เม็ดเลือดขาวน้อย (ต่ำ) (Leukopenia)

จากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก (stem cell) เมื่อเจริญต่อไปจะให้ตัวอ่อน 4 เหล่า คือ

  • Megakaryoblast หรือตัวอ่อนของเกล็ดเลือด
  • Erythroblast หรือตัวอ่อนของเม็ดเลือดแดง
  • Myeloblast หรือตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีนิวเคลียสเป็นหยัก
  • Lymphoblast หรือตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวชนิดที่นิวเคลียสเป็นก้อนกลมใหญ่อันเดียว

เม็ดเลือดขาวที่ออกมาในเลือดจึงมีทั้งหมด 5 ชนิด คือ

  1. Lymphocyte มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาเม็ดเลือดขาวทั้งหมด นิวเคลียสใหญ่เกือบเต็มเซลล์ ลิมโฟไซต์จากไขกระดูกจะเป็นชนิด B-cell ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี ลิมโฟไซต์จากต่อมไทมัสจะเป็นชนิด T-cell ทำหน้าที่กำจัดเซลล์ของร่างกายที่ถูกเชื้อโรครุกล้ำ รวมทั้งเซลล์ที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็ง ปกติลิมโฟไซต์มีสัดส่วนประมาณ 20-40% ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
  2. Neutrophil มีนิวเคลียสเป็นก้อนเล็ก ๆ 2-5 ก้อน เชื่อมกันด้วยสายบาง ๆ มีแกรนูลละเอียด ไซโตพลาสซึมติดสีชมพู นิวโตรฟิลเปรียบเสมือนพลทหารหรือทัพหน้า สามารถหลั่ง cytokine เรียกพรรคพวกมาได้อย่างรวดเร็ว มันทำหน้าที่กินสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งแบคทีเรียและสารพิษที่เข้ามาในร่างกาย นิวโตรฟิลมีค่าครึ่งชีวิต (half-life) เพียง 7 ชั่วโมง ตัวที่อายุมากจะแทรกผ่านผนังหลอดเลือดเข้าไปตายในเนื้อเยื่อ ไขกระดูกต้องสร้างใหม่ประมาณแสนล้านเซลล์ทุกวัน ปกตินิวโตรฟิลมีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 40-70% ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
  3. Eosinophil มีแกรนูลติดสีแดงจำนวนมากในไซโตพลาสซึม ทำหน้าที่กำจัดไวรัสและเชื้อราร่วมกับลิมโฟไซต์ และกำจัดแบคทีเรียร่วมกับนิวโตรฟิล ที่พิเศษคือกำจัดปรสิต (parasite) และร่วมกับ mast cell ก่อให้เกิดอาการแพ้เมื่อมีสิ่งก่อภูมิมากระตุ้น เหมือนช่วยบอกเราว่าร่างกายไม่ชอบสิ่งนี้นะ ถ้าเจออีกต้องรีบไปห่าง ๆ ปกติอีโอสิโนฟิลในเลือดมีสัดส่วนเพียง 0.5-7.0% ของจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ส่วนใหญ่มันจะอยู่ในเนื้อเยื่อทางเดินอาหาร ปอด และผิวหนัง
  4. Basophil มีแกรนูลติดสีน้ำเงินจำนวนมากในไซโตพลาสซึม เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดเดียวที่มีสารฮีสตามีนและเฮพารินอยู่ภายใน จึงทำหน้าที่คล้าย mast cell คือหลั่งฮีสตามีนทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อร่างกายเจอสิ่งก่อภูมิที่ไม่ชอบ และหลั่งเฮพารินป้องกันเลือดแข็งตัวในบริเวณที่มีการติดเชื้อ เบโซฟิลยังกระตุ้นให้มีการสร้าง IgE antibody ป้องกันการติดเชื้อปรสิต ปกติเบโซฟิลมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
  5. Monocyte เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด บางส่วนของโมโนไซต์จะพัฒนาต่อไปเป็นเซลล์แมคโครฟาจ (macrophages) และเซลล์เดนไดรติก (dendritic cells) ทั้งโมโนไซต์ แมคโครฟาจ และเดนไดรติก ทำหน้าที่กินสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย รวมทั้งเก็บกินเศษขยะในหลอดเลือด ปกติโมโนไซต์มีสัดส่วนประมาณ 2-10% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด

นิยามของภาวะเม็ดเลือดขาวน้อย

จำนวนเม็ดเลือดขาวปกติขึ้นกับอายุและภาวะมีครรภ์ ยังไม่มีตัวเลขตรงกันของแต่ละสถาบันว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวรวมที่ปกติเป็นเท่าไร บ้างก็ใช้ตัวเลข 5,000-10,000 cells/μL (5-10 x 109/L) เพราะจำง่าย ห้องแล็บของโรงพยาบาลศิริราชใช้ตัวเลข 4,400-10,300 cells/μL (4.4-10.3 x 109/L) แต่บางคนก็มีเม็ดเลือดขาวเพียง 3,300 cells/μL มานานหลายสิบปีโดยที่ไม่มีอาการอะไร แบบนี้ถือเป็นความหลากหลายที่ปกติ (normal variation) เหมือนความสูงของคน

