ม้ามโต (Splenomegaly)
ม้ามเป็นอวัยวะของระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่คล้ายต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซ่อนตัวอยู่ภายในกระดูกซี่โครง ใต้กระบังลมข้างซ้าย หลังกระเพาะอาหาร ยาวประมาณ 11 ซม. ปกติจะคลำไม่ได้ ม้ามที่โตขึ้นอาจคลำได้ถ้าขอบล่างของมันยาวเลยชายโครงลงมา และมั่นใจว่าใช่ม้ามแน่เมื่อคลำได้ร่องหรือหยักตรงขอบหน้าของม้าม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอวัยวะนี้ในคน
ส่วนใหญ่ม้ามโตไม่มีอาการอะไร ยกเว้นในกรณีที่โตมาก ๆ จะรู้สึกอึดอัด และอาจเกิดภาวะที่ม้ามกินเม็ดเลือดจนซีด เกล็ดเลือดเลือดต่ำ และมีเลือดออกง่าย
สาเหตุของม้ามโต
เนื่องจากม้ามทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดที่หมดอายุ เสื่อมสภาพ ผิดรูป และกำจัดเชื้อโรคในกระแสเลือด ดังนั้นโรคเลือดที่มีเม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือดและโรคติดเชื้อต่าง ๆ จะทำให้ม้ามต้องทำงานเพิ่มขึ้นและมีขนาดโตขึ้นได้ สาเหตุของม้ามโตแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่
1. ภาวะที่เลือดดำจากม้ามไหลกลับเข้าหัวใจไม่สะดวก
เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคตับแข็งที่มีความดันในเส้นเลือดดำพอร์ทัลสูง (portal hypertension) ภาวะเหล่านี้ทำให้ม้ามบวมน้ำ (congestion) แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำให้ม้ามมีขนาดโตขึ้นมาก ผู้ป่วยมักมีอาการบวมตามที่อื่น ๆ หรืออาการของโรคตับแข็ง (ตาเหลือง ท้องมาน) ให้เห็นด้วย
2. ภาวะที่ม้ามทำงานมากขึ้น
- จากโรคติดเชื้อเรื้อรัง: เช่น โรคติดเชื้อโมโนนิวคลิโอสิส มาลาเรีย วัณโรค เอดส์ ลิชมาเนียสิส โรคเยื่อบุหัวใจติดเชื้อแบคทีเรีย (bacterial endocarditis) บรูเซลโลสิส ท็อกโซพลาสโมสิส ซิฟิลิส เป็นต้น
- จากโรคเลือด: เช่น ธาลัสซีเมีย hemolytic diseases มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งไขกระดูกต่าง ๆ
โรคในกลุ่มนี้ทำให้ม้ามโตได้มาก ๆ และมักจะพบตับโตด้วย ผู้ป่วยมักมีไข้ ซีด อ่อนเพลีย และอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่อื่น ๆ โต
3. โรคที่มีการอักเสบโดยทั่วไป
เช่น Connective tissue diseases (SLE, RA)
4. โรคที่มีการสะสมสารผิดปกติที่ม้าม
เช่น Amyloidosis, Sarcoidosis, Gaucher’s disease, Niemann–Pick disease
5. เนื้องอกของระบบน้ำเหลือง
เช่น Lymphoma, Lymphangioma
แนวทางการวินิจฉัย
ผู้ป่วยทุกรายที่แพทย์คลำพบม้ามโตจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดและดูลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดอย่างละเอียด การทำอัลตราซาวด์หรือซีทีก็อาจช่วยในการดูว่ามีตับโตหรือต่อมน้ำเหลืองที่อื่นโตด้วยหรือไม่ ประวัติโรคประจำตัวและอาการแสดงอื่น ๆ ที่ตรวจพบก็จะช่วยในการวินิจฉัย เช่น
- ม้ามโตร่วมกับมีไข้ จะนึกถึงโรคติดเชื้อ, Sarcoidosis, และมะเร็งต่าง ๆ
- ม้ามโตร่วมกับต่อมน้ำเหลืองโต จะนึกถึง Glandular fever, Leukemia, Lymphoma, Sjögren's syndrome
- ม้ามโตร่วมกับมีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือด จะนึกถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, ไข้ไทฟัส, Weil's disease, Amyloidosis, Meningococcemia, Leukemia
