ความดันโลหิตแคบ (Narrow pulse pressure)
ความดันโลหิตประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท (mmHg)
- ตัวบน (systolic) คือความดันภายในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจฉีดเลือดออกไป ผนังหลอดเลือดจะโป่งออกอย่างที่เรารู้สึกเวลาจับชีพจร
- ตัวล่าง (diastolic) คือความดันพื้นฐานภายในหลอดเลือดแดงเวลาที่หัวใจคลายตัว
ความดันเฉลี่ย (mean arterial pressure, MAP) = ความดันค่าล่าง + ⅓ (ความดันค่าบน - ความดันค่าล่าง) ค่าปกติคือ 70-100 mmHg
ความกว้างของความดัน (pulse pressure, PP, Ppulse) คือ ความแตกต่างระหว่างความดันค่าบนกับความดันค่าล่าง ปกติจะอยู่ในช่วง 25-50% ของความดันค่าบน ความแคบที่ผิดปกติเป็นสัญญาณบอกว่า ร่างกายกำลังแก้ไขความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตด้วยตัวเองอย่างเกินกำลังความสามารถแล้ว จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์โดยด่วน
ความดันที่แคบผิดปกติมักพบใน 3 ภาวะ คือ ภาวะที่กำลังช็อก ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดตัวล่างสูง และภาวะที่หัวใจส่งเลือดออกไปได้น้อย
กรณีที่ 1 เมื่อร่างกายกำลังจะช็อกด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความดันค่าบนจะลดลงเร็วกว่าค่าล่าง เพราะร่างกายช่วยตรึงความดันค่าล่างไว้โดยสั่งให้หลอดเลือดหดตัว ความดันเฉลี่ยจึงลดไม่มาก แต่ช่วงกว้างของความดันจะแคบลง หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ความดันจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนร่างกายเอาไม่อยู่ เมื่อความดันเฉลี่ยต่ำกว่า 70 mmHg ถือว่าอยู่ในภาวะช็อก อวัยวะสำคัญจะเสี่ยงต่อการขาดเลือด
กรณีที่ 2 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางราย (พบบ่อยในเพศชายที่เริ่มน้ำหนักเกินตั้งแต่อายุยังน้อย) จะมีลักษณะของความดันตัวล่างสูง แต่ตัวบนค่อนข้างปกติ เช่น 120/91, 125/95 ทำให้คิดว่าความดันของตนปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้มักมาพบแพทย์เมื่อความดันประมาณ 141/106 หรือเริ่มมีอาการมึนงง ปวดศีรษะบ่อย ในปัจจุบันถือว่าความดันที่เกิน 120/80 ผิดปกติทั้งนั้น ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุก่อน
กรณีที่ 3 พบในรายหัวใจฉีดเลือดออกไปได้น้อย อาจเป็นจากทางออกตีบ หรือหัวใจห้องล่างซ้ายรับเลือดเพื่อเตรียมบีบออกน้อยลง ความดันค่าบน (ขณะหัวใจบีบตัวจึงค่อนข้างต่ำ) ร่างกายจะปรับตัวให้ความดันเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ ช่วงกว้างของความดันจึงแคบลง
สาเหตุของความดันโลหิตแคบ
จากตัวอย่างข้างต้น สาเหตุของความดันโลหิตแคบจึงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- ภาวะช็อก จาก
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- หัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจากทุกสาเหตุ
- เสียเลือด
- เสียน้ำในปริมาณมาก
- ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน
- ฮอร์โมนไทรอยด์ไม่พอ (Myxedema)
- ความดันโลหิตสูงชนิดตัวล่างสูง จาก
- หัวใจฉีดเลือดออกไปได้น้อย จาก
- ทางออกของหัวใจตีบแคบแต่กำเนิด เช่น ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis) หลอดเลือดแดงเอออร์ตาตีบ (Coarctation of aorta)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (Hypertrophic obstructive cardiomyopathy)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหดตัว (Restrictive cardiomyopathy)
- ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วมาก (เลือดที่ส่งเข้าห้องล่างซ้ายรั่วกลับเข้าห้องบนซ้ายหมดเมื่อหัวใจคลายตัว)
- มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมาก จนกดหัวใจไม่ให้ขยายตัวรับเลือดเข้า (Cardiac tamponade)
- เยื่อหุ้มหัวใจบีบรัด (Constrictive pericarditis)
- ปอดทะลุและมีลมออกมามากจนกดหัวใจ (Tension pneumothorax)
- หัวใจเต้นเร็วมาก (จนขยายรับเลือดเข้าไม่ทัน)
อาการของความดันโลหิตแคบ
ความดันโลหิตแคบเป็นอาการแสดง หมายถึงโดยตัวมันเองไม่ทำให้เกิดอาการอันใด แต่เป็นสัญญาณให้แพทย์ค้นหาความผิดปกติที่ซุกซ่อนอยู่ ส่วนใหญ่คนไข้จะมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุตั้งต้นอยู่ก่อนแล้ว
แนวทางการตรวจรักษา
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาด้วยสาเหตุต่าง ๆ ข้างต้น หากมีความดันต่ำ เหนื่อยหอบมาก แพทย์จะให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลพร้อม ๆ กับการตรวจหาสาเหตุ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมาด้วยความดันโลหิตสูงแบบตัวล่างสูง หากตรวจหาสาเหตุไม่พบแพทย์จะให้ยาควบคุมความดันเหมือนโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป แต่ยาที่แนะนำในรายที่มีความดันโลหิตแคบด้วย คือ กลุ่มยาต้านแองจิโอเทนซิน (ARBs) และกลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics) [1]
บรรณานุกรม
- Hiromichi Suzuki. 2014. "Pulse Pressure Is Useful for Determining the Choice of Antihypertensive Drugs in Postmenopausal Women." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Pulse. 2014 May;1(3-4):152–160. (7 มิถุนายน 2563).
- "Pulse Pressure (PP) คืออะไร." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา อายุรศาสตร์ มศว. (5 มิถุนายน 2563).
- Richard E. Klabunde. 2016. "Arterial and Aortic Pulse Pressure." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา cvphysiology.com (6 มิถุนายน 2563).
- Richard E. Klabunde. 2016. "Mean Arterial Pressure." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiovascular Physiology Concepts. (5 มิถุนายน 2563).