คลอไรด์ในเลือดต่ำ (Hypochloremia)

ขณะที่ร่างกายมีกลไกควบคุมระดับโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และไบคาร์บอเนตในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ คลอไรด์ในเลือด (แม้จะมีระดับปกติคือ 96-106 mEq/L) กลับเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเกินค่าปกติได้เพื่อปรับสมดุลของเกลือแร่ตัวอื่น ๆ เมื่อเกลือแร่ตัวอื่นเข้าสู่ระดับปกติแล้ว คลอไรด์จึงจะกลับเข้าสู่ค่าปกติในภายหลัง ดังนั้น ระดับคลอไรด์ที่ผิดปกติจึงเป็นตัวบอกถึงภาวะผิดปกติที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งต้องหาให้ได้และแก้ที่เหตุนั้นก่อน มิใช่แก้ที่คลอไรด์สูงหรือต่ำ

หากโซเดียม (Na+) เป็นราชา คลอไรด์ (Cl-) ก็จะเป็นราชินีแห่งอิออนในเลือด เพราะมีปริมาณสูงสุด และทั้งคู่จะเคลื่อนตัวไปด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นในภาวะที่ร่างกายเสียสมดุลเกลือแร่หรือกรด-ด่างดังกล่าวข้างต้น) นอกจากหน้าที่ควบคุมสมมูลประจุและสมดุลกรด-ด่างในเลือดแล้ว คลอไรด์ยังมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนตัวของสารสื่อประสาท GABA, ควบคุมสมดุลกรด-ด่างในเม็ดเลือดแดงขณะที่นำพาคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปฟอกที่ปอด (โดย chloride-bicarbonate exchanger ที่ผิวของเม็ดเลือดแดง*), เป็นองค์ประกอบของกรดในกระเพาะ (HCl) ซึ่งช่วยดูดซึมวิตามินบี 12, และยังเป็นปัจจัยร่วมในขบวนการเผาผลาญอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย

* ในภาวะที่คาร์บอนไดออกไซด์คั่ง (Respiratory acidosis) เม็ดเลือดแดงจะเก็บไบคาร์บอเนตไว้และขับคลอไรด์ออกนอกเซลล์ ในภาวะที่เราหายใจเร็วจนคาร์บอนไดออกไซด์เหลือน้อย (Respiratory alkalosis) เม็ดเลือดแดงจะขับไบคาร์บอเนตหรือด่างออกไปแลกกับการดึงคลอไรด์เข้าเซลล์

สาเหตุของคลอไรด์ในเลือดต่ำ

** คลอไรด์ในเลือดอาจต่ำได้ชั่วคราวหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ

สาเหตุของภาวะคลอไรด์ในเลือดต่ำแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่กรด-ด่างปกติ กับกลุ่มที่กรด-ด่างผิดปกติ

  1. กลุ่มที่กรด-ด่างปกติ อาจมีคลอไรด์ต่ำจาก
    • ได้รับน้ำมากเกินไป ทั้งจากการรับประทานอาหาร และการให้น้ำเกลือที่มีโซเดียมน้อย
    • กลุ่มอาการ SIADH (Syndrome of inappropriate secretion of antidiuretic hormone)
    • เสียเกลือแร่ออกจากทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนมาก ท้องร่วง
    • เสียเกลือแร่ออกทางไต เช่น ภาวะ salt-losing nephritis, ได้รับยาขับปัสสาวะ
    • เสียเกลือแร่ออกทางผิวหนัง เช่น แผลไฟไหม้
    • โรคต่อมหมวกไตไม่ทำงาน (Addison disease)
    • ใช้ยา Aldosterone, Bicarbonates, Corticosteroids, และยาขับปัสสาวะ
    • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)
    • ภาวะ Hyperaldosteronism
  2. กลุ่มที่กรด-ด่างผิดปกติ อาจมีคลอไรด์ต่ำจาก

แนวทางการตรวจรักษา

ภาวะคลอไรด์ในเลือดผิดปกติมักมาคู่กับความผิดปกติของเกลือแร่ตัวอื่น หรือความผิดปกติของกรด-ด่างในเลือด เพราะคลอไรด์เป็นตัวปรับสมดุลของแร่ธาตุอื่น ๆ โดยตัวมันเองภาวะคลอไรด์ในเลือดสูงแทบไม่ทำให้เกิดอาการอะไร อาการที่เกิดขึ้นก็เป็นอาการของสาเหตุตั้งต้น การวินิจฉัยจึงอาศัยประวัติและผลตรวจเกลือแร่ทั้งหมดในเลือด ในรายที่สงสัยภาวะ Respiratory acidosis เรื้อรัง อาจต้องตรวจระดับก๊าซในเลือดแดงด้วย

ส่วนการรักษาขึ้นกับแต่ละสาเหตุ ไม่มีการแก้คลอไรด์ที่ผิดปกติอย่างเดียว เพราะเป็นการฝืนการชดเชยของธรรมชาติ

บรรณานุกรม

  1. "Serum chloride." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (9 มีนาคม 2564).
  2. Anna E. Merrill, et al. 2020. "Chloride regulation in blood." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Contemporary Practice in Clinical Chemistry (4th Ed.). (9 มีนาคม 2564).
  3. "Lab Test: Chloride (Serum) Level." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Evidence-based Medicine Consult. (9 มีนาคม 2564).
  4. "Hypochloremia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Med India. (14 มีนาคม 2564).