ชัก (Seizure)
อาการชักเป็นผลมาจากสมองนำไฟฟ้าผิดปกติไปชั่วขณะ ทำให้ร่างกายเสียการรับรู้ มีการกระตุกของกล้ามเนื้อ กัดลิ้น ปัสสาวะราด หรือมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดในชั่วขณะนั้น (ขึ้นกับหน้าที่ของสมองส่วนที่นำไฟฟ้าผิด) หลังชักผู้ป่วยจะหมดสติไปชั่วคราว และเมื่อฟื้นแล้วจะยังรู้สึกสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก บางคนมีอาการปวดศีรษะตามมาด้วย
การนำไฟฟ้าที่ผิดปกตินี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากไม่สามารถหาสาเหตุได้ถึงจะเรียกว่าเป็นโรคลมชัก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลมบ้าหมู" ซึ่งไม่สามารถแก้ที่สาเหตุได้ ได้แต่ให้ยาควบคุมอาการชัก (หรือถ้าเป็นมากอาจต้องตัดเนื้อสมองบางส่วนออกไป)
สาเหตุของอาการชัก
รอยโรคที่สมองแทบทุกชนิดก็ทำให้เกิดอาการชักได้ แต่สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการชักเกิดจากภาวะอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ภาวะเหล่านี้เมื่อรักษาให้หาย อาการชักก็จะหายไป สาเหตุของอาการชักมีดังต่อไปนี้
- รอยโรคที่สมอง เช่น เนื้องอก ฝี การอักเสบติดเชื้อ เส้นเลือดแตก เส้นเลือดอุดตัน เส้นเลือดโป่งพอง พยาธิ อุบัติเหตุจนมีการบาดเจ็บที่สมอง ความพิการแต่กำเนิด ฯลฯ
- ภาวะไข้สูงในเด็กเล็ก เด็กโตและผู้ใหญ่จะไม่เกิดภาวะนี้
- ความผิดปกติทางเคมีในเลือด เช่น น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจนเกินไป เสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด ภาวะยูเรียคั่งในโรคไตวายเรื้อรัง
- การได้รับสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู ตะกั่ว ฯลฯ
- จากยาเกินขนาด เช่น โคเคน, แอมเฟตามีน, ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด, Lithium, Theophylline, Isoniazid เป็นต้น
- การหยุดสุรากะทันหันจากที่เคยดื่มเป็นประจำทุกวัน ภาวะนี้เรียกว่า Rum fits อาการชักจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกที่หยุดดื่มอย่างกะทันหัน วิธีการเลิกสุราที่ดีคือค่อย ๆ ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งทุก 1-2 วัน เมื่อหยุดดื่มไปตลอดก็จะไม่เป็นอีก
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดหลังตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ปัจจุบันสูตินรีแพทย์ที่รับฝากครรภ์จะเฝ้าระวังภาวะนี้ทุกครั้งที่นัดตรวจอยู่แล้ว
- ภาวะความดันสูงขั้นวิกฤติ
- โรค Phenylketonuria เป็นความผิดปกติทางเมตาบอลิกแต่กำเนิด ทำให้เกิดอาการชักตั้งแต่ยังเป็นทารก
- โรคลมชัก (Epilepsy) เชื่อว่าเป็นความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่เล็กมากจนไม่สามารถเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มจะถ่ายทอดความผิดปกตินี้ไปสู่ลูกหลาน พบว่าผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน และโรคนี้มักเริ่มแสดงอาการตั้งแต่เด็ก
ลักษณะของอาการชัก
อาการชักที่เกิดจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากรอยโรคที่สมองและโรคลมชักแล้ว มักเป็นลักษณะที่ชักทั้งตัว คือมีอาการเกร็งและกระตุกเป็นจังหวะของทั้งลำตัว แขน ขา คอ ในเวลาไม่เกิน 5 นาที พร้อมกับหมดสติไปชั่วครู่ แต่อาการชักในลักษณะต่อไปนี้ต้องหาสาเหตุทางสมองก่อนเสมอ
- มีอาการนำก่อนที่จะเริ่มชัก เช่น เห็นแสงหรือได้ยินเสียง คลื่นไส้หรือปวดศีรษะมาก ผู้ป่วยเหล่านี้จะรู้ตัวก่อนว่าจะชัก อาการนำจะเกิดประมาณ 1-2 นาทีก่อนที่จะเริ่มชักทั้งตัว ตาเหลือก กัดลิ้น ปัสสาวะราด ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเริ่มต้น เช่น ซึมเศร้า ง่วง หิวและกินเก่ง ปวดหัวข้างเดียว ก่อนที่จะเริ่มชักนาน 1-2 วันเลยทีเดียว
- เริ่มจากการกระตุกเพียงบางของร่างกายเช่น เฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ ไหล่ ขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือที่มุมปาก โดยยังรู้สึกตัวดี จากนั้นอาการกระตุกอาจหยุดไปเอง หรืออาจกระจายไปทั้งตัวจนชักทั้งตัวและหมดสติไป
