมดระดูก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทุกราย การใช้ฮอร์โมนเพศนี้ถือเป็นการขัดกับหลักความเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งควรต้องตัดสินใจด้วยความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของฮอร์โมน และไม่ควรซื้อฮอร์โมนมาใช้เองโดยไม่ได้ให้แพทย์ตรวจสอบระดับฮอร์โมนเพศในเลือด ข้อบ่งชี้ ข้อห้ามใช้ และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันได้ง่ายก่อน

สำหรับผู้ที่มีอาการมากแต่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มอื่น เช่น ยาต้านซึมเศร้า, Clonidine (มีทั้งแบบรับประทานและแบบแปะผิวหนัง), Gabapentin เป็นต้น

ในรายที่มีอาการมดลูกหย่อนหรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้จากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยาน แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด

หลักการดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยทอง

โดยทั่วไปแล้วสตรีวัยทองที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยสามารถที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งได้แก่ 5 อ.

  1. อาหาร
    • เลือกอาหารที่มีแคลเซียมสูง ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำต่อวันคือ 1,000 - 1,500 มิลลิกรัม (เฉพาะในนม 1 แก้วก็มี 200 มิลลิกรัมแล้ว)
    • ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์
    • เพิ่มอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ให้มากขึ้น (ประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารทั้งหมดในแต่ละมื้อ)
  2. อารมณ์ ฝึกมองโลกในแง่ดี (แม้เรื่องที่แย่ที่สุดก็ยังมีด้านดีมากกว่าหนึ่งอย่าง) ยอมรับความเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืนสังขาร ชื่นชมทุกสิ่งที่ได้ผ่านมา และมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ
  3. ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 30 นาที เลือกที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเอง
  4. อนามัยเจริญพันธุ์ ตรวจสุขภาพประจำปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นประจำ ตรวจหาความหนาแน่นของกระดูกเป็นระยะ ๆ
  5. อนามัยสิ่งแวดล้อม พักอาศัยและทำงานในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสุขอนามัยดี

มนุษย์ทุกคนที่เดินทางมาถึงอายุ 50 ปี ย่อมเข้าสู่ครึ่งหลังของชีวิตแล้ว การดำเนินชีวิตต่อไปจากนี้ควรผ่อนปรนและผ่อนคลายจะดีกว่า