และเนื่องจากเม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด ภาวะเม็ดเลือดขาวน้อยจึงต้องแยกว่าเป็นชนิดใดน้อย เม็ดเลือดขาวที่มีความสำคัญทางคลินิกเมื่อมันลดลงคือนิวโตรฟิลและลิมโฟไซต์ เรียกว่า ภาวะ neutropenia และ lymphopenia ตามลำดับ ดังนั้นเมื่อตรวจสุขภาพพบจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมดน้อย จึงต้องเอาเปอร์เซนต์ของนิวโตรฟิลและลิมโฟไซต์มาคำนวณหาจำนวนสัมบูรณ์ของมัน นิยามของภาวะเม็ดเลือดขาวน้อยจะเป็นดังนี้

Neutropenia

หมายถึง จำนวนนิวโตรฟิลสัมบูรณ์ (absolute neutrophil count, ANC) ต่ำกว่า 1,500 cells/μL ถ้าน้อยกว่า 100 cells/μL จะเรียกว่า Agranulocytosis สาเหตุอาจมาจาก

  1. การติดเชื้อไวรัส
  2. การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Brucellosis, Typhoid, Lyme
  3. ติดเชื้อมาลาเรีย
  4. ติดเชื้อวัณโรค, เชื้อรา
  5. จากยา ได้แก่
    • ยาเคมีบำบัด เช่น กลุ่ม Alkylating agents, Anthracyclines, Antimetabolites, Camptothecins, Epipodophyllotoxins, Hydroxyurea, Mitomycin C, Taxanes
    • ยาพุ่งเป้า เช่น Infliximab, Rituximab
    • ยากดภูมิต้านทาน เช่น Tacrolimus
    • ยาปฏิชีวนะ เช่น Vancomycin, Bactrim, Penicillin, Oxacillin, Cefotaxime, Ceftriaxone, Cefipime, Meropenem, Metronidazole, Tazocin, Ciprofloxacin, Clindamycin, Tobramycin, Linezolid, Teicoplanin, Dapsone, Quinine
    • ยาต้านไวรัส เช่น Valganciclovir
    • ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ เช่น Methimazole, Carbimazole, Propylthiouracil (PTU)
    • ยากันชักและยากดประสาท เช่น Lamotrigine, Levetiracetam, Clozapine, Quetiapine
    • ยาต้านซึมเศร้า เช่น Venlafaxine (Effexor®)
    • ยารักษาโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น Sulfasalazine, Hydroxychloroquine
    • ยาแก้ปวด เช่น Dipyrone, ยากลุ่มเอนเสดบางตัว เช่น Ibuprofen
    • ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร เช่น กลุ่ม H2-blockers
    • ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Ticlopidine
    • ยาลดความดันโลหิต เช่น กลุ่ม ACEI
    • ยารักษาหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น Quinidine, Procainamide
    • ยาขับปัสสาวะ เช่น Torsemide
  6. โรคของไขกระดูก เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ, กลุ่มอาการเอ็มดีเอส, มะเร็งอวัยวะอื่นลุกลามเข้าไขกระดูก (เหล่านี้มักมีโลหิตจาง และ/หรือ เกล็ดเลือดต่ำด้วย)
  7. ได้รับการฉายรังสีรักษา
  8. ขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต (ต้องมีโลหิตจางด้วย) มักพบในผู้ติดสุราเรื้อรัง
  9. ขาดธาตุทองแดง (copper)
  10. ถูกม้ามที่โตกิน
  11. โรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น SLE
  12. โรคทางเมตาบอลิก เช่น Pearson syndrome, Gaucher syndrome, Acidemias
  13. โรค Sarcoidosis
  14. ไม่ทราบสาเหตุ

ยิ่งจำนวนนิวโตรฟิลลดลงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งติดเชื้อต่าง ๆ ง่ายขึ้นเท่านั้น

Lymphopenia หรือ Lymphocytopenia

หมายถึง จำนวนลิมโฟไซต์ ต่ำกว่า 1,000 cells/μL ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยเอดส์ระยะท้าย ๆ ที่ CD4 ถูกทำลายไปมาก ในคนปกติทั่วไปพบได้น้อย แต่ถ้าพบให้มองหาสาเหตุเหล่านี้

  1. จากยา เช่น สเตียรอยด์ ยาเคมีบำบัด
  2. มะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูก
  3. ได้รับการฉายรังสีรักษาในขนาดสูง หรือได้รับกัมมันตรังสีจากอุบัติเหตุ

ส่วน Eosinophil, Basophil, Monocyte มีเปอร์เซนต์น้อยอยู่แล้ว ทำให้ประเมินจำนวนที่ลดลงยาก และไม่มีความสำคัญทางคลินิก

บรรณานุกรม

  1. "Complete Blood Count in Primary Care." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา bpac.org.nz (23 มิถุนายน 2563).
  2. Lynne Eldrige. 2019. "Neutrophils Function and Abnormal Results." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Verywell Health. (4 กรกฎาคม2563).
  3. Janeway CA Jr, et al. 2001. "Generation of lymphocytes in bone marrow and thymus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Immunobiology: The Immune System in Health and Disease. 5th ed. (4 กรกฎาคม 2563).
  4. Karen Buckland. "Eosinophils." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Br Soc for Immunology. (4 กรกฎาคม 2563).
  5. Suzanne Dixon. 2019. "The Role of Basophils in Your Body." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Verywell Health. (4 กรกฎาคม 2563).
  6. "World Health Organization (WHO) Diagnostic Criteria for Primary Myelofibrosis (PMF), Polycythemia Vera (PV), and Essential Thrombocythemia (ET)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MPN Connect. (30 มิถุนายน 2563).