- ม้ามโตร่วมกับข้ออักเสบ จะนึกถึงโรค RA, SLE, Lyme, ภาวะที่มี vasculitis ทั้งหลาย, Sjögren's syndrome
- ม้ามโตร่วมกับท้องมาน จะนึกถึงมะเร็งตับ, โรคตับแข็งที่มีภาวะ portal hypertension
- ม้ามโตร่วมกับมีเสียงฟู่ที่หัวใจ จะนึกถึงโรคไข้รูห์มาติก, SBE, Hypereosinophilia, Amyloidosis
- ม้ามโตร่วมกับโลหิตจาง จะนึกถึงโรคธาลัสซีเมีย, Pernicious anemia, Leukemia, โรคลิชมาเนียสิส
- ม้ามโตร่วมกับน้ำหนักลดและอาการแสดงทางระบบประสาท จะนึกถึงมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ, Lymphoma, Paraproteinemia, วัณโรค, พิษสารหนู
- ม้ามที่โตมาก ๆ จะนึกถึงโรคธาลัสซีเมีย, มาลาเรียเรื้อรัง, Myelofibrosis, CML, Gaucher's syndrome, โรคลิชมาเนียสิส
สุดท้ายอาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อไขกระดูกหากยังหาสาเหตุไม่ได้จริง ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของม้ามโต
ม้ามที่โตมาก ๆ อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า Hypersplenism คือมันไม่เลือกกำจัดเฉพาะเม็ดเลือดที่เสื่อมสภาพ แต่จะทำลายเม็ดเลือดที่ดีด้วย ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดเลือดต่ำ (pancytopenia) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย และมีเลือดออกง่าย
นอกจากนี้ ม้ามที่โตมาก ๆ ก็เสี่ยงที่ผนังจะฉีกขาดเมื่อได้รับการกระแทกแรง ๆ ซึ่งในกรณีนั้นจะทำให้มีเลือดออกในช่องท้องเป็นจำนวนมาก เพราะม้ามเป็นอวัยวะรับเลือดที่สำคัญ ภาวะม้ามแตกอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
การป้องกัน
ม้ามโตเป็นอาการแสดงของโรคต่าง ๆ หากเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ (จำเป็นต้องให้เลือดเพื่อบรรเทาอาการอยู่เรื่อย ๆ) ก็จะยิ่งทำให้ม้ามทำงานหนักขึ้น โตขึ้น และเสี่ยงที่จะฉีกขาดหรือเกิดภาวะ Hypersplenism มากขึ้น ดังนั้นผู้ที่มีม้ามโตจึงไม่ควรเล่นกีฬาหนัก ๆ และคาดเข็มขัดทุกครั้งที่อยู่ในรถ
ทันทีที่ผลตรวจ CBC เริ่มแสดงภาวะ pancytopenia แพทย์จะพิจารณาตัดม้ามออกเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอีกมากที่จะเกิดขึ้น
การปฏิบัติตัวหลังตัดม้ามออกแล้ว
ผู้ที่ได้รับการตัดม้ามก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางชนิดง่าย จึงควรปฎิบัติตามเกณฑ์ป้องกันดังต่อไปนี้
- ฉีดวัคซีน Pneumovax และ Hib ก่อนและหลังการผ่าตัด และฉีด Pneumovax ซ้ำทุก ๆ 5 ปี
- กินหรือฉีดยาปฏิชีวนะทุกครั้งหลังการผ่าตัดทุกชนิด (รวมทั้งการถอนฟัน)
- ไปพบแพทย์ทุกครั้งที่มีไข้ และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดทุกครั้ง รวมทั้งทานให้ครบจำนวนวันที่แพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในแหล่งของโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ดงมาลาเรียแถวชายแดนไทยทางตอนเหนือ และพื้นที่ของโรคติดเชื้อโปรโตซัวอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี, รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ทุก 10 ปี, และวัคซีนอื่น ๆ ตามที่แพทย์ของท่านแนะนำ