ต่อมน้ำเหลืองโต (Lymphadenopathy)
ระบบน้ำเหลืองประกอบด้วยแขนงของหลอดน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง หลอดน้ำเหลืองจะทอดคู่ขนานไปกับหลอดเลือดของร่างกาย มีหน้าที่ลำเลียงน้ำที่รั่วออกนอกเซลล์และอาหารจำพวกไขมันที่ดูดซึมจากทางเดินอาหารกลับเข้าหัวใจ ส่วนต่อมน้ำเหลืองที่วางเรียงรายตามแนวของหลอดน้ำเหลือง ทำหน้าที่เป็นด่านกรองเชื้อโรคและเศษขยะออกจากน้ำเหลือง โดยมีต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ 3 ต่อม คือ ต่อมทอนซิล ม้าม และต่อมไทมัส คอยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายด้วย
ต่อมน้ำเหลืองขนาดเล็กบางส่วนจะอยู่ตื้นจนเราอาจคลำได้ถ้ามีการติดเชื้อในบริเวณนั้น การพบต่อมน้ำเหลืองโตส่วนใหญ่จะพบบริเวณคอ ขาหนีบ และที่รักแร้ โดยทั่วไปถ้าคลำได้ขนาดเล็กกว่า 1 cm, มีจำนวนน้อยกว่า 3 ก้อน ไม่ติดกัน บีบได้ไม่แข็ง และไม่เจ็บไม่ปวด ถือว่ายังไม่อันตราย ให้คอยคลำดูอีก 3-5 วัน ถ้าก้อนยุบลงไปเรื่อย ๆ จนคลำไม่ได้อีกก็แสดงว่ามันได้ช่วยกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกายได้สำเร็จแล้ว หากเกิน 1 สัปดาห์ไปยังคลำต่อมน้ำเหลืองได้อยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
สาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโต
สาเหตุหลักมีเพียง 2 อย่าง คือ การติดเชื้อ และมะเร็งระยะแพร่ โดยทั่วไปประวัติการเจ็บป่วยก่อนหน้านี้ก็พอจะช่วยบอกได้ว่าต่อมน้ำเหลืองที่โตนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมักมาจากการเป็นหวัด ทอนซิลอักเสบ การติดเชื้อหลังโกนหนวด วัณโรค การติดเชื้อในหู คอ จมูก
- ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าโตมักพบในคนสูงอายุ มักเกิดจากมะเร็งแพร่กระจาย
- ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โตมักมาจากการโกนขนรักแร้ การมีฝีหรือสิวบริเวณนั้น
- ต่อมน้ำเหลืองที่ศอกด้านในโตพบได้น้อย มักเกิดจากการฉีดยาเข้าเส้นที่ไม่สะอาด ทำให้หลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลืองที่แขนอักเสบหรือติดเชื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตมักมาจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การโกนขน ความอับชื้นในบริเวณนั้น
- ต่อมน้ำเหลืองที่หลังเข่าโตพบน้อยมาก มักเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหรือระบบน้ำเหลืองของขาข้างนั้น
หากไม่มีประวัติดังกล่าวเลยก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองนั้นไปตรวจทางพยาธิวิทยา แต่มีการศึกษาพบว่า ถ้าขนาดของต่อมน้ำเหลือง < 1x1 cm โอกาสเป็นมะเร็งมี 0%, ถ้าขนาดของต่อมน้ำเหลือง > 1x1 cm โอกาสเป็นมะเร็งมี 8%, ถ้าขนาดของต่อมน้ำเหลือง > 1.5x1.5 cm โอกาสเป็นมะเร็งมีเกือบ 38%
นอกจากนั้นยังพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่โตเฉพาะที่มีโอกาสเป็นมะเร็งเพียง 0.4% ถ้าอายุ < 40 ปี, และโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 4% ถ้าอายุ > 40 ปี ยกเว้นที่บริเวณเหนือไหปลาร้า โอกาสเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งทางเดินอาหารมีประมาณ 25% ถ้าอายุ < 40 ปี, และโอกาสเป็นมะเร็งถึง 90% ถ้าอายุ > 40 ปี
ต่อมน้ำเหลืองที่ศอกด้านใน (epitrochlear), ที่หลังเข่า (popliteal), และต่อมน้ำเหลืองได้โตหลายแห่งพร้อมกัน มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อที่กินหลายอวัยวะ หรือเป็นมะเร็งของระบบเลือดหรือต่อมน้ำเหลืองโดยตรง
แนวทางการตรวจรักษา
เนื่องจากสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโตส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดเชื้อ แพทย์ส่วนใหญ่จึงมองหาโรคติดเชื้อเป็นหลักก่อน ประวัติการเจ็บป่วยที่เพิ่งผ่านมามีความสำคัญและควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เช่น มีไข้ ออกผื่น น้ำหนักลด การโกนขน โดนแมลงกัด มีตุ่มหนอง หรือโดนอะไรเกี่ยว/บาด/ทิ่มแทงเล็กน้อย การให้นมบุตร โรคประจำตัว ประวัติการเดินทาง การเข้าไปอยู่ในที่ชุมชน การสัมผัสกับสัตว์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่สงสัยว่าอาจจะติดกามโรค
สิ่งแรกที่ต้องส่งตรวจเมื่อสงสัยโรคติดเชื้อคือการตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) จากนั้นแพทย์จะตรวจหาอวัยวะที่ติดเชื้อรอบต่อมน้ำเหลืองที่โตเฉพาะแห่ง หากมีต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งพร้อมกัน แพทย์อาจส่งตรวจหาโรคติดเชื้อที่เป็นกับหลายระบบ เช่น วัณโรค,
Infectious mononucleosis,
ไวรัสตับอักเสบ,
โรคไลม์,
โรคแมวข่วน,
โรคฝีมะม่วง,
ไวรัส CMV,
โรค Toxoplasmosis,
โรคซิฟิลิส,
โรคเอดส์ เป็นต้น
ระหว่างที่รอผลตรวจโรคติดเชื้อต่าง ๆ แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียไปก่อน พบว่าผู้ป่วยมากกว่าครึ่งตอบสนองดีกับยาปฏิชีวนะ ก้อนยุบลง ถ้าหยุดยาปฏิชีวนะแล้วไม่มีก้อนขึ้นมาอีกภายใน 1 สัปดาห์ก็แสดงว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป
ผู้ที่มีต่อมน้ำเหลืองโตนานเกิน 3 สัปดาห์และผลการตรวจเลือดไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้สมควรให้แพทย์ทำการตัดต่อมน้ำเหลืองมาตรวจ
การตัดต่อมน้ำเหลืองมาตรวจสามารถทำได้เลยถ้าอาการทางคลินิกสงสัยมะเร็งมากกว่าตามสถิติข้างต้น คือ ขนาดของต่อมน้ำเหลือง > 1.5x1.5 cm หรือ เป็นต่อมเหนือไหปลาร้าในผู้ที่อายุ > 40 ปี หากผลพยาธิวิทยาเป็นมะเร็งต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอกและช่องท้องเพื่อประเมินระยะของโรคมะเร็งต่อไป
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กนอกจากจะมีต่อมน้ำเหลืองโต ซีด มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ แล้ว ผลตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) อาจมีตัวอ่อนออกมาให้เห็นได้ หากยังไม่มีแต่ลักษณะของ CBC ผิดปกติ ควรตรวจไขกระดูกก่อนการตัดต่อมน้ำเหลือง
บรรณานุกรม
- "Lymphadenopathy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (26 พฤศจิกายน 2561).
- "Lymphadenopathy Clinical Presentation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (26 พฤศจิกายน 2561).
- Nacy Vander Velde and Cherian Verghese. 2017. "Lymphadenopathy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hospital Medicine. (26 พฤศจิกายน 2561).