- จู่ ๆ ก็ตัวอ่อนหมดสติไปในทันทีคล้ายเป็นลม แต่ดูไม่มีปัจจัยให้เป็นลมได้นขณะนั้น และการหมดสติคงอยู่นานกว่า 1 นาที เมื่อฟื้นขึ้นมาจะรู้สึกมึนงง หนักศีรษะ สับสน อาจยังคงอ่อนแรงและซึมหลับอยู่
- อาการค้าง คือกำลังพูดหรือทำอะไรอยู่จะหยุดนิ่งชั่วครู่ ราว 10-30 วินาที โดยไม่รู้สึกตัว อาจปล่อยของที่ถืออยู่จนตกแตก แต่ไม่มีอาการชักให้เห็น ลักษณะนี้ทำให้การเรียนหรือการเข้าสังคมเสียไปโดยไม่รู้ตัว
- มีพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น นั่งกระพริบตา เดินวนเวียน พูดพึมพำ ยืนขบเคี้ยวโดยที่ไม่มีอะไรในปาก และเกิดซ้ำ ๆ โดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยเหล่านี้จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะระหว่างที่เป็นจะไม่รู้สึกตัว
- อาการชักในลักษณะที่ฟาดแขนฟาดขาอย่างรวดเร็วเป็นครั้ง ๆ โดยไร้ทิศทาง และแต่ละครั้งอาจเกิดการบาดเจ็บได้ (myoclonus)
การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการชัก
ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต้องตั้งสติให้มั่น อย่าให้คนมามุงดูเพราะผู้ป่วยต้องการอากาศถ่ายเทที่ดี คนรอบข้างถ้าจะช่วยก็คอยสังเกตุลักษณะของอาการชักตั้งแต่เริ่มจนจบ และถ้าสามารถช่วยจับเวลาได้ก็จะยิ่งดีมาก
- จัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย คือท่านอนราบ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง สอดหมอนหรือวัสดุอ่อนนุ่มใว้ใต้ศีรษะ จับแขนขาไว้ไม่ให้ไปสะบัดใส่อะไรจนบาดเจ็บ
- ไม่ควรสอดใส่วัสดุใด ๆ เข้าในปากเพราะเกรงผู้ป่วยจะกัดลิ้นตัวเอง และไม่ควรงัดปากที่ผู้ป่วยกัดฟันจนแน่น เพราะมักทำให้ฟันผู้ป่วยหักและอาจหล่นลงไปในคอ
- ขณะชักไม่ควรกรอกยา น้ำ หรือน้ำหวานเข้าปาก เพราะอาจทำให้สำลักและเกิดปอดบวมตามมา
- หลังชักผู้ป่วยจะหมดแรงและหลับต่อไปอีก 20-30 นาที ช่วงนี้ถ้าผู้ป่วยมีไข้และอยู่ในบ้านให้เช็ดตัวก่อนพาไปพบแพทย์
- หลังฟื้นให้สอบถามหรือสังเกตอาการผู้ป่วยว่ายังมีอาการอะไรหลงเหลืออยู่หรือไม่
- ผู้ป่วยที่ทราบสาเหตุของอาการชักอยู่แล้วให้เตรียมยาที่รักษาอยู่ทั้งหมดไปให้แพทย์ดูด้วย ส่วนผู้ป่วยที่เพิ่งชักครั้งแรกควรรีบพาส่งโรงพยาบาลหลังฟื้นทันที
แนวทางการตรวจรักษา
ผู้ที่มีอาการชักในลักษณะ 5 ข้อดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งผู้ป่วยที่หลังชักมีอาการแสดงทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่ เช่น อัมพาตครึ่งซีก คอแข็ง ปวดศีรษะมาก สับสน ความรู้สึกตัวไม่ปกติ เห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยว มีปัญหาการพูดหรือการกลืน จะได้รับการตรวจทางระบบประสาทอย่างละเอียด ส่วนอาการชักในลักษณะที่ชักทั้งตัวและหลังชักไม่มีอาการแสดงทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่จะได้รับการตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งตรงนี้ญาติควรให้ประวัติอาการโดยละเอียด รวมทั้งโรคประจำตัว การใช้ยา ลักษณะของการชัก ระยะเวลาและความถี่ที่เกิดขึ้นด้วย
ในผู้ป่วยที่ทานยากันชักอยู่แล้วยังมีอาการชักเกิดขึ้น แพทย์อาจต้องตรวจระดับยาในเลือดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม ไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นพิษ ผลการตรวจระดับยาในเลือดจะใช้เวลาราว 2-3 วัน
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคลมชัก
ผู้ป่วยควรทานยาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าลืมให้ทานทันทีที่จำได้ และไม่ต้องเลื่อนยามื้อต่อไป ปกติถ้ากินยาสม่ำเสมอ 3-5 ปีจะสามารถลดยาจนหยุดยาได้ในที่สุด และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อดนอน นอนดึก ถ้าอยู่ในระหว่างเริ่มต้นรักษาโรคลมชัก ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายเมื่อเกิดอาการชัก เช่น การขับรถ การปีนที่สูง การว่ายน้ำคนเดียว หรือแม้แต่การขี่จักรยานออกไปข้างนอกคนเดียว แต่ถ้าสามารถควบคุมอาการชักไดัติดต่อกันประมาณ 6 เดือน ความเสี่ยงจากการทำกิจกรรมพวกนี้ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก้ตาม ควรมีบัตรสุขภาพพกติดตัวที่ระบุถึงโรคประจำตัวและผู้ที่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา