ใจสั่น (Palpitations)
ใจสั่นเป็นอาการที่เรารู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น เต้นเร็ว รัว แรง หรือขาดหายไปเป็นบางจังหวะ โดยมิใช่เป็นจากการออกแรงหรือมีความกลัว ตื่นเต้น ประหม่า อย่างที่เป็นตามปกติ
อาการใจสั่นในลักษณะดังกล่าวประมาณครึ่งหนึ่ง (53%) มีสาเหตุมาจากหัวใจและโรคอื่น ๆ และอีกประมาณครึ่งหนึ่ง (47%) มีสาเหตุมาจากสภาพจิตใจและไม่ทราบสาเหตุ โดยกลุ่มแรกมักมีลักษณะดังนี้
- วัดหรือจับชีพจรตัวเองขณะพักได้เร็วกว่า 100 ครั้ง/นาที หรือช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที หรือมีจังหวะไม่สม่ำเสมอ
- มองเห็นเส้นเลือดที่ลำคอโป่งและเต้นตามชีพจร
- มีพยาธิสภาพที่หัวใจอยู่ก่อน
- มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก วิงเวียน เป็นลม มือสั่น เหงื่อออก ร่วมด้วย
- มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด เบาหวาน ไตวาย
- จู่ ๆ ก็ใจเต้นเร็วขึ้นมาปุบปับ และเป็นอยู่นานกว่า 5 นาที เปลี่ยนท่าอย่างไรก็ยังรู้สึกเร็วและแรงอยู่อย่างนั้น จนรู้สึกเหนื่อย
- ดื่มหรือใช้สิ่งที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เช่น กาแฟ สุรา เครื่องดื่มชูกำลัง บุหรี่ สารเสพติด ยาลดความอ้วน ยาขยายหลอดลม ยาแก้หวัดที่มี Pseudoephedrine เป็นส่วนประกอบ สมุนไพรบางชนิด ฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น
- เกิดบ่อย ครั้งละ 2-10 วินาที แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้น
- ใจสั่นจนนอนหลับยาก
- เป็นเด็กหรืออายุมากกว่า 40 ปี
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รู้สึกใจสั่นอยู่เนืองนิตย์ไม่ว่าจะมีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ ควรจะได้รับการตรวจโดยแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งก่อน
สาเหตุของอาการใจสั่น
- โรคหัวใจ
พยาธิสภาพที่หัวใจที่อาจทำให้รู้สึกใจสั่น ได้แก่
- พยาธิสภาพที่ลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจไมตรัลโผล่แลบ (Mitral valve prolapse) เป็นต้น
- พยาธิสภาพที่กล้ามเนื้อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจโต ภาวะหัวใจล้มเหลว ผนังห้องหัวใจรั่ว เนื้องอกที่หัวใจ (Atrial myxoma) เป็นต้น
- พยาธิสภาพที่เซลล์กำเนิดไฟฟ้าและสายใยนำไฟฟ้าของหัวใจ เช่น Atrial fibrillation, Atrioventricular nodal reentrant tachycardia, AV block, Long QT syndrome, Multifocal atrial tachycardia, Supraventricular tachycardia, Sick sinus syndrome, Ventricular tachycardia, WPW syndrome เป็นต้น พยาธิสภาพเหล่านี้บางส่วนเกิดขึ้นเอง บางส่วนเกิดจากยาบางชนิด และบางส่วนเกิดจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด
- พยาธิสภาพที่เยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจหดรัด น้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป้นต้น
สาเหตุเหล่านี้มักจะตรวจพบได้ง่ายจากการตรวจร่างกาย เอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- โรคหรือภาวะอื่น ๆ
โรคหรือภาวะดังต่อไปนี้ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้ ผู้ป่วยเองควรที่จะให้ประวัติและเล่าอาการทั้งหมดให้แพทย์ฟังอย่างละเอียด
- โรคคอพอกเป็นพิษ (Thyrotoxicosis) จะมีอาการมือสั่น เหงื่อออกมาก ขี้ร้อน รู้สึกใจเต้นเร็วตลอดเวลา ต่อมไทรอยด์ที่ด้านหน้าลำคอมีขนาดโต บางรายอาจมีตาโปนด้วย
- โรคปอดเรื้อรัง ที่ทำให้มีปัญหาในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน
- โรคไตวาย
- เนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma จะมีความดันโลหิตสูงและชีพจรเต้นเร็วเป็นพัก ๆ
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น
- แอมเฟตามีน (มักเป็นส่วนประกอบในยาลดความอ้วน ยาบ้า ยาม้า)
- ยาเสพติดพวกโคเคน
- ยาขยายหลอดลม
- ยาลดอาการคัดจมูก (Decongestants) เช่น Pseudoephedrine
- ยากระตุ้นหัวใจทุกชนิด
- ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ Amiodarone, Disopyramide, Procainamide, Quinidine, Sotalol เป็นต้น
- ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)
- ยาขับปัสสาวะ
- ฮอร์โมนไทรอยด์ (ชดเชยภาวะขาดออร์โมนไทรอยด์ หรือเพื่อรักษาภาวะคอหอยพอกธรรมดา)
- ยากลุ่ม Anticholinergics
- ยากลุ่ม Antihistamines เช่น Diphenhydramine, Hydroxyzine
- ยาปฏิชีวนะ: กลุ่ม Fluoroquinolones และกลุ่ม Macrolides
- ยารักษาโรคจิตประสาท: กลุ่ม Phenothiazines และ Tricyclic antidepressants
- ยากลุ่ม Protease inhibitors
- ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น เป็นเบาหวานแล้วมีความไม่สมดุลระหว่างยากับอาหาร, โรคตับ, โรคพิษสุราเรื้อรัง, เนื้องอกที่หลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เป็นต้น
- ภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ในเลือด
- ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะอื่น ๆ เช่น ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังมากไป, ใช้เสพสารเสพติด, สูบบุหรี่จัด, ดื่มสุรามากไป, มีไข้สูง, มีการเสียเลือด, ขาดออกซิเจน, ตั้งครรภ์ เป็นต้น
กรณีที่สงสัยโรคหรือภาวะเหล่านี้จากประวัติ การตรวจร่างกาย หรือมีลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ่งชี้ แพทย์จะส่งตรวจเลือดเพิ่มเพื่อความแน่ใจ
- จากสภาพจิตใจ
อาการใจสั่นที่เกิดจากสภาพจิตใจมักมีลักษณะโดยรวมคือ มีความทุกข์จากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ เหนื่อย เครียด กลัว หรือกังวลว่าจะทำอะไรไม่สำเร็จ ความรู้สึกทุกข์นี้ซ่อนอยู่ในใจตลอดเวลาจนบางครั้งรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ
ลักษณะของการตรวจพบในคนไข้กลุ่มนี้จะคล้ายกับกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ คือตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์ไม่พบความผิดปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ไม่พบความผิดปกติที่จำเพาะต่ออวัยวะส่วนใดของหัวใจ ผิดกันแต่ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ยอมรับว่ามีสาเหตุมาจากจิตใจเมื่อได้ทบทวนดูด้วยตัวเองในภายหลัง
- ไม่ทราบสาเหตุ
ผู้ป่วยที่ไม่เชื่อว่าสาเหตุมาจากจิตใจ รวมทั้งผู้ป่วยที่แม้การตรวจขั้นต้นจะไม่พบความผิดปกติ แต่แพทย์อาจขอทำการตรวจพิเศษเพิ่มในรายที่มีประวัติหรืออาการดังต่อไปนี้
- เป็นเพศชายที่อายุมากกว่า 40 ปี
- มีโรคเรื้อรังอยู่
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก วิงเวียน หรือเป็นลม ร่วมด้วย
การตรวจพิเศษได้แก่ การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ตลอดเป็นเวลา 24-72 ชั่วโมง (Holter monitoring) หรือใส่เครื่องไว้แล้วกดบันทึกเมื่อเวลามีอาการ (Event recording) เพราะความผิดปกติอาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ นอกจากนั้นในที่ที่มีผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาจส่งตรวจอัลตราซาวด์หัวใจที่เรียกว่า Echocardiography เพื่อดูโครงสร้างและการทำงานของหัวใจห้องต่าง ๆ
ในรายที่มีอาการแน่นหน้าอกขณะออกแรงคล้ายกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักไม่แสดงให้เห็น ก็ยังมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะเดินสายพาน (Exercise stress test) ซึ่งต้องมีแพทย์โรคหัวใจเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด
แต่แม้จะได้รับการตรวจทุกอย่างเท่าที่จำเป็นแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งก็ยังหาสาเหตุของอาการใจสั่นไม่ได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายไปเอง ส่วนน้อยที่มีสาเหตุจริง ๆ ก็จะปรากฏอาการร่วมอย่างอื่นให้เห็นชัดขึ้นในเวลาต่